วันพุธ, กันยายน 06, 2560

สำนักข่าวอิศรา: เปิดร่างยุทธศาตร์ชาติเบื้องต้นฉบับ ‘สภาพัฒน์’ ก่อนชงที่ประชุมพิจารณา ชี้การเมืองโลก ‘สหรัฐฯ’ ยังมีบทบาทสูง แต่ ‘จีน-อินเดีย’ เริ่มเข้ามาท้าทาย ปัญหาการเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ-ทุจริตคอร์รัปชั่น





ร่างยุทธศาสตร์ชาติ20ปีฉบับสภาพัฒน์ สหรัฐฯยังบทบาทสูง การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ-ทุจริต


04 กันยายน 2560
ที่มา สำนักข่าวอิศรา


เปิดร่างยุทธศาตร์ชาติเบื้องต้นฉบับ ‘สภาพัฒน์’ ก่อนชงที่ประชุมพิจารณา ชี้การเมืองโลก ‘สหรัฐฯ’ ยังมีบทบาทสูง แต่ ‘จีน-อินเดีย’ เริ่มเข้ามาท้าทาย ปัญหาการเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ-คอร์รัปชั่น ต้องออกกฏหมาย-พัฒนาถึงฐานราก แต่แนวโน้มภาคใต้อาจคลี่คลายได้


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลถึงความคืบหน้าในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จัดทำโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานฯ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำร่างดังกล่าวเบื้องต้น ดำเนินการแล้วเสร็จเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาแล้ว โดยร่างดังกล่าวสภาพัฒน์ดำเนินการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนภาคต่าง ๆ พร้อมกับสร้างความรับรู้แก่พรรคการเมืองหลายแห่งด้วย เพื่อใช้เป็นแนวทางให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปรับปรุงแก้ไขในการจัดทำฉบับจริง โดยแบ่งเป็นแผนความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ

ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับดังกล่าว สภาพัฒน์ฯวิเคราะห์สรุปเกี่ยวกับจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศไทย และแนวโน้มในช่วง 20 ปีข้างหน้า มีอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเมืองของโลกยังคงมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแสดงหลัก 2.กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (BRICS) ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และกระแสโลกาภิวัตน์ใหม่ 3.กระแสการเมืองอิสลาม และการรื้อฟื้นระบอบการปกครองแบบรัฐเคาะลีฟะฮ์ (Caliphate) และ 4.ประเด็นความมั่นคงยังคงเป็นความวิตกกังวลของหลายประเทศ

สำหรับประเด็นด้านความมั่นคงนั้น ถูกวิเคราะห์ว่า ระเบียบระหว่างประเทศยังคงถูกกำหนดโดยประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯและยุโรป อย่างไรก็ดีกลุ่ม BRICS จะมีความพยายามคานอำนาจกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ที่มีความพยายามพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารให้ทัดเทียมสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และยุโรป จะผนึกกำลังเพื่อรักษาสถาพของตนในฐานะประเทศมหาอำนาจต่อไป

ส่วนความมั่นคงของไทย ถูกวิเคราะห์ว่า ในด้านคุณภาพสังคม การเมือง และการบริหารประเทศ มีการจัดอันดับสำคัญ ได้แก่ รายงานความสุขของประชากรโลก (World Happiness Report) หรืออันดับความโปร่งใสประจำปี จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transnational International) หรือดัชนีควมสามารถในการแข่งขัน จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) หรือการจัดอันดับเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน จัดทำโดย Freedom House หรือการจัดอันดับสภาพแวดล้อม หรือความสะดวกในการประกอบธุรกิจ จัดทำโดยธนาคารโลก รวมถึงการจัดทำตัวชี้วัดภาวะสังคมของสภาพัฒน์ฯ พบว่า ประเทศไทยยังประสบปัญหาความยากจน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาความมั่นคง การขาดเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดีไทยติดอันดับ 1 ใน 50 ของโลก ที่มีสภาพแวดล้อมน่าลงทุน รวมถึงประชากรมีความสุขในอันดับต้นของอาเซียน

แนวโน้มด้านความมั่นคงในไทยระยะ 20 ปีข้างหน้า เฉพาะปัญหาทางการเมือง ถูกวิเคราะห์ว่า เกิดขึ้นจากความแตกแยกของสังคม จะประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ปัญหาดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการทุจริต การขาดระบบยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การบริหารจัดการภาครัฐขาดประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐานการพัฒนาของไทยในอนาคต ในการสร้างธรรมาภิบาล การพัฒนาระบบบริหารราชการ ตลอดจนการเร่งปรับปรุง/พัฒนา กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขจัดสาเหตุฐานรากของปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีแนวโน้มคลี่คลายหากรัฐบาลยังคงดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ และผสมผสานพลังร่วมกับประชาชน การเสริมสร้างการยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม และการได้รับความร่วมมือจากมาเลเซีย ส่งผลให้สามารถสกัดแนวคิดหัวรุนแรงมิให้แพร่ขยายเข้ามาในไทยได้ รวมถึงช่วยให้ไทยสามารถเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ เข้ากับประเทศอาเซียนทางตอนใต้ได้มากขึ้น

ปัญหาการก่อการร้าย ไทยยังคงมีความเสี่ยงจากกลุ่มที่เข้ามาปฏิบัติการในไทย โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เคยเข้ามาปฏิบัติการแล้ว เช่น กลุ่มอิชมัลเลาะฮ์ กลุ่มชาวอิหร่าน และกลุ่มชาวตุรกี ที่จะใช้วิธีการและรูปแบบใหม่ ๆ ในการก่อการร้าย

ส่วนปัญหาอาชญากรรมข้างชาติ ไทยจะยังคงประสบปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงในภูมิภาค พัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำเลที่ตั้งของไทยอยู่ใจกลางภูมิภาค นโยบายการเปิดเสรีการค้า และการลงทุนของไทย ปัญหาสำคัญที่ต้องเผชิญ ได้แก่ การค้ายาเสพติด การลักลอบผลิตและจัดหาเอกสารปลอม อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และการค้ามนุษย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นรองประธาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นรองประธานอีกคนหนึ่ง

มีคณะกรรมการ โดยตำแหน่งและแต่งตั้ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประธานสภาพัฒนาการเมือง, ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, ประธานสภาหอการค้าไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรม, ประธานสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น 13 ราย โดยเกือบทั้งหมดล้วนเป็นรัฐมนตรี หรืออดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงนักธุรกิจชื่อดังเข้ามาร่วมด้วย (อ่านประกอบ : ‘ประยุทธ์’ตั้ง‘บิ๊กป้อม’รองปธ.ยุทธศาสตร์ชาติ-13ผู้ทรงคุณวุฒิ‘บิ๊กป๊อก’ด้านการเมือง)

อ่านประกอบ : ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตอนที่1: มันจะออกมาเป็นคบไฟนำทาง หรือ โซ่ตรวนล่ามชาติกันแน่?

หมายเหตุ : ภาพประกอบ คสช. จาก logothailand.com, ภาพประกอบธงชาติไทยจาก google.site

...

ชวนอ่านต่อ...

เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการโดยตำแหน่ง)


(https://prachatai.com/journal/2017/09/73092)