วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2561

โจทย์ท้าทายประเทศไทย... เราจะสร้างประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนได้อย่างไร




เก็บความส่วนหนึ่งจาก

101 Round table : อนาคตการเมืองไทยและประชาธิปไตยโลก


อ่านบทความเต็มที่ลิงค์นี้...
https://www.the101.world/thoughts/101-round-table-future-of-thai-politics/

...


...เกิดเป็นโจทย์ท้าทายว่าเราจะสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้อย่างไร


สำหรับเมืองไทย คำตอบของโจทย์ท้าทายนี้คืออะไร





ประจักษ์ : ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมโครงการหนึ่ง ซึ่งศึกษาประเทศที่มีความแตกแยกแบ่งเป็นสองขั้วอย่างลึกซึ้งรุนแรง (deep polarization) โครงการนี้เลือกศึกษาประมาณ 10 ประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ส่วนประเทศอื่นๆ ก็เช่น อเมริกา เวเนซุเอล่า ตุรกี ฮังการี

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยไม่ได้โดดเดี่ยว ในแง่อาการของปัญหา ทีมวิจัยค้นพบแบบแผนบางอย่างที่ประเทศกลุ่มนี้มีเหมือนกัน นั่นคือ จุดเริ่มต้นของ deep polarization เกิดจากการที่มีพลังทางการเมืองหรือนักการเมืองที่เติบโตขึ้นมา และสามารถสร้างชุดนโยบายที่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งรู้สึกว่าตนถูกกีดกันหรือมองข้ามมาโดยตลอด นักการเมืองเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย เช่น ทักษิณ ชินวัตร ของไทย ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอล่า วิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี รวมถึงเออร์โดกัน ของตุรกี ผู้นำเหล่านี้ต่างบอกว่าตนเป็นตัวแทนของคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ชนชั้นนำไม่เคยเห็นหัว

นักการเมืองกลุ่มนี้พุ่งขึ้นมาแบบคลื่นสึนามิและได้รับความนิยมสูงลิ่ว พอขึ้นสู่อำนาจก็สร้างความกลัว กลายเป็นภัยคุกคามของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำเดิมที่เคยควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ พลังมวลชนเสียงข้างมาก นักการเมือง และพรรคการเมือง เข้ามาสั่นคลอนดุลยภาพเดิม เกิดการต่อสู้กัน โดยกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางต่างพยายามสู้ทุกวิถีทาง เพื่อรักษาอำนาจเดิมของตัวเองไว้

ท้ายที่สุด จุดจบของสถานการณ์เป็นไปได้สามแบบ หนึ่ง ถ้าพลังมวลชนและนักการเมืองเข้มแข็ง ก็จะจบแบบตุรกี นั่นคือ ยึดระบอบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งไว้ได้ แม้ทหารจะพยายามทำรัฐประหาร ก็ไม่สำเร็จ สอง ถ้าพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำเดิมเข้มแข็ง ก็จะจบลงด้วยรัฐประหาร ถูกยึดอำนาจกลับไปเป็นแบบเดิม สาม ถ้าพลังของทั้งสองฝ่ายพอๆ กัน ก็จะนำไปสู่อนาธิปไตยภายใต้รูปแบบที่อาจารย์เกษียรบอก ก็คือสู้กันไปสู้กันมา เหมือนชักเย่อ ไม่มีฝ่ายไหนชนะเด็ดขาด

กรณีไทยเข้าข่ายแบบที่สาม?

ประจักษ์ : ไทยเป็นแบบที่สาม ท้ายสุด ทักษิณก็ต้องออกไป ทหารเองขึ้นสู่อำนาจด้วยรัฐประหารปี 2549 แต่ก็ครองอำนาจยาวนานไม่ได้ กลับมาเลือกตั้งก็แพ้เหมือนเดิม เพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าเขาตื่นขึ้นมาแล้ว มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของพวกเขา และก็เลือกพรรคนั้นต่อ หลังจากนั้นก็ซิกแซกกลับไปกลับมา แทรกด้วยความรุนแรงบนท้องถนนและอนาธิปไตยเป็นพักๆ

ข้อสรุปอาจดูหดหู่ เมื่อเริ่มเข้าสู่ความขัดแย้งรูปแบบนี้ สังคมแตกแยกแบ่งเป็นสองขั้วอย่างรุนแรง ท้ายที่สุดก็จะมีพลวัตของตัวมันเอง กระทั่งกลายเป็นพลวัตที่ชนชั้นนำฝั่งไหนก็ควบคุมไม่ได้แล้ว มันหลุดไปจากมือของชนชั้นนำ แค่กลับไปต่อรองกัน แล้วบอกว่าเราจะกลับไปสู่สังคมแบบเดิม กลับสู่วันชื่นคืนสุขแบบเดิม มันเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมวลชนสองฝ่ายต่างมีอารมณ์ร่วมแล้ว มีความบาดเจ็บสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว กระทั่งได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยตัวเองอย่างลึกซึ้งแล้ว

อาจารย์นิธิเรียกภาวะแบบนี้ว่า ‘การเมืองมวลชน’ คือฝ่ายทหารก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ด้านพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคไหน ก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ยาก พอเกิด deep polarization แล้ว ยากที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้ ถ้าไม่ลงเอยด้วยการอยู่กับอำนาจนิยมไปอีกพักใหญ่ ก็จะเป็นอนาธิปไตยสักพักใหญ่ไปเลย หรือถ้าบังเอิญว่าจบแบบประชาธิปไตยยึดอำนาจไว้ได้ ก็จะเป็นประชาธิปไตยไม่เสรีแบบเออร์โดกัน ยิ่งทหารทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ผู้นำการเมืองก็ยิ่งรู้สึกว่ามีภัยคุกคามที่จะล้มอำนาจของเขาจริง จากนั้นก็จะลงมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็จะละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ดี

มีกรณีศึกษาที่ออกจาก deep polarization แล้วกลับไปสู่ประชาธิปไตยเสรีได้สำเร็จบ้างไหม

ประจักษ์ : ยังไม่มี บรรณาธิการโครงการเองก็ยังคิดไม่ออกว่าจะจบอย่างไร เพื่อไม่ให้หดหู่เกินไป (หัวเราะ) deep polarization เป็นเหมือนกับดัก เข้าไปแล้วออกยาก

ชัยวัฒน์ : ผมจะช่วยทำให้หดหู่ขึ้นอีกหน่อยแล้วกัน ฟังเรื่อง deep polarization จากอาจารย์ประจักษ์แล้วทำให้ผมนึกถึงความขัดแย้งประเภทหนึ่งที่เรียกว่า intractable conflict หรือความขัดแย้งยืดเยื้อ ลักษณะเด่นประการหนึ่งก็คือ ถ้าอยู่กับความขัดแย้งยืดเยื้อไปนานๆ สิ่งที่มันสูบไปจากคุณ ก็คือความรู้สึกมีหวัง (sense of hope) ตรงนี้อันตราย มันหล่อเลี้ยงภาวะที่อาจารย์ประจักษ์พูดไปเมื่อครู่ ก็คือการอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะหวังอะไร ไม่รู้จะไปไหนได้ ยิ่งทำให้ยากขึ้น

คุณลองคิดดูว่า ถ้าความขัดแย้งมีอายุยืนยาวไปเรื่อยๆ เด็กเจเนอเรชันใหม่ที่เกิดและโตมาในยุคแบบนี้ จะมีสำนึกอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราชอบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิยมกับเสรีภาพ และมักคิดจากมุมของทฤษฎีการเมืองแบบสมัยก่อน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 แต่วันนี้ sense of freedom ของคนไม่เหมือนเก่า เพราะเรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถสร้างเสรีภาพได้แบบฉับพลันทันที เช่น ถ้าผมอยากหลีกหนีจากสถานการณ์ที่ถูกกดทับข่มเหง ห้ามดูนั่นดูนี่ (จากรัฐ) ผมสามารถหลีกหนีไปได้อย่างรวดเร็วเลย แล้วคุณก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย ผมอยากดูอะไรก็ได้

ดังนั้น อำนาจนิยมในศตวรรษที่ 21 จึงมีโอกาสที่จะมีเสถียรภาพสูงกว่าในสมัยก่อน เพราะมีที่ทางให้คนที่ไม่พอใจสิ่งที่เป็นอยู่หลบหนีได้ทุกที่ทุกเวลา ประกอบกับเรื่องตัวตนในโลกยุคใหม่ที่มีลักษณะอัตตาณัติสูง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับใคร ก็สามารถมีบทบาทผ่านช่องทางใหม่ๆ เหล่านี้ได้ นี่อาจเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ควรต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดว่ามันส่งผลอย่างไร

เกษียร : ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ชัดเจนในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอดสิบปีที่ผ่านมา คือ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ พูดตรงๆ ก็คือความขัดแย้งทางชนชั้นเพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจไม่ลดลง

ถ้าพูดภาษาอาจารย์ชัยวัฒน์ก็คือ เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร การพัฒนาก็คือการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรแบบเดิมโดยคนกลุ่มเดิม ไปใช้ในแบบใหม่โดยคนกลุ่มใหม่ คนที่เคยใช้อยู่เดิม เช่น ชาวบ้านเทพา ก็เดือดร้อน น่าเป็นห่วงมากตรงที่มันไปเชื่อมกับ OBOR (ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง – One Belt, One Road) ของจีน แปลว่ามีคนอีกพันกว่าล้านคนมาร่วมใช้ทรัพยากร ต่อท่อมาดูดทรัพยากรของเราไปใช้ ดังนั้นไม่ใช่แค่คนไทยใช้ทรัพยากรเมืองไทย ค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลก แต่คุณต่อท่อสายตรงกับมหาอำนาจยักษ์ ซึ่งอยู่ใกล้และพร้อมจะดูดทรัพยากรของเราไปใช้

ในภาวะแบบนี้ ไม่ว่ารัฐไทยจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ก็ต้องรับมือกับการต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดมากขึ้น และเพราะเหตุนั้น ผมรู้สึกว่าสักวันหนึ่ง พวกเขาจะร้องขอประชาธิปไตย ไม่ใช่มวลชน แต่เป็นชนชั้นนำ เพราะประชาธิปไตยเป็นวิธีแก้ไขความขัดแย้งทางชนชั้นที่ไม่นองเลือดบนถนน คุณยอมให้มีตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จากชนชั้นต่างๆ เข้ามาอยู่ในเวทีที่มีกฎเกณฑ์กติกา มีแพ้มีชนะ แล้วไปสู้กันที่นั่น

แต่พอคุณทำลายและปิดกั้นประชาธิปไตย ถามว่าสุดท้ายมันจะไประเบิดที่ไหน ก็ไประเบิดตามท้องถนน ไม่ว่าเราจะมองว่าประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายหรือไม่ ในแง่เทคโนโลยีในการจัดการความขัดแย้งทางชนชั้น ตอนนี้ประชาธิปไตยมีความจำเป็นมาก

ถึงจุดหนึ่ง ประชาธิปไตยมันจะมาเอง?

เกษียร : ไม่ใช่ มันไม่ได้มาเอง ทุกวันนี้ คสช. คุมกำเนิดประชาธิปไตยเสียจนกระทั่งสักวันหนึ่งอยากได้มันกลับมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้น กลับไม่มี! ถึงตอนนั้น พวกเขาเองจะถามหาว่าประชาธิปไตยอยู่ไหน เพราะความขัดแย้งทางชนชั้น ถ้าไม่ออกทางประชาธิปไตย มันจะไปออกบนถนน นี่คือสิ่งที่น่ากลัว





ในวงวิชาการ มีคำตอบใหม่ๆ ทางออกใหม่ๆ หรือกระทั่งคำถามใหม่ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันอะไรบ้าง

เกษียร : เท่าที่ฟังจากทั้งอาจารย์ประจักษ์ และอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมคิดว่าเราไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายที่จะต้องมุ่งไป พูดง่ายๆ คือมันไม่ใช่ telos แล้ว แต่เราคิดถึงประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาโดยดึงให้คนทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วม

ในทางกลับกัน ถ้าคุณตัดคนทั้งหลายออกไปไม่ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ปัญหาจำนวนหนึ่งจะยิ่งแก้ได้ยากมาก ตอนนี้เราอยู่ในระเบียบอำนาจที่ไม่เชื่อว่าควรจะมีคนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ใช้วิธีกันคนออก แล้วใช้วิธีการของตัวแบบเดียวกดทับลงไป มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก

ชัยวัฒน์ : คิดต่อจากอาจารย์เกษียร ถ้าเราอยู่ในยุคสมัยของการเมืองแห่งภาพอดีต (politics of nostalgia) คือมีภาพอดีตรูปแบบต่างๆ ต่อสู้ปะทะกันอยู่ เราก็น่าจะคิดต่อไปอีกนิดว่า ตัวภาพอดีตเองส่งผลอย่างไรต่อภูมิทัศน์ทางการเมือง คุณสมบัติของภาพอดีตมีปัญหาอะไร นอกเหนือจากประเด็นที่อาจารย์ประจักษ์พูดไปแล้วว่า วิธีการที่ภาพอดีตในปัจจุบันชนะ มันชนะผ่านวิธีการที่เป็นปัญหามาก และก่อปัญหาไปข้างหน้า

ผมเป็นห่วงเวลาเราคิดเรื่องอดีต แต่ละโมเดลของอดีตเป็นความทรงจำที่ถูกแช่แข็ง แทบไม่ค่อยมีอดีตที่ยืดหยุ่นพอที่จะคิดถึงเรื่องอื่นๆ เมื่อเราเชื่อว่ามันดี เลยไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นี่คือปัญหาของอดีตโดยตัวมันเอง

สรุปแล้วมีสามประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ชนิดของการเมืองแห่งภาพอดีตที่ลักษณะโดยตัวของมันเอง ค่อนข้างแช่แข็งความคิดความอ่าน และโอกาสความเป็นไปได้ต่างๆ สอง กฎเกณฑ์ (rules) ต่างๆ ที่อนุญาตให้เกิดการแข่งขันกันของภาพอดีตแบบต่างๆ ตอนนี้อยู่ในภาวะที่มีความไม่สมดุลเชิงอำนาจสูง สาม พอโฟกัสที่ภาพอดีต สิ่งที่ผมเป็นกังวล อาจเพราะด้วยอายุที่มากขึ้นก็คือ ผมเป็นห่วงอนาคตข้างหน้า เวลาเราบอกว่าคนถูกผลักออกไป ไม่ถูกนับรวมเข้า คนที่เราพูดถึงก็คือคนเจเนอเรชั่นต่อๆ ไปนั่นเอง เช่น การมานั่งวางแผน 20 ปีข้างหน้า มันคือการวางแผนให้ใคร คนรุ่นผมที่จะอายุ 80 ปี หรือคนรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วคนรุ่นหลังเหล่านั้นมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างกับการกำหนดอนาคตตัวเอง

ฉะนั้น การเมืองแห่งอนาคต (politics of future) เกือบไม่มีที่ทางเลยในประเทศนี้ เรามีแต่การเมืองแห่งภาพอดีต มีคนคอยวางแผนให้ ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ ที่คอยบอกให้ไปทางนั้นทางนี้ เป็นวิธีคิดแบบราชการ ซึ่งก่อปัญหาสำหรับอนาคต

อาจารย์เกษียรบอกว่าเราควรคิดถึงประชาธิปไตยในฐานะเครื่องมือที่คนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา…

เกษียร : จริงๆ คำว่า ‘เครื่องมือ’ ก็ฟังดูไม่ดีนัก ต้องพูดว่าเป็นระเบียบอำนาจแบบหนึ่งซึ่งผนวกรวมคนทั้งหลายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหา อันนี้ผมคิดว่าเป็นลักษณะเด่นที่สุดของมัน ปัญหาบางอย่าง ถ้าคุณไม่ใช้วิธีนี้ คุณแก้ไม่ได้

การเมืองไทยที่พร่องประชาธิปไตย ตอนนี้อยู่ตรงไหน แล้วจะไปอย่างไรต่อ

เกษียร : ผมคิดว่าเรากำลังเห็นการผลัดรุ่นของชนชั้นนำ คนที่กุมอำนาจในตอนนี้คือชนชั้นนำที่เป็นผลผลิตของยุคสงครามเย็น แล้วชนชั้นนำรุ่นนี้กำลังจะไป เรากำลังพูดถึงคนรุ่นอายุ 70 ปี 80 ปี 90 ปี คนพวกนี้ถูกฟอร์มโดยสงครามเย็น วิธีคิดในการแก้ปัญหาก็เป็นแบบสงครามเย็น และเชื่อว่าระบอบอำนาจนิยมมีพลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (developmental authoritarianism) กันทั้งชุด

ในความหมายหนึ่ง สิ่งที่ คสช. พยายามทำ ก็คือการแก้ปัญหาการผลัดรุ่นของชนชั้นนำนี่แหละ จะทำอย่างไรให้ระเบียบอำนาจนี้อยู่ยั้งยืนยง และประกันว่าการสืบทอดส่งผ่านอำนาจของชนชั้นนำเป็นไปโดยราบรื่น แต่มันดันไปล็อค ไปแช่แข็งสังคม

ประจักษ์ : ผมสนใจที่อาจารย์เกษียรพูดเรื่องเจเนอเรชั่น ผมคิดว่าผู้นำ คสช. รุ่นนี้ รวมถึงตัวนายกฯ คือรุ่นสุดท้ายที่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ แล้วเป็นรุ่นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคที่ฉันทมติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีกระแสนิยมขึ้นถึงจุดสูงสุด นี่คือสิ่งที่พวกเขาอยากรักษาไว้

ผมคิดว่าในหมู่ชนชั้นนำเขากลัวนะ กลัวว่าคนรุ่นหลังจากนี้จะไม่มีความคิดแบบเดียวกันแล้ว แม้แต่คนในกองทัพเองก็ตาม หลายคนวิเคราะห์ และผมก็เห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ความฝันที่จะมุ่งไปข้างหน้า แต่เป็นพินัยกรรมทางอำนาจที่เขียนขึ้นมาเพื่อล็อคบางอย่างไว้

ดังนั้น เขาอาจไม่ได้คิดถึงคนหมู่มากตั้งแต่ต้นว่าจะพาทุกคนไปด้วยกัน แต่มันเป็นเพียงพินัยกรรมเพื่อรักษาความฝันของคนกลุ่มเล็กๆ ไว้เท่านั้นเอง สิ่งที่น่ากลัวก็คือ เขาเชื่อว่าเขาทำได้ แล้วในท้ายที่สุด ด้วยกำลังอำนาจที่เขามี ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องมายอมรับความฝันนี้ของเขาด้วย...

...

ชวนอ่านบทความเต็ม...
https://www.the101.world/thoughts/101-round-table-future-of-thai-politics/