วันอาทิตย์, มีนาคม 18, 2561

'คราวนี้น่าจะ' ออกเสียงแบบยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าขจัดอำนาจอิทธิพลทหาร


“ส่วนตัวยอมรับว่ามีการคนไปเรียกทหารเข้ามารัฐประหารในปี ๒๕๕๗ จริงๆ แต่ตนก็ไม่ได้เห็นด้วย ทั้งพยายามเคยเตือนรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่ามีเสียงข้างมากไม่ยอมมาตกลงกันเพื่อหาทางออก”

อภิสิทธิ เวชชาชีวะ พูดอภิปรายในการสัมมนา พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย...จริงหรือเมื่อ ๑๗ มีนา เป็นที่ฮือฮาต่อการที่เขาโต้กลับ ใบตองแห้งเมื่อถูกพาดพิง “ปิดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน ขัดขวางเลือกตั้ง ปิดสถานที่ราชการ ปิดเมือง จะยอมรับผิดป่ะ เห็นออกมาพูดแต่ไม่มีใครยอมรับผิดสักคน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โต้กลับทันที อย่างน้อยก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่หนีไปอยู่ต่างประเทศนะครับ จะว่า เจ๋งก็ได้ที่ไม่หนีแล้วรอดทุกเปลาะ คดีผู้ชุมนุมตายด้วยน้ำมือทหาร ๙๙ ศพนี่นะ

มิใยอธึกกิต แสวงสุข ตีกลับ “รากเหง้าของปัญหาคือความไม่เท่ากัน กลุ่มหนึ่งเชื่อในหลักประชาธิปไตย อีกกลุ่มไม่เชื่อในหลักประชาธิปไตย และความยุติธรรมสองมาตรฐาน” แต่ม้าร์คไม่ย่อ ย้อนกลับ

ไม่ใช่เรื่องฝ่ายแพ้ไปปิดสนาม แต่เป็นเรื่องการแสดงออกไม่ยอมรับนิรโทษกรรม ความเสื่อมศรัทธาเกิดขึ้น ถ้าเลือกตั้งจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายมีส่วนผิดทั้งหมด...

ทุกคนมีส่วนจากกระบวนการที่สั่งสมมา ถ้าไม่อยากให้เกิดอีกต้องถามแต่ละฝ่าย จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ปัญหาก็จะไม่มี”


นั่นละ ถามอภิสิทธิ์ก่อน ถ้าไม่เห็นด้วยกับคนที่ไปเรียกทหารแล้วไปร่วมกับเขาเป่านกหวีด สร้างสถานการณ์ให้ทหารเข้ามา หมายความว่าอย่างไร

และ “มีกรณีเดียวที่พรรคพลังประชาชนแพ้เสียงในสภาที่ให้ผมเป็นนายกฯ แล้วมีม็อบทันที ออกจากสภาเอาน้ำกรด อิฐมาปา เพราะมวลชนไม่รู้สึกเป็นธรรม” ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคข้างน้อยแต่แอบไปตั้งรัฐบาลกับทหารใน ราบ.๑๑ ไม่ใช่หรือ

ราบ ๑๑ นี่แหละที่เสรีพิศุทธ์บอกว่าถ้ามีอำนาจจะย้ายออกต่างจังหวัด เปิดพื้นที่ให้เอกชนเช่า เอาเงินมาสร้างสวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล อันเป็นข้อเสนอของพรรคการเมืองพรรคเดียวในเวลานี้ ที่ Thanapol Eawsakul ชี้ว่าเป็น “ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ที่เป็นรูปธรรมที่สุด”
 
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. พูดถึง ราบ ๑๑ “มีตั้ง ๓ พันไร่ตรงบางเขน อยู่กันอย่างเป็นเทวดา เกษียณแล้วยังไม่ยอมไป ผบ.ทบ.ทุกคนก็ไปอยู่แถวนั้น อยู่บ้านหลวง น้ำหลวง ไฟหลวง ทหารรับใช้ มีครบมีเพียบ”

เป็นเหตุผลย่อยที่หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเสนอให้ย้ายทหารออกนอกกรุงเทพฯ ทั้งหมด “ทหารบกไปอยู่ลพบุรี ทหารเรือไปสัตหีบ ทหารอากาศไปนครสวรรค์ เอาพื้นที่คืนมาให้คนกรุงเทพฯ...

ใครบอกทหารมีความจำเป็นอยู่กรุงเทพฯ...อยู่ในกรุงเทพฯ เกิดรบกันมันกดปุ่มมาจากไหน ตูมลงมาลงกบาลใคร ลงชาวบ้าน จริงเปล่า เดี๋ยวเผลอๆ ลงบ้านคุณ แทนที่จะลงค่ายทหาร (สมมุติมีสงคราม) ดังนั้นเอาออกไปก่อนไม่ดีกว่าเหรอ”

ไอเดียปฏิรูปกองทัพนี่เห็นจะมีแต่เสรีพิศุทธ์ที่กล้าเสนออย่างจริงจังครั้งแรก สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ เสนอปรับปรุงกองทัพให้ จิ๋วแต่แจ๋วก็ไปไม่ถึงไหน คราวนี่เสรีฯ จัดเต็ม “อย่างมีกองบัญชาการทหารสูงสุดไว้ทำไม จะไปรบกับใคร เพราะฉะนั้นมี ๓ เหล่าทัพพอแล้ว...

มีกองทัพ ๔ ภาคแล้ว มีทำไมกองทัพน้อยอีก มี พล.ท. พล.ต. รองแม่ทัพน้อยอีก มีกองกำลังอีกมากมาย มีทำไม จะไปรบกับใคร ในเมื่อบ้านเมืองไม่มีศึกสงครามก็ต้องยุบ”


ยิ่งที่ผ่านมาจะสี่ปี ทหารเข้ามาครองเมืองเต็มๆ มีอะไรดีบ้าง ปรองดองไม่ได้เพราะมีการเข้าข้างเดียว กระบวนยุติธรรมบิดเบี้ยว ปฏิรูปก็ไม่มี มีแต่คอรัปชั่นผุดทั่วทุกหัวระแหง เจ้าหน้าที่ทหาร/ตำรวจเที่ยวก้าวร้าวประชาชนพลเมือง

อย่างล่าสุดอาจารย์ศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ ต้องเขียนจดหมายร้องเรียน “ถุกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามการเรียนการสอน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. เปิดเผยเนื้อหาของจดหมาย ใจความว่า

คณะอักษรศาสตร์จัดโครงการสังคมสนทนา คุยกับผู้ต้องหา คนธรรมดาที่อยากเลือกตั้ง” มีวิทยากรจากผู้ต้องหาคดีสติ๊กเกอร์โหวตโน MBK39 และ RDN50 กว่าสิบคนร่วม โดยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าฟังได้แต่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า

นอกจากก่อนงานหนึ่งวันมีเจ้าหน้าที่เกือบสิบคนไปขอคุยกับหัวหน้าภาควิชาเกี่ยวกับงานนี้ ก่อนเริ่มรายการสองชั่วโมงมีชายวัยกลางคนสองนายเข้าไปนั่งรอในห้องจัดงาน อ้างว่าทำวิทยานิพนธ์และ ขอนั่งตากแอร์ ก่อน พอเริ่มงานมีชายหัวเกรียนอีก ๕-๖ คนจะเข้างานโดยไม่ลงทะเบียน เมื่อนักศึกษาไม่ยอมก็ให้ชื่อมียศพรึ่บกันหมด
ระหว่างรายการคนเหล่านั้นเดินถ่ายภาพและคลิปทั่วบริเวณ บางตอนเข้าไปบอกกับผู้จัดว่าคำพูดของวิทยากร “ไม่เหมาะสม เข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ๓/๒๕๕๘...เขาแจ้งเพิ่มเติมว่าหากจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลวิจัยด้วยวิธีการแบบนี้อีกอาจจะมีปัญหา”

เช่นนี้ ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม “เห็นว่าดิฉันกำลังถูกข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว...ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน”


ฉะนั้น เลือกตั้งคราวนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะเปลี่ยนคอนเซ็ปท์การออกเสียงด้วยยุทธศาสตร์ โดยตั้งเป้าขจัดอำนาจอิทธิพลของทหารออกไปจากการเมืองไทยเป็นปฐม โดยเลือกพรรคใดก็ตามที่แสดงตนแน่ชัดว่าไม่เอาทหาร และไม่มีแนวโน้มที่จะยอมรับ นายกฯ คนนอก

เป้าหมายต่อไปอยู่ที่การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และผลงานที่คณะรัฐประหารไข่ทิ้งไว้กับรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี องค์กรไม่อิงประชาธิปไตย เช่น วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหลาย

หลังจากปลดล็อคพรรคการเมืองแล้ว ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งควรจะซักถามพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะยินดีจำกัดอำนาจครอบคลุมการเมืองของทหารไหม ถ้ายินดีแล้วมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับพรรคใหญ่และเก่าแก่

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลละก็ จะทำการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่ คสช. วางไว้ นายอภิสิทธิ์ควรจะต้องให้รายละเอียดลงลึกอีกครั้งให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรแน่

ในเมื่อ รธน. และ พรป. ของ คสช. วางกับดักไม่ให้พรรคใดได้คะแนนท่วมท้นจนตั้งรัฐบาลด้วยตนเองได้รูปการณ์บ่งชี้ว่า ปชป. จะได้เป็นรัฐบาลเมื่อร่วมมือกับพรรคที่สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ คนนอกเท่านั้น และพรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็งไว้แล้ว

น่าคิดว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยระดมลงคะแนนให้แก่พรรคทางเลือกทั้งหลายเข้าไปร่วมกับพรรคใหญ่ไม่เอาทหาร ได้อย่างเข้มแข็งจริงๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น