เส้นทาง “ยักยอก” เงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต
ที่มา Work point news
23 มีนาคม 2018
ประเด็นคือ – รอบสัปดาห์ทีผ่านมา เป็นเรื่องใหญ่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องออกมายอมรับว่า มีการทุจริตเงินที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กหญิงที่อยู่ในสภาพยากลำบากต่อการศึกษาของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต หลังยอมรับว่า มีข้าราชการ 1 ราย ยักยอกเงินกองทุนนี้มานานกว่า 10 ปี รวมมูลค่า เกือบ 88 ล้านบาท
กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เริ่มก่อตั้ง เมื่อปี 2542 ในสมัยรัฐบาลนายชวน มีจุดประสงค์ดึงเด็กหญิงในภาคเหนือที่ยากจน เสี่ยงต่อการล่อลวงไปค้าประเวณี ให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อระดับวิชาชีพ หรือ กลุ่มเด็กตกเขียว
เริ่มต้นกองทุน รัฐบาลนำงบประมาณ 600 ล้าน จากกองสลากมาเป็นเงินตั้งต้น โดยฝากประจำในบัญชีธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ปัจจุบันฝากอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย สาขา ศธ. แล้วใช้เงินดอกผลจากกองทุนมาแจกจ่ายให้เด็กที่ผ่านคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจากภาคเหนือและอีสาน แต่ละปีจะมีเงินสมทบจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินและเงินบริจาค โดยการบริหารกองทุนมีคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานทำการพิจารณาและอนุมัติจัดสรรทุนให้กับนักเรียน
กว่า 19 ปี ในการจัดสรรงบ “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” ให้เด็กหญิงยากไร้ เพื่อให้พวกเขามีทิศทางอนาคตด้วยการศึกษา กลับมีข่าวยักยอกเงินกองทุนจากข้าราชการระดับสูง นำมาสู่การแถลงข่าวของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
กระทรวงศึกษาธิการ (ภาพจากเฟซบุ๊ก ศธ.)
ข้อมูลจากแหล่งข่าวลับภายในกระทรวงศึกษาธิการ บอกกับคุณพรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ทำการตรวจสอบเมื่อปี 2553 พบข้อสงสัยถึงการบริหารกองทุน ขณะนั้นกองทุนใช้วิธีเงินรับฝากระยะสั้น ไม่มีการแยกบัญชีชัดเจน จึงได้ทำบันทึกทักท้วงเพื่อให้คณะกรรมการฯ แยกบัญชีรายรับรายจ่ายเงินกองทุนให้ชัดเจน โดย สตง. ทำหนังสือทักท้วงในเรื่องนี้ทุกปี (ตั้งแต่ปี 2553-2556) แต่ทุกครั้งได้รับการชี้แจงจากกระทรวงศึกษาธิการว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการ”
จนกระทั่งปี 2557 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้จัดทำงบแยกบัญชี พบว่า การแจกจ่ายงบกองทุนไปสู่เด็กยากไร้ในโครงการ ใช้วิธี “Direct credit” หรือ การจ่ายเงินผ่านเลขบัญชีโดยตรง ไม่แสดงชื่อเจ้าของบัญชี เป็นระบบจ่ายเงินเดือนของราชการ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเลขที่บัญชีนั้นเป็นของใคร และที่ผ่านมาตลอด 19 ปี ไม่มีการสุ่มตรวจสอบบัญชี เพราะด้วยไม่มีเรื่องร้องเรียน ทำให้ สตง. ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการตรวจสอบ ทำได้เพียงเฝ้าระวังและสุ่มตรวจ
ต่อมา วันที่ 5 มีนาคม 2561 สตง. พบความผิดปกติในการโอนเงินงบประมาณปี 2559 เข้าบัญชีรายหนึ่งที่ไม่น่าจะใช่ผู้รับทุน โดยได้ตรวจสอบด้วยระบบ KTB ออนไลน์ พบบัญชีผิดปกติ 8 ราย สตง. ได้ทำหนังสือให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบความผิดปกตินี้ ในวันที่ 7 มีนาคม 2561 ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม 2561 ทางกระทรวงฯ จัดแถลงข่าว นำมาสู่การขยายผล พบบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องในการยักยอกเงินกองทุน ถึง 22 บัญชี ขณะที่การตรวจสอบ สตง. ระบุว่า ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะขยายผลต่อไป ซึ่งอาจจะพบบัญชีที่แทรกแซงมากกว่านี้
ทั้งนี้จะใช้เวลาตรวจสอบ 180 วัน ส่วนการใช้วิธี “Direct credit” เป็นเจตนาแฝงเพื่อยักยอกเงินหรือไม่นั้น เพราะในกองทุนอื่น ใช้วีธีเขียนเช็กแสดงรายชื่อผู้รับทุนชัดเจน ทาง สตง. ขอเวลาในการสืบสวนและตรวจสอบ ส่วนตอนนี้ยังไม่ยืนยัน หากพบว่า มีขบวนการสมรู้ร่วมคิดใช้วิธี “Direct credit” จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขั้นต่อไป
การตรวจสอบเริ่มก้าวเดิน เมื่อบอร์ด ป.ป.ท. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดคดีอาญา กรณีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินและบัญชีทรัพย์สินนำมาสู่การยึดทรัพย์ต่อไป โดยจุดเริ่มต้น “ยักยอก” กองทุนเสมา เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
จากตารางด้านบน จะเห็นแผนผังของเส้นทางการบริหารจัดการกองทุนที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มีนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับซี 8 เป็นผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ทำหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม, จัดทำบัญชีและเอกสารเด็กที่ผ่านการคัดกรองจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เสนอเอกสารเพื่อขออนุมัติทุน ก่อนส่งต่อฝ่ายโอนเงินผ่านระบบ Direct credit ซึ่งในขั้นตอนนี้ นางรจนาได้นำบัญชีของญาติพี่น้อง ครอบครัวตน และสามี แทรกแซงแทนบัญชีเด็กที่ควรได้รับทุน ทำให้เงินกองทุนเข้าบัญชีเครือญาติ ก่อนให้เครือญาติโอนส่งกลับให้ตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นเงินที่นำไปลงทุนค่าเงินและธุรกิจ
ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลัง พบบัญชีที่ไม่ใช่ผู้รับทุนเข้ามาแทรกแซง ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีการโอนเงินกองทุนไป 87,993,372 บาท จากเงินกองทุนที่จัดสรรให้ 176,034,510 บาท โดยในปี 2561 นางรจนาแจ้งระบบโอนเงินกองทุนทั้งหมด 3,025,000 บาท เข้าบัญชีเครือญาติตนเอง
เบื้องต้น พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยผลการสอบสวนว่า นางรจนาให้การสารภาพว่าตนเป็นผู้กระทำเพียงคนเดียว แต่ ป.ป.ท. ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากระยะเวลาในการยักยอกและมูลค่าเงินสูงเกือบ 100 ล้านบาท หากดูจากพฤติการณ์แล้ว ไม่น่าจะทำได้คนเดียว ทั้งนี้ จะต้องดูถ้อยแถลงและเอกสารเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำผิดร่วม เบื้องต้นได้ตั้งข้อกล่าวหานางรจนา ในข้อหากระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต, ปลอมเอกสาร และรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ รวมถึงข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีชอบ หรือโดยทุจริต
ที่ไหนมีผลประโยชน์ ที่นั้นมีโกง คำนี้ ใช้ได้จริง เมื่อข้าราชการระดับสูงยักยอกหรือเบียดบังเงินเด็กผู้ยากไร้ที่ต้องการศึกษามาปลดปล่อยความทุกข์ยากจากความจน ต้องจนซ้ำ และทุกข์ยากต่อไป เพราะความไม่พอของคนบางประเภท เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อกระทรวงสาธารณสุข ยอมเปิดเผยจำนวนนักเรียนพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ปีการศึกษา 2555-2560 ที่รับทุนเสมา 254 คน ไม่ได้รับทุนและค้างจ่าย 198 คน มีเด็กได้รับทุนครบเพียง 56 คน ทำให้ครอบครัวเด็กบางคนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต้องกู้หนี้นอกระบบมาเล่าเรียน ทำให้สถานการณ์ครอบครัวยากลำบากมากกว่าเดิม และเด็กบางคนต้องหลุดระบบการศึกษาไป ทิ้งความฝันเพราะไม่ได้รับทุน
ไม่เพียงเด็กนักเรียนในวิทยาลัยพยาบาล ยังมีโรงเรียนอีก 3 กลุ่ม ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับผลกระทบจากการยักยอก “กองทุนเสมา” นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม, ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดพะเยา ผู้ริเริ่มกองทุนพ่อแม่อุปถัมภ์ จ.พะเยา ในปี 2536 หลังประสบความสำเร็จแก้ปัญหาเด็กตกเขียว ด้วยกอดเด็กไว้ในโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นหางบประมาณในภาคเอกชน จัดสรรให้เด็กปีละ 1,000 บาท ในชั้น ม.1-ม.3 โครงการประสบความสำเร็จแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และเพิ่มเด็กในระบบการศึกษาได้ครอบคลุมเด็กทั้งหมดในปี 2540 ความสำเร็จในโมเดลจังหวัดพะเยา นำเสนอรูปแบบเป็นผู้ผลักดันให้กระทรวงศึกษาจัดตั้งกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตในปี2542
ต่อมา ตนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จึงไม่ได้เข้าสภาทำงานด้านการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ด้วยความคิดว่า “เงินกองทุนช่วยเด็กยากจน ไม่น่าจะมีคนโกง” เมื่อข่าวโกงกองทุนเสมาแพร่สะพัดทำให้ตนตกใจ และโทรศัพท์ติดต่อผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา พบว่าทางครูได้ติดต่อขอทุนจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้รับการตอบกลับในลักษณะว่า “กองทุนเสมาได้ปิดไป”