วันศุกร์, ธันวาคม 16, 2559

สภาตรายางใต้ท็อปบูท... 168 ต่อ 0 สนช.ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์





คะแนนที่ประกาศบนจอขณะถ่ายทอดสด ต่อมา มีสมาชิก สนช.ขอแก้ไขคะแนนเป็นเห็นด้วยอีกหนึ่งเสียง


168 ต่อ 0 สนช.ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Fri, 2016-12-16 15:56

ที่มา ประชาไท

168 ต่อ 0 สนช.ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ขณะประชาชนลงชื่อค้าน พ.ร.บ.นี้กว่า 3 แสนราย ด้าน ไอลอว์-เครือข่ายพลเมืองเน็ต เตรียมจับตา กม.ลูก ต่อ เอไอเผยผิดหวัง สนช.ผ่านกฎหมายละเมิดสิทธิ-ขัดหลักสากล

16 ธ.ค. 2559 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ มีการพิจารณาวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ... โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และ 3

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4 มี สนช. เข้าร่วมโหวต 172 คน โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสนช. และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวหลังการลงมติว่า กรณีความกังวลเรื่องซิงเกิลเกตเวย์นั้น จะเห็นว่า ตลอดการประชุมไม่มีเรื่องที่กังวล รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.ประยุทธ์ ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ รมต.ก็เห็นความสำคัญ จนนำมาสู่การร่างนี้ ซึ่งยืนยันว่า กฎหมายนี้จำเป็นและมีความสำคัญที่จะนำไปใช้ต่อไป แต่จะไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน และสิทธิส่วนบุคคล

วานนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้นำ 300,000 ชื่อของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ร่วมลงชื่อใน change.org ไปยื่นต่อ สนช. เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมายในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นที่พูดถึงและจับตาอย่างมากในโลกออนไลน์ (วันนี้ มีผู้ลงชื่อเพิ่มเติมรวมกว่า 366,000 ชื่อ)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ออกมารณรงค์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ให้สัมภาษณ์หลัง สนช.ผ่านกฎหมายนี้ว่า จากนี้คงต้องรอดูร่างสุดท้ายก่อน เพื่อจัดทำบทวิเคราะห์และจับตาการบังคับใช้กฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังต้องจับตาร่างกฎหมายลูกที่จะถูกนำมาใช้ประกอบกันด้วย

ยิ่งชีพ ระบุว่า เท่าที่ได้ฟังการอภิปราย มองว่าแม้วิธีคิดของสมาชิก สนช. จะไม่เปลี่ยน แต่ดูเหมือนเขาจะได้ยินเสียงประชาชนอยู่บ้าง แม้จะไม่มีใครพูดออกมาว่าประชาชนเรียกร้องอะไร แต่หลายข้อถกเถียงที่มีการหยิบขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ประชาชนแสดงความกังวล เช่น การตัดคำว่า "บริการสาธารณะ" ในมาตรา 14(2) หรือ เรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองปิดเว็บที่แม้เขาจะยืนยันว่าต้องมี แต่ก็มีการทำให้ดูดีขึ้น

ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ติดตามการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า หลังจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะออกประกาศกระทรวงดิจิทัลอีก 5 ฉบับซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 11, 15, 17/1, 20 และ 20/1 ต่อไป

กลไกการใช้อำนาจของรัฐและเอกชน (ที่ได้รับมอบอำนาจ) จะปรากฏอยู่ในประกาศกระทรวงต่างๆ ข้างต้น เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 4 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. .... (ร่าง 18 พ.ย. 2559) https://ictlawcenter.etda.or.th/…/d…/public-hearing-CC-bills

"ขอให้ทุกคนจับตาดูต่อในสนามต่อไป ทั้ง "สนามเล็ก" ของกฎหมายลูก #พรบคอม และ "สนามใหญ่" ของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เราหวังว่าจะเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิของเราได้"

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ. ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 360,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สนช. อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต

สำหรับร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกาศด้วยร่างประกาศด้านล่างนี้ โดยร่างนี้เป็นฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2559 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สพธอ.

(ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่งและลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ....
(ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....
(ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
(ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....
(ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการพิจารณา


ooo



พ.ร.บ.คอมพ์ผ่านสะท้อนอะไร อันดับแรก ท่าทีของรัฐบาล คสช.คือจะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ ไม่แยแสว่ามีคนค้าน 3 แสนกว่าคน (ไหนเสรี วงศ์มณฑา บอกคนกรุง 3 แสนมีคุณภาพ) ไม่ต่างกับมีชัยบอกว่านักการเมืองต่อต้านเพราะร่าง กม.มาดี

สอง นี่คือทัศนะรัฐจารีต กลัวโลกใหม่ คนรุ่นใหม่ มองโลกออนไลน์น่ากลัว เป็นภัยความมั่นคง ความสงบ ศีลธรรมเสื่อม ฯลฯ จึงต้องร่าง กม.ให้เจ้าหน้าที่ & คณะกรรมการ 9 คน มีอำนาจครอบจักรวาล เอาไว้จัดการภัยจากโลกใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรบ้าง โดยไม่สนใจว่าอำนาจนั้นคุกคามสิทธิเสรีภาพ ซ้ำเป็นอำนาจที่ฉ้อฉลได้

ทัศนะนี้ไม่ได้ต่างกับการร่าง รธน. กม.พรรคการเมือง กม.เลือกตั้ง กม.กกต.ที่ไปถึงขั้นจะให้ กกต.มีงบลับ มีชัยบอกว่าจะเขียนกฎหมายให้ กกต.นอกจากซื่อสัตย์แล้วยังกล้าหาญด้วย เออ พูดง่ายดี

ทัศนะแบบนี้ที่ต้องการให้รัฐราชการ เจ้าหน้าที่ ทหาร ศาล องค์กรอิสระ เป็นใหญ่ จัดระเบียบควบคุมทุกอย่างในสังคม มันเป็นไปไม่ได้ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีวุฒิภาวะพอ รัฐราชการไม่ได้เก่งกว่าดีกว่าจนสามารถขี่คอสังคม



Atukkit Sawangsuk


ooo


แน่นอนว่า สนช. 168 คนที่โหวตให้ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นย่อมคาดหวังว่าที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงจะทำให้ได้นั่งใน วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร

เพราะว่า สนช. เหล่านั้น ได้ทำหน้าที่ สุนัขรับใช้ คณะรัฐประหารอย่างสมเกียรติ

มิตรสหายท่านหนึ่ง