วันศุกร์, ธันวาคม 16, 2559

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2511 บอกว่า คนไทยร้อยละ 98.83% มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท 1.16% มีเงินฝากระหว่าง 1-50 ล้านบาท คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สิน ร้อยละ 58 และมีคนแค่ร้อยละ 0.01 ที่มีเงินฝาก 50 ล้านขึ้นไป - จนเอ๊ยจน





คำ ผกา : จนเอ๊ยจน

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2559

ตั้งแต่จำความได้ ก็ได้ยินคำว่า “ช่องว่างระหว่างชนชั้น” และคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” มาโดยตลอด

จากนั้นก็มีชีวิตกับนโยบายเศรษฐกิจ สังคม ของทุกรัฐบาลว่า มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และรายได้ของประชากรไทย

แต่จนป่านฉะนี้ คำว่าความเหลื่อมล้ำก็ยังอยู่ ช่องว่างระหว่างชนชั้น รายได้ก็ยังอยู่ และดูเหมือนจะทวีความสาหัส และซับซ้อนขึ้นด้วย

ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารเครดิตสวิสบอกว่า ความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นสูงเป็นอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ด้วยตัวเลข คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินถึงร้อยละ 58 ห่างจากอันดับสองคือ อินเดีย และ 0.4 เพราะอินเดีย คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 58.4

ลองคิดถึงความเหลื่อมล้ำในอินเดีย ที่มหาเศรษฐี แทบจะนุ่งเพชร ห่มทอง นั่งส้วมทองคำ จัดงานแต่งงานลูกหลานกัน 14 วัน 14 คืน และอาจใช้เงินหลายร้อยล้านในการจัดงานแต่งงาน

ขณะเดียวกันก็มีคนจนชนิดจนติดดินอยู่อีกมหาศาล แล้วความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็น้อยกว่าอินเดียแค่กระเบียดหนึ่ง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2511 บอกว่า

คนไทยร้อยละ 98.83% เป็นบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท

1.16% เป็นบัญชีที่มีเงินฝากระหว่าง 1-50 ล้านบาท

0.01% เป็นบัญชีที่มีเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป

คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สิน ร้อยละ 58 และมีคนแค่ร้อยละ 0.01 ที่มีเงินฝาก 50 ล้านขึ้นไป แล้วคิดดูว่า จะมีร้อยละเท่าไหร่ที่มีเงินพันล้าน, หมื่นล้าน ไปจนถึงแสนล้าน

เรื่องมันคงไม่น่าเศร้าเท่าไหร่ ถ้าหากว่าการอัปเปหิประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งออกจากเมืองไทย จะไม่ทำด้วยเหตุผลว่า มีตระกูลชินวัตร กำลังจะรวยเหลือเกินและถือครองอำนาจรัฐ เป็นเจ้าของสื่อ ครอบงำทุกสิ่งอย่างในประเทศนี้ น่ากลัวๆๆๆๆๆ เราต้องไล่อำนาจของตระกูลนี้ออกจากแผ่นดินแม้ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียประชาธิปไตยก็คุ้ม เพราะเรากลัวเรื่องนายทุนสามานย์ผูกขาดมากกว่า

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แม้เมื่อสูญเสียประชาธิปไตยไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำ และสภาวะที่นายทุนไม่กี่ตระกูล ยังคงครอบครองทุกกิจการในประเทศก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม

และดูเหมือนจะหนักหน่วง วิกฤต วิปลาสกว่าเดิม

เพราะไม่มีอำนาจการตรวจสอบจากประชาชนและรัฐสภาเลย

หลายตระกูลมหาเศรษฐีในเมืองไทย เป็นเจ้าของทั้งธุรกิจค้าปลีก ทั้งครอบครองอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งเริ่มขายตั้งแต่อาหารสัตว์ยันกล้วยปิ้ง ทั้งเป็นเจ้าของสื่อ เจ้าของสำนักพิมพ์ เจ้าของนิตยสารแจกรางวัลวรรณกรรม ทั้งถือสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคม ทั้งสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน

ไม่ใช่แค่กลุ่มเดียวหรือตระกูลเดียว ยังมีอีกหลายตระกูลที่เป็นหนึ่งในคนร้อยละหนึ่งของประเทศที่ค่อยๆ คืบคลาน ครอบงำ ซื้อ และทยอยสะสม ครอบครองกิจการและธุรกิจในประเทศนี้ และแผ่สยายอาณาจักรไปเรื่อยๆ อย่างเงียบ และอย่างที่ไม่ต้องเปลืองตัวมาเป็น ส.ส. มาเป็นรัฐมนตรีให้ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน

แต่เรากลับไม่เคยคิดรังเกียจทุนนั้นในฐานะทุนสามานย์ เพียงเพราะเขาไม่เคยเล่น “การเมือง” อย่างตรงไปตรงมา และเพียงเพราะว่าคนไทยจำนวนมาก “ไร้เดียงสา” หรืออะไรก็ไม่รู้ จึงคิดว่าการเล่นการเมือง หรือการเจรจาต้าอ้วยกับ “การเมือง” ทำได้หนทางเดียวคือ ตั้งพรรคการเมือง จึงไม่สนใจ “การเมือง” ใต้โต๊ะ หรือการเมืองที่แทงหวยเบอร์ “รัฐประหาร” แล้วต้าอ้วยกันเนียนๆ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่เป็นที่ครหา

ตราบเท่าที่คุณไม่เป็นนัการเมือง คุณก็ไม่กลายเป็น “คนเลว” ในสายตาของสังคมไทย

ความเศร้ามันจึงอยู่ตรงนี้ ตรงที่ “เรา” โง่อย่างบัดซบที่ไปเชื่อว่าหากไม่มีนักการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มี ส.ส. เหี้ยๆ แล้วบ้านเมืองมันจะดีแน่นอน


อ่านต่อได้ที่...

https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_17761