วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2561

ชักร้อนแล้วละพรรคเลือดใหม่ ปิยบุตร-ธนาธร ยัน "มันคุ้ม"


ชักร้อนแล้วละพรรคเลือดใหม่ หรือพรรคการเมืองทางเลือก ปลายมีนานี้คงระอุได้ที่ ทั้งปิยบุตรและธนาธรช่วยกันยัน รังสิมันต์แย้ม ตามด้วย ดร.พิชิตช่วยยัด แล้วยังหมอเลี๊ยบย้ำแถมอีกคน

ขออนุญาตข้ามพรรค เห็นแก่ตัวและพรรค เกรียนไปก่อนนะ รู้ละว่าเขาซีเรียสกันทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นกริช ตรรกบุตร ฝ่ายนั่งร้านบิ๊กตู้ หรือหนูหริ่ง ลายจุด ฝ่าย หาแต่เรื่อง นโยบาย
 
หลังจากที่ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าเอาแน่ จะลาออกจากงานสอนกฎหมายซ้ำซากจำเจที่ธรรมศาสตร์ มาตั้งพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไพร่หมื่นล้านแน่ๆ

แม้จะเสี่ยง แต่เขาคิดว่า “มันคุ้ม...มันเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ทำตอนนี้ โอกาสนี้อาจจะหลุดมือไป”


แล้วยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมของแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ “การสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่” ทางหน้าเฟชบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul ด้วยว่า

หนึ่ง ท่อน้ำเลี้ยงมาจากการบริจาคแบบ Crowd-funding’ หรือกู้ยืมโดยปราศจากดอกเบี้ย จากคนที่สนับสนุนแนวทางนี้ บวกทุนสมทบจากสมาชิกพรรค และเงินอุดหนุนจากคณะกรรมการเลือกตั้ง

สอง ลักษณะของพรรคเป็นประชาธิปไตยทุกระดับ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าแบบ ก้าวหน้า คือกระจายภารกิจให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่รวมศูนย์ สนับสนุนบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ยึดระบบอาวุโส ไม่เอาวิธีการ วัวงาน ที่เด็กเป็นผู้รับใช้ผู้ใหญ่

สาม เป็นพรรคแบบวิชาการ มีหน่วยงานสุมหัวทางความคิดอ่าน หรือ ‘Think-tank’ มีมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ของพรรคเอง เปิดให้นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมเรียนเขียนอ่านระหว่างปิดภาคเรียนปกติ ทั้งมีการตีพิมพ์วารสารเพื่อการเผยแพร่แนวคิดและนโยบายของพรรคด้วย

นอกนั้นอีก ๕ ข้อเป็นประเด็นสัพเพเหระ ได้แก่มีความทันสมัย มีปฏิภาคสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เปิดกว้างรับผู้คนหลากหลายเพศ วัย และอาชีพ

รวมทั้งตั้งมั่นปณิธานระยะยาว เมื่อชนะเลือกตั้งก็หาคนใหม่มาบริหารพรรคต่อเนื่อง เมื่อแพ้ก็ยังทำงานกันต่อไปให้หนักขึ้น ประมาณว่าตื๊ออย่างมุ่งมั่นและหนักแน่นจึงจะอยู่ได้นาน


ทางด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มี อัพเดทในส่วนของเขา ในการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่อุทธยานการเรียนรู้ ทีเคพ้าร์ค เมื่อบ่ายวานนี้ (๓ มีนาคม) หลายประเด็น

ต่อคำถามว่าไหวเหรอ เขาบอกว่าแม้การทำงานทางการเมืองก็หนักอยู่แล้ว ถ้าจะทำพรรคการเมืองก็จะไม่เป็นพรรคที่เป็น เฉพาะกิจ...อะไรที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจะไม่ทำ “ไม่มีอะไรที่น้อยกว่านั้น”

ส่วนเรื่องนโยบาย เขาหัวเราะและตอบว่าตอนนี้ คสช. เขาห้ามพูดนโยบายไม่ใช่หรือ (ดังที่ทั่นรองฯ วิษณุ เครืองาม แจ้งไว้ว่าถ้าจะประกาศหนุนลุงตูบเป็นนายกฯ อย่างที่มีหลายกลุ่มแถลงกันโจ่งแจ้งแล้ว ทำได้

นอกนั้นยัง “ตอบไม่ถูก ว่าพรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ให้ถือหลักว่าถ้าจะทำอะไร ให้แจ้ง คสช.ไว้ก่อน” http://www.komchadluek.net/news/politic/315144)

แต่เขาก็ตอบชัดแจ้งเกี่ยวกับประเด็น คนรุ่นใหม่ ว่าไม่ใช่เรื่องตัวเลขอายุ แต่หมายถึง “คนที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นอีกต่อไป คนที่ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ คนที่ยังเชื่อว่าพลังของตัวเองยังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีได้”

อีกทั้งเขายืนยันว่ารู้จักกับอาจารย์ปิยบุตรมาหลายปี ฉะนั้นเชื่อแน่ได้ว่าพรรคคนรุ่นใหม่แบบ ก้าวหน้า นี้เกิดแน่ จึงคงจะต้องรอความชัดเจนต่อไปในตอนปลายเดือนมีนาคมนี้แหละ “และในทางปฏิบัติถ้าเราไม่นำเสนอในสิ่งที่ก้าวหน้า ก็ไม่รู้จำทำไปทำไม”

 
ส่วน รังสิมันต์ โรม ดาวรุ่งดวงหนึ่งในหมู่คนรุ่นใหม่นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ออกตัวสนับสนุนการตั้งพรรคการเมืองของ ปิยบุตร-ธนาธร อย่างเต็มที่ ไม่เพียงเพราะที่ ดร.ปิยบุตรอ้างถึงเขาในการให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเท่านั้น

ในบรรดานักวิชาการที่ตัวเองให้ความเคารพนับถือมากที่สุด ก็คืออาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร) ซึ่งท่านให้คำปรึกษาแล้วก็ไปเยี่ยมผมที่เรือนจำทุกครั้งที่โดนคดี...ผมขอสนับสนุนอย่างเต็มที่”


มิใยที่ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จะออกโรงค้านแนวคิดในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่าง ยุทธศาสตร์ว่าวิธีการ ไม่เลือกเรา เขามาแน่แบบประชาธิปัตย์นั้น

“การเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องให้มวลชนควบคุมพรรค ไม่ใช่ให้พรรคเอาความกลัวความเกลียดเป็นเครื่องมือต้อนมวลชนเข้าคอก เอามวลชนเป็นตัวประกัน” นั่นจะกลายเป็น แก้ไขไม่แก้แค้น เวอร์ชั่น ๔.๐ อันทำให้ “เผด็จการแฝงเร้นยังอิ่มหมีพีมัน พี่น้องเราถูกไล่ล่า โดนคดี ติดคุกตะรางกันต่อไป”

นักเศรษฐศาสตร์จาก มธ. ท่านนี้ยังชี้ว่า “มันยากนักที่จะมีพรรคแบบนี้ในบริบทของการเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องยอมแพ้ งอมืองอเท้า”


จึงเห็นได้ว่า ประเด็นละล้าละลังของทางฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งหน้า (ถ้าจะมี) นี้เกี่ยวกับ การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ หรือที่ หมอเลี๊ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ให้อัตถาธิบายว่าเป็น กลยุทธ์แบบ ‘SV’ (Strategic Voting)
 
ที่ “ใช้ได้ทั้งในยุทธศาสตร์สร้างความหวัง (Hope) เช่น 'เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า' และยุทธศาสตร์สร้างความกลัว (Fear) เช่น 'ไม่เลือกเรา เขามาแน่' แต่การสร้างความกลัว เชื่อกันว่าได้ผลมากกว่า”

หมอเลี๊ยบอ้างผลการวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการใคร่ครวญลงคะแนนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ “จะเลือกผู้สมัครที่ตนชอบมากที่สุด ซึ่งอยู่ลำดับที่สาม หรือยอมตัดใจเลือกผู้สมัครที่ตนชอบน้อยกว่า เพื่อสกัดกั้นผู้สมัครที่ตนไม่ชอบเลย”

นั้นมีเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ “สรุปว่า กลยุทธ์ SV ไม่ได้มีอิทธิพลมากอย่างที่เราเข้าใจกัน ปัญหาอยู่ที่จะมีการเลือกตั้งอย่าง ‘timing’ หรือตรงต่อเวลาหรือไม่

“ดังนั้น มาช่วยกันคิดก่อนดีกว่า ว่าทำอย่างไรการเลือกตั้งจึงจะมาถึงในเร็ววัน” หมอเลี๊ยบแนะ