ดร.สุรชาติ ชี้ปี61 ไทยเผชิญโจทย์หนัก เลือกตั้งต้องมา โอกาสนายกฯ สัญญารอบ4 ไม่น่ามี
5 ตุลาคม 2560
สำนักข่าวอิศรา
ดร.สุรชาติ มองทิศทางเลือกตั้งปี61 รัฐไทยเผชิญโจทย์ใหญ่ ทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์ทั้งตะวันตก และจีน เชื่อไทยแลนด์ 4.0 ไม่เกิด ถ้าการเมืองไทยยังเป็นแบบอนาล็อค หวั่นเผชิญปัญหา ทวิภพ ถามรัฐและสังคมไทยจะอยู่ตรงไหนบนเวทีโลก
วันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่ ห้องTraining Room 3 อาคารD สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ชาตินิยมกับโลกาภิวัตน์ เมื่อขวาจัดคัมแบ็ก” โดยศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวตอนหนึ่งถึงทิศทางการเลือกตั้งไทยหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ ว่า ที่ผ่านมานายกฯพูดเรื่องการเลือกตั้งมาเเล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนไปเยือนญี่ปุ่นว่าจะเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 และต่อมากล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นิวยอร์กว่าจะเลือกตั้งปี 2560 ล่าสุดครั้งที่ 3 ที่วอชิงตัน บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปี 2561เพราะในข้อ 8 ระบุว่า กฎหมายลูกเสร็จเมื่อไหร่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งได้ใน 150 วัน ดังนั้นในปี 2561 หากวิเคราะห์ตามโรดแมปแล้วจะเป็นปีใหญ่มีแรงกดดันมากมาย จะเจอภาวะเศรษฐกิจอย่างหนัก นอกจากนี้สัญญาณเห็นได้จากการเสวนาที่สมาคมสื่อฯ มีการเปิดเวทีให้พรรคการเมือง 3 พรรคที่แม้จะทะเลาะกันแต่เห็นพ้องกันว่าต้องเลือกตั้งในปีหน้า
"โอกาสที่นายกฯจะพูดเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 4 อาจจะยาก คิดว่าการเลือกตั้งไม่สามารถขยับได้ไกลมาก" ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว และว่า คำสัญญาที่วอชิงตันอย่างน้อยก็ตอบเราอย่างหนึ่งคือ ถึงจะขวาอย่างไรก็ทิ้งเลือกตั้งไม่ได้ โรดแมปยังสำคัญ ขออย่างเดียวปีหน้าอเมริกาอย่าทะเลาะกันเรื่องนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวด้วยว่า วันนี้เราไม่ได้เผชิญกระแสโลกาภิวัฒน์ชุดเดียว มีทั้งตะวันตกและจีน ในกระแสตอนนี้โลกตะวันตกกลับสวิงขวา คำถามคือแล้วสังคมท้องถิ่นจะทำอย่างไร ในคำพูดของนายกฯกับโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ว่า สหรัฐฯเป็นมิตรแท้ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยพูดดับสหรัฐฯว่า เป็นมหามิตร ซึ่งไม่ต่างกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายต่างประเทศไทยสวิงกลับไปฝั่งสหรัฐฯ เราจะอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างไร คำตอบคือ การรับซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯ คำถามคือเราจะขนส่งกันอย่างไร ค่าใช้จ่ายจากสหรัฐมาไทย มูลค่าต้นทุนการผลิตเพิ่มหมด อธิบายได้อย่างเดียวว่าผู้นำทหารไทยพยายามเอาใจสหรัฐฯ เพราะรู้อยู่ว่า ทรัมป์ตอนก่อนเลือกตั้ง หาเสียงกับคนงานถ่านหิน คำประกาศที่สหรัฐฯไม่รับข้อตกลงปารีส เรื่องโลกร้อน เพราะสหรัฐฯจะหวนกลับมาใช้พลังงานแบบเก่า โจทย์คือ แล้วเราโดดไปเล่นด้วย แบบนี้เราจะเอาอย่างไรในกระแสโลก เพราะตอนนี้ไม่มีคำตอบในแง่ถ่านหินสะอาด
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวถึงสังคมไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ การเมืองไทยก็ต้อง 4.0 แต่วันนี้ถ้าสังคมวันนี้เราอยู่แค่2.0-3.0เท่านั้น แต่การเมืองไทยยังเป็นอนาล็อก ดังนั้นถ้าเราจะหวังว่าจะมีไทยแลนด์ 4.0 เป็นไปไม่ได้ พอเราเผชิญโจทย์ชุดใหม่ เราปรับตัวและรับมือไม่ได้
"วันนี้ไทยแลนด์กำลังเจอปัญหา ทวิภพ ลองจินตนาการยุคที่เราอยู่ในช่วงที่จักรวรรดิตะวันตกกำลังรุกเข้ามา เรารับได้ ดีไม่ดีวิจารณ์ได้ โจทย์ปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน สิ่งที่โลกาภิวัฒน์ทวงถามเราอยู่เรื่องเดียว คือ รัฐและสังคมไทยจะอยู่บนเวทีโลกอย่างไร
เรามักคิดว่าเมื่อเราไม่เป็นเมืองขึ้น เรายิ่งใหญ่ที่สุด ผมว่าไม่จริง พี่น้องในประเทศเพื่อนบ้านเผชิญเงื่อนไขที่แตกต่าง ไม่ได้บอกว่าใครเก่ง ไม่เก่ง แต่ในสภาพที่เราเผชิญเรามีโจทย์ของเราเอง วันนี้เราเผชิญทวิภพอีกชุดหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบโลกาภิวัฒน์กระแสโลกในยุคนั้น วันนี้กระแสโลกในปัจจุบันก็มากับโลกาภิวัฒน์ยุคใหม่ และในกระแสชุดนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ ชนกลางที่น่าจะก้าวหน้าที่สุดเพราะเงื่อนไขชีวิต การศึกษา ที่โตมากับโลกตะวันตก ทุกอย่างเป็นตะวันตกหมด ยกเว้นอย่างเดียวเมื่อเผชิญกับโจทย์การเมืองในบ้านตัวเอง” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีรัฐธรรมนูญเเล้วเลือกตั้งเมื่อไหร่ หน้าตารัฐบาลจะแบบไหน ?
นักวิชาการมธ. มองประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนจนกว่ามีเลือกตั้ง
ย้อนดู 5 อย่างที่จะเปลี่ยนไปและคงอยู่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
3พรรคใหญ่เชื่อเลือกตั้งปี’61 ชี้ช่องยืดอายุ คสช.-ขอ‘ทักษิณ-ทหาร’ถอยคนละก้าวเพื่อชาติ