บันทึกนักโทษคดีการเมือง
ตอนที่ 4 :จากศาลพลเรือนถึงศาลทหาร
จาก 6 ตุลา 19 ถึง 22 พฤษภา 57
.......
รถบรรทุกทหารพาผมออกเดินทางอีกครั้่งจากกองบัญชาการคณะรัฐประหาร
มุ่งสู่ทิศเหนือกรุงเทพฯ...เช่นเคย พวกเขาไม่บอกว่าจะพาไปที่ไหน
แต่ผมเดาได้ในคราวนี้ว่าควรจะเป็น
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการ
ถนนแจ้งวัฒนะ
ทหารเป็นคนรับผิดชอบกรณีผมก็จริง
แต่ตามกฎหมายมีฐานะ ‘ผู้ช่วยเจ้าพนักงานสอบสวน’ คือตำรวจ
ในที่สุดแล้วตามระเบียบก็ต้องส่งให้ตำรวจดำเนินคดี...แต่ก็รู็ดีว่าเป็นเพียง ‘พิธีกรรม’...คนจัดการทั้งหมดตัวจริงคือทหาร
เราไปถึงราว 5 โมงเย็น
แต่ต้องนั่งแกร่วรออยู่หน้าอาคารถึงเกือบ 3 ทุ่ม
ทหารที่ควบคุมตัวผมมาบอกว่า คงจะให้ศาลออกหมายจับผมอยู่่
หรือผู้เกี่ยวข้องอาจกำลังพิจารณาว่าจะตั้งข้อหาอะไรให้ผมดี
ข้อกล่าวหาต่อผมนั้นคือ กระทำผbดมาตรา 112 "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3
ปีถึง 15 ปี"
พันตำรวจโทเจ้าของคดี
อ่านข้อกล่าวหาให้ผมฟังนั้น มีจำนวน 1
เรื่อง (หรือมักเรียกกันว่า 1 กรรม)
........
........
เรื่องย่อๆ ของเรื่องนี้มีอยู่ว่า
มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยรายหนึ่ง
ได้หลบหนีออกจากประเทศไทยไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ต่อมาก็ได้เขียนลงเวบไซต์
ราวต้นปี พ.ศ.2554 มีเนื้อความทำนองว่า
คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชนอย่างตนนั้น
ทำไมต้องระหกระเหินออกมาอยู่ต่างประเทศ ขณะที่พวกก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังอยู่ดีมีเกียรติในประเทศไทย
ซึ่งตอนนั้นผมเป็นบรรณาธิการเวบไซต์ไทยอีนิวส์
ก็ชั่งใจอยู่ว่าควรจะนำมาลงเผยแพร่ต่อหรือไม่? ที่สุดเรา(ผมและทีมงานกองบรรณาธิการไทยอีนิวส์)
ได้ตัดสินใจนำมาลงเผยแพร่ซ้ำ โดยได้ตัดชื่อบุคคลแลตำแหน่งออกไปจากต้นฉบับที่นักวิชาการรายนี้เขียนไว้เดิม
เพราะเห็นว่ามีข้อประเด็นละเอียดอ่อนบางประการ
........
........
พันตำรวจโทเจ้าของคดี
สังกัดปอท.แจ้งข้อกล่าวหาว่าผมได้ "นำข้อความที่ผู้กระทำผิดมาตรา 112 มาเผยแพร่ซ้ำ
จึงเป็นการกระทำผิดมาตรา 112 ด้วย" แล้วถามว่าผมจะยอมรับหรือปฏิเสธ
ผมบอกว่าจะขอให้การในชั้นศาล
เจ้าของคดีบอกกับผมว่า "ท่านต้องไปขึ้นศาลทหาร
เนื่องจากคสช.มีประกาศฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ว่าคดีมาตรา
112 ต้องไปขึ้นศาลทหาร"
ผมแย้งว่า
ก็ท่านเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหาว่าผมกระทำผิดนำบทความนักวิชาการมาลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ตั้งแต่ต้นปี
2554 แล้วจะมาเอาคำสั่งคสช.ที่เพิ่งประกาศลงวันที่
25 พฤษภาคม 2557 คือวันที่จับกุมตัวผมมา
แล้วดำเนินคดีย้อนหลังผมไปตั้ง 3 ปีได้อย่างไร?
เจ้าของคดีว่า
เพราะนับแต่บทความที่ถูกระบุว่ากระทำผิดเผยแพร่ไว้นั้น แม้จะผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว
แต่ก็ยังอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มาอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน
จนถึงวันที่มีประกาศฉบับที่ 37/2557
"ถ้างั้นผมขอประกันตัว" ผมบอก
ทั้งที่ทราบดีว่าโอกาสริบหรี่่ "เราคัดค้านการประกันตัว" เขาตอบเรียบๆ
ศาลทหารนั้นต่างจากศาลพลเรือนคือ
เป็นศาลชั้นเดียว ตัดสินแล้วถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา
ศาลทหารเคยพิจารณาคดีมาตรา 112 ครั้งสุดท้ายก็คือ
ต่อบรรดาผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ในคดีที่เรียกกันต่อมาว่า ‘คดีเล่นละครแขวนคอ’) จากนั้นก็มาอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญา หรือศาลพลเรือนเรื่อยมา
‘ยี่ต๊อก’ หรือบทลงโทษของศาลพลเรือนในคดีนี้
โดยเฉลี่ยคือจำคุก 5 ปี สารภาพลดเหลือ 2 ปีครึ่ง ผมจึงเตรียมใจมาก่อนนี้ว่าจะต้องใช่้เวลาในคุกราวๆ 2 ปีเศษ
แต่เนื่องจากนี่เป็นกรณีที่ไม่เหมือนเดิม
เพราะหลังรัฐประหาร 22
พฤษภาคม 2557 มีการออกคำสั่งให่้ศาลทหารเข้ามาตัดสินแทนศาลพลเรือน
ไม่เคยมีสถิติ หรือ ‘ยี่ต๊อก’ มาก่อนว่าศาลทหารจะตัดสินอย่างไร เพราะในกรณีนักศึกษา 6 ตุลาฯ นั้น ไม่ได้มีการตัดสินคดี แต่มีการนิรโทษกรรมกันเสียก่อน
ผมจึงเป็นกรณีแรกนับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519ที่ จะถูกตัดสินตคดี 112 โดยศาลทหาร
........
อีกราว 7 เดือนกว่าต่อมา ผมจึงถูกตัดสินโดยศาลทหารมีความผิด
ลงโทษจำคุก 10 ปี เคยมีคุณงามความดีลดให้ 1 ปี เหลือ 9 ปี...ให้การสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง
คงจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี 6 เดือน
ทำไมผมและจำเลยในคดีนี้จำนวนมากจึงสารภาพ
นั่นควรจะถามไม่น้อย...
"รับติดแน่ แพ้ติดยาว ถ้าเจอศาลทหาร
ศาลเดียว ยิ่งสู้ก็ยิ่งยาว" ชาวคุกว่ากันอย่างนั้น
ระหว่างถูกขังคุกรอการพิจารณาคดีอยู่ 7 เดือน ห้ามประกัน
แม้ว่าผมจะยื่นไปกี่ล้านหรือกี่ทีก็ตาม มันคือทัณฑ์ทรมานต่อญาติต่อครอบครัวของเรา
ดังนั้นไม่ว่าจะแข็งแกร่งหินผาขนาดไหน
ไม่ย่นระย่อให้ต่อความอยุติธรรมเพียงไร...ก็มักจะถูกบีบให้ต้องยอมสารภาพในท้ายที่สุด