วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 05, 2560

สุรชาติ บำรุงสุข: คบมหาอำนาจขณะมีจุดอ่อน จะเอาอะไรไปต่อรอง? - Voice TV21





สุรชาติ บำรุงสุข: คบมหาอำนาจขณะมีจุดอ่อน จะเอาอะไรไปต่อรอง?




ศ.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ตั้งคำถามถึงการพบกันระหว่างผู้นำไทยและสหรัฐฯ ว่าการที่ไทยพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทั้งที่ยังมีจุดอ่อนเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะทำให้ไทยได้ "ฟอกตัว" แต่ก็อาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเวทีเจรจา


By กองบรรณาธิการ ข่าวต่างประเทศ
Voice TV2
13 ตุลาคม 2560


ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเยือนสหรัฐฯของผู้นำไทยว่าเป็นโอกาสได้ “ฟอกตัว” แต่สุดท้ายจะเผชิญปัญหาจากการผลักตัวเองลึกเข้าไปในพื้นที่ช่วงชิงของจีนและสหรัฐฯ ขณะที่จุดอ่อนเรื่องขาดความชอบธรรมเพราะมาจากการยึดอำนาจจะยิ่งทำให้ไร้อำนาจต่อรอง

การที่สหรัฐฯเปลี่ยนท่าทีจากในช่วงของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ลดทอนความสัมพันธ์กับไทยหลังการรัฐประหารมาเป็นให้การต้อนรับจนเชิญผู้นำไทยไปเยือนในหนนี้ ศาสตราจารย์สุรชาติกล่าวว่าเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเพราะสหรัฐฯส่งสัญญาณแนวนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาเยือนไทย ในระหว่างที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธก็มีโทรศัพท์จากผู้นำสหรัฐฯถึงผู้นำไทย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาจากสองสาเหตุ ซึ่งศาสตราจารย์สุรชาติระบุว่า สาเหตุแรกเกิดจากผู้บริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯเป็นกลุ่มที่ยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมที่เรียกกันว่า “ประชานิยมปีกขวา” และประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่ากับเรื่องบทบาทสหรัฐฯ และในขณะนี้ประเด็นสำคัญในภูมิภาคคือการต่อต้านเกาหลีเหนือที่สหรัฐฯต้องการพันธมิตรรวมทั้งอยู่ในสภาพช่วงชิงอิทธิพลกับจีน



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว วันที่ 2 ตุลาคม 2560


อีกด้านหนึ่งนั้น ลึกลงไปแล้วกลุ่มผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯเองก็ถกเถียงกันยังไม่มีข้อยุติว่า การใช้นโยบายคว่ำบาตรได้ผลจริงหรือไม่ในการกดดันประเทศที่ยึดอำนาจเพื่อให้หันกลับไปหาประชาธิปไตย ดังเช่นในกรณีของเมียนมา หลังจากที่ทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่อองซาน ซูจี ได้ชัยชนะท่วมท้นในปี 2530 ศาสตราจารย์สุรชาติชี้ว่าในระยะแรกสหรัฐฯมีท่าทีไม่ยอมรับเพราะโดยหลักการแล้วการยึดอำนาจเช่นนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อยู่แล้วในโลกตะวันตก แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการกับไทยรุนแรงเท่ากับที่เคยทำกับเมียนมา เขาชี้ว่าไทยกับสหรัฐฯเป็นพันธมิตรเก่าแก่สายสัมพันธ์ยาวนาน ที่สำคัญโลกภายนอกต่างเชื่อว่าไทยจะกลับสู่การเมืองปกติที่มีระบบตัวแทนภายในเวลาไม่นานนัก เช่นเดียวกันกับการยึดอำนาจรัฐประหารครั้งก่อนๆหน้านั้น

แต่เมื่อคสช.อยู่ในอำนาจยาวนานทำให้สหรัฐฯที่เป็นห่วงการขยายเขตอิทธิพลของจีนต้องทบทวนใหม่ เพราะที่ผ่านมา มาตรการของสหรัฐฯในช่วงแรกมีผลให้ คสช.หันไปหาจีนและติดต่อกันใกล้ชิดขึ้นถึงขั้นไทยซื้อยุทโธปกรณ์จีนทั้งรถถังและเรือดำน้ำ ซึ่งสำหรับไทยเองเรื่องนี้จะมีผลต่อรูปแบบและวิธีปฏิบัติของกองทัพในอนาคต เพราะเดิมกองทัพไทยใช้วิธีคิดและอาวุธจากตะวันตกมาโดยตลอด “ผมเคยพูดเล่นๆว่า วันหนึ่งทหารไทยที่เก่งๆที่เคยได้ทุนไปเรียนเวสต์พอยท์ อาจจะไปจบที่โรงเรียนนายร้อยของจีนแทน”

"ความชอบธรรมของการรัฐประหารของไทยแขวนอยู่ที่ปักกิ่ง"

สำหรับไทย การที่เข้าใกล้จีนมากขึ้นนี้ ศาสตราจารย์สุรชาติกล่าวว่าเกิดจากความจำเป็นเพราะถูกปฏิเสธจากตะวันตกและไม่ใช่จากสหรัฐฯเท่านั้น และการพึ่งพิงอันนี้ทำให้ “ความชอบธรรมของการรัฐประหารของไทยแขวนอยู่ที่ปักกิ่ง” เมื่อเป็นเช่นนั้นในความสัมพันธ์กับจีนนี้ไทยจึงขาดอำนาจต่อรองเท่าที่ควร ในขณะที่สภาวะการช่วงชิงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่เรียกกันว่าเป็นการเมืองในลักษณะภูมิรัฐศาสตร์ มีการปะทะกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ การ “เล่นไพ่จีน” กลับกลายเป็นช่องทางให้จีนเข้ายึดพื้นที่ทางการเมืองระหว่างประเทศจากสหรัฐฯ ผ่านพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯได้ “การทำรัฐประหารหนนี้คือโอกาสทองของจีนในอันที่จะเข้ามามีอิทธิพลในไทย”



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พบกับนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการประชุม BRICS ที่นครเซี่ยเหมิน ประเทศจีน 5 กันยายน 2560


สภาพการณ์เช่นนี้จึงเห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯจะต้องปรับตัว ขณะที่การไปเยือนสหรัฐฯหนนี้ก็จะมีผลทำให้รัฐบาลทหารของไทยสามารถพูดได้ว่า แม้แต่สหรัฐฯก็รับรองรัฐบาลคสช.


"สหรัฐฯกำลังกลายเป็นผงซักฟอกให้กับรัฐบาลทหารของไทย"

การที่ไทยเข้าใกล้ชิดจีนและการได้กลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯหนนี้ เมื่อเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นบีบบังคับให้แสวงหาพันธมิตรดังในกรณีของจีน และการที่สถานการณ์เอื้ออำนวยดังในกรณีของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์เช่นนี้จึงทำให้มีคำถามว่าไทยมีข้อต่อรองเช่นไรหรือไม่ “เราไม่ควรเข้าไปหาเขาเพื่อไปขอ วันนี้เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ”

สหรัฐฯนั้น หากพิจารณาจากตัวอย่างที่ผ่านมาจะพบว่านายทรัมป์เน้นเรื่องการค้าโดยเฉพาะอาวุธ หากกรณีของไทยจะจบลงด้วยการที่ไทยซื้ออาวุธจากสหรัฐฯก็จะมีผลไม่ต่างไปจากความสัมพันธ์กับจีน พร้อมกันนั้นก็จะถูกดึงเข้าสู่เกมของสหรัฐฯในการตั้งกลุ่มต่อต้านเกาหลีเหนือด้วย

อีกด้านหนึ่งแม้จะดูเหมือนว่าขณะนี้ผู้นำไทยและสหรัฐฯมีความสอดคล้องกันในเรื่องของความเป็นอนุรักษ์นิยม รวมทั้งในยุโรปก็มีกระแสของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมที่เรียกได้ว่าเป็นประชานิยมปีกขวา แต่ถ้าพิจารณาจะพบว่าการตอบรับกระแสนี้น่าจะลดลงแล้ว โดยมีสองกรณีที่แนวทางนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือกรณีการออกเสียงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และการเลือกตั้งในสหรัฐฯที่ได้นายทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี แต่ในปัจจุบันกระแสนี้ไม่ได้มาแรงดังที่วิตกกัน ในสหรัฐฯเองก็มีความเคลื่อนไหวต่อต้านนายทรัมป์อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯในยุคหลังนายทรัมป์ควบคู่ไปด้วย



ผู้ชุมนุมกปปส.ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557


ขณะที่แนวทางของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยยังมีข้อจำกัดสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั่วโลก สุรชาติเห็นว่าแม้จะเป็นประชานิยมปีกขวาแต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯและที่อื่นๆกลับไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง ในขณะที่กลุ่มในไทยซึ่งสุรชาติเรียกว่าเป็น “เสนานิยม” ไม่ต่างไปจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในลาตินอเมริกา กลับปฏิเสธการเลือกตั้งและนักการเมือง บริหารประเทศด้วยการใช้กลไกราชการ ทำให้พวกเขาไม่ได้เตรียมนโยบายไว้เพื่อตอบโจทย์ประชาชนเหมือนดั่งกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆในยุโรป สหรัฐฯรวมทั้งทั่วโลก เขาจึงเห็นว่าฝ่ายขวาของไทยเป็นขวาที่ล้าหลังที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

แต่สำหรับผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ศาสตราจารย์สุรชาติชี้ว่าสภาวะเช่นนี้ชี้ชัดว่าไม่อาจหวังพึ่งพิงพลังจากภายนอกเป็นหลักเพื่อผลักดันประเทศให้กลับไปสู่ประชาธิปไตยและระบอบการเมืองปกติได้ แต่ก็มองด้วยว่า ถึงอย่างไรไทยก็จะต้องมีการเลือกตั้ง เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งก็หมายถึงการล้มโรดแมป

อีกประการหนึ่ง ศาสตราจารย์สุรชาติเชื่อว่าในปีหน้าแรงกดดันให้มีการเลือกตั้งจะทวีมากขึ้นจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบประชาชนจำนวนมากและจากพรรคการเมืองด้วย ขณะที่แรงกดดันจากภายนอกก็ยังไม่หายไปเสียทีเดียว เพราะยุโรปและอีกหลายประเทศไม่ได้เกิดสถานการณ์เดียวกันกับสหรัฐฯ แต่ศาสตราจารย์สุรชาติชี้ว่า ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ฝ่าย “เสนานิยม” ควรเรียนรู้ประสบการณ์จากเมียนมาที่ใกล้ชิดกับจีนเสียยิ่งกว่าไทยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในที่สุดเมียนมาก็ต้องยอมเปิดประเทศอีกครั้งพร้อมกลับมาสร้างประชาธิปไตย กับอีกแห่งคือจากประเทศในลาตินอเมริกาที่ครั้งหนึ่งทหารเคยครองอำนาจมีบทบาทสูง แต่ในที่สุดก็ออกจากอำนาจโดยทิ้งประเทศให้ตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากมายหลังจากนั้น

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: นวลน้อย ธรรมเสถียร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทรัมป์พบประยุทธ์ บอกอยากให้ซื้อของอเมริกันมากขึ้น