วันจันทร์, ธันวาคม 05, 2559

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ แชร์ความรู้ 'โพสต์อย่างไรไม่คุก' ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรอ่าน





โพสต์อย่างไรไม่คุก? 5 ข้อต้องรู้ร่างฯ พ.ร.บ.คอมฯ โฉมใหม่ โหดสะเทือนใจชาวเน็ต


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
5 ธ.ค. 2559


ถึง...ชาวเน็ตที่รัก

ชาวเน็ตที่รัก พวกเธอรู้ไหม?...ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไลฟ์สไตล์การท่องเน็ตของพวกเธออาจจะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล หากเธอถามฉันว่าทำไม ฉันก็จะตอบเธอว่า ณ เวลานี้ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุด กำลังจะถูกเข็นออกมาให้พวกเธอได้ใช้พร้อมกันอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้แล้วนะ (ขณะนี้ กำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกำหนดการคาดว่า จะพิจารณาเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2559 และประกาศใช้ภายในเดือนเมษายน 2560) เพราะฉะนั้น ชาวเน็ตที่รัก ฉันเป็นห่วงเธอเหลือเกิน ฉันเกรงว่าเธอจะไม่รู้ไม่เข้าใจ จนเผลอไผลไปท่องเน็ตโดยไม่ระวัง แล้วโชคร้ายจะมาเยือนเธอนะ

ชาวเน็ตที่รัก ฉัน(ผู้สื่อข่าว) มี 10 ข้อน่ารู้ที่เธอควรสละเวลามาอ่านสักนิด ฉันคัดมาจากหลากหลายแง่มุมเชียวนะ และฉันเชื่ออย่างที่สุดว่า สักวันหนึ่งมันจะมีประโยชน์กับตัวเธอไม่มากก็น้อย เธอลองอ่านดู...

เกริ่นก่อนเข้าเรื่องสักนิดว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) นั้น แรกเริ่มเดิมทีมีวัตถุประสงค์มุ่งเอาผิดการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค และการใช้ไฟล์ปลอมเพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ (เช่น ปลอมเว็บไซต์ข่าว, สร้างเพจปลอมเป็นดารา เป็นต้น) แต่ด้วยความที่กฎหมายเขียนเอาไว้ว่า “ผู้ใด... นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” และด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมามาตรา 14(1) จึงถูกนำมาตีความเพื่อใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทออนไลน์ ซึ่งเป็นการบังคับใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน




ที่ผ่านมามาตรา 14(1) มักถูกนำมาตีความเพื่อใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทออนไลน์1. ฉบับใหม่ ไม่รวมหมิ่นประมาท


ชาวเน็ตที่รัก ฉันจะเริ่มนับเป็นข้อที่ 1 : จากเหตุข้างต้น สุรางคณา วายุภาพ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การบังคับใช้ในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ผิดเพี้ยนไป ดังนั้น คณะกรรมาธิการพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการใส่ถ้อยคำให้รัดกุมกว่าเดิม

กระนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้จึงแก้ไข มาตรา 14(1) ด้วยการเพิ่มข้อความว่า “ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะฉะนั้น มาตรา 14(1) จึงเปลี่ยนมาเป็น “ผู้ใดโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายและหนึ่งในคณะกรรมการร่างฯ กล่าวย้ำว่า “มาตรา 14(1) ไม่นำมาใช้กับคดีหมิ่นประมาท โดยคณะกรรมาธิการฯ มองว่า ไม่มีปัญหาเรื่องตีความแน่นอน ไม่ใช่หมิ่นประมาทครับ ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้นครับ ไม่ใช่หมิ่นประมาท และหน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้”




พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้จึงแก้ไข มาตรา 14(1) ด้วยการเพิ่มข้อความว่า “ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล”2. โพสต์สร้างความเสียหายให้ประเทศ-บริการสาธารณะ-โครงสร้างพื้นฐาน เสี่ยงคุก 5 ปี


ข้อ 2 : ในมาตรา 14(2) ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เพิ่มฐานความผิดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยมีการเพิ่มเติมลงไปว่า “หากมีผู้โพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และบล็อกเกอร์ แสดงทรรศนะต่อเรื่องนี้ว่า อันที่จริงแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควรใช้ปกป้องธุรกิจ เพื่อนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และควรใช้เพื่อป้องกันการโจมตีไซเบอร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรง แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับลิดรอนเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงเกิดคำถาม ตามมาว่า เจตนาของกฎหมายนี้คืออะไรกันแน่




เกิดการตั้งคำถามที่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ลิดรอนเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนหรือไม่


3. สั่งบล็อกได้ทันที แม้ไม่ผิดกฎหมาย

ข้อที่ 3 : มาตรา 20 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการจัดทำร่างประกาศฯ การบล็อกคอนเทนต์ โดยให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ (คณะกรรมการมี 5 คน โดย 2 คนเป็นผู้แทนจากภาคเอกชน) มีอำนาจวินิจฉัย สามารถสั่งบล็อกหรือลบคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ ก็สามารถบล็อกได้ทันที ซึ่งประเด็น “บล็อกคอนเทนต์” ที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ ได้ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง

โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น แสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่า “ใน พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะมาตรา 20/1 เรื่องการบล็อกคอนเทนต์นั้น หากเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือผิด พ.ร.บ.คอมฯ แต่คณะกรรมการกลั่นกรองเห็นว่า มีผลต่อความสงบเรียบร้อย เขาก็สามารถสั่งให้บล็อกได้ทันที ซึ่งกรณีนี้อาจไปกระทบต่อปัญหาเรื่องเสรีภาพของประชาชนได้ และผลสุดท้ายการตัดสินก็จะไปสิ้นสุดที่ศาล ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าศาลจะใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน เพราะศีลธรรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะกว้าง และยากต่อการนิยาม”

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า “ในเรื่องของการขัดต่อความสงบเรียบร้อยนั้น ถ้าบัญญัติไว้ไม่ครอบคลุมก็จะขาดไป หรือบางเรื่องอาจอยู่เกินความหมายที่ให้ไว้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการพูดถึงเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยว่าแค่ไหนและอย่างไร ศาลก็ให้ข้อมูลว่าเรื่องใดบ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และมีคำพิพากษาอยู่มาก แต่เป็นเรื่องยากจริงๆ ครับ ที่จะบอกว่าแค่นั้นแค่นี้ ส่วนการบล็อกคอนเทนต์ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้โดยลำพัง หรือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่นี่เป็นเรื่องของกระบวนการที่ต้องผ่านการกลั่นกรองหลายขั้นตอน”




“บล็อกคอนเทนต์” ได้ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง


4. มาตรา 16 ลบหน้าประวัติศาสต์ไทย?

ข้อที่ 4 : มาตรา 16/2 ในกรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ ซึ่งผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์ ต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ผมมองว่า เรื่องนี้จะไปกระทบบรรดาคนที่ทำหน้าที่ในห้องสมุด, จดหมายเหตุ, งานวิจัย หรือคลังข้อมูลข่าวต่างๆ เพราะถ้าหากว่าวันหนึ่งศาลตัดสินว่าผิดและให้ทำลาย ก็ต้องลบใช่หรือไม่ และสมมติว่า ในกรณีที่มีนักการเมืองคนหนึ่งบอกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลามีคนตายคนเดียว ถ้าต่อมาศาลมีคำสั่งว่าต้องลบข้อมูลดังกล่าวเพราะเป็นเท็จ นั่นแสดงว่าเราก็ต้องไปลบข่าวนี้ใช่ไหม แล้วในอนาคตอีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า จะไม่มีใครรู้เลยใช่ไหมว่า นักการเมืองคนหนึ่งเคยพูดแบบนี้ คำถาม คือ เรากำลังจะลบประวัติศาสตร์หรือไม่”

โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมาย และหนึ่งในคณะกรรมการร่างฯ อธิบายเหตุผลของมาตรานี้ ว่า หลักสิทธิที่จะถูกลืม หรือ right to be forgotten นั้น เป็นพื้นฐานของการเขียนร่างมาตรา 16 เพราะเมื่อข้อมูลอะไรไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วจะไม่ค่อยถูกลบออก ยกตัวอย่างเช่น ผมถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนบนบีทีเอส ต่อมา ศาลตัดสินว่าไม่ได้ลวนลาม แต่เวลาเข้าไปเสิร์ชชื่อของ “ไพบูลย์” บนอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะมีข้อมูลอันเป็นเท็จอยู่ว่า คนนี้ลวนลามและลามกมาก เพราะฉะนั้นข้อมูลนี้ก็ต้องถูกลบออก ทั้งกูเกิล และเฟซบุ๊ก





5. ผู้ให้บริการ เก็บข้อมูลนานขึ้น จากไม่เกิน 1 ปี เป็นไม่เกิน 2 ปี

ข้อที่ 5 : ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ฉบับปัจจุบัน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ไว้ไม่เกิน 90 วัน หรือในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ร่างแก้ไขใหม่ มาตรา 26 กำหนดว่า ในกรณีจำเป็นอาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ปี

ขณะที่ มาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องการเอาไว้ก่อนได้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา

รักและเป็นห่วง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์