วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 06, 2559

งานนี้ได้พิสูจน์ ‘กึ๋น’ คสช. กันจะจะ ว่าสามารถแก้วิกฤติสำคัญของกระดูกสันหลังชาติได้หรือไม่






เอาจริงแล้วมั้งนี่ รัฐบาลลุงตูบจะรับซื้อข้าวชาวนาหมดทั้งประเทศ อย่างที่บิ๊กตือแขวะอิปูว์เอาไว้

หัวหน้าใหญ่เรียกประชุมด่วนเป็นหนที่สามภายในไม่ถึงอาทิตย์ หลังจากเคาะตัวเลขสองหนช่วงสิ้นเดือนตุลาต่อพฤศจิกา แล้วมีนัดคุยกันอีกพรุ่งนี้ (๗ พ.ย.)

จะเป็นเพราะมีชาวนาฆ่าตัวตายอีกคนที่สุรินทร์หรือเปล่าไม่รู้ได้ แต่แน่ๆ คงรับฟังโรงสีบ้างแล้วละ เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอโทษสมาคมโรงสีแล้วนี่ ที่ไปกล่าวหาพวกเขาสมคบนักการเมืองบีบราคาข้าวเปลือก จนประกาศยุติบทบาทกันทั้งทีม

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสี “ตัดพ้อว่าโรงสีเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ทำงานไม่เคยหยุด ไม่เคยปฏิเสธการรับซื้อข้าวเหมือนสินค้าเกษตรชนิดอื่น





ทั้งที่รัฐบาลเจียดเงินชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีน้อยนิดเพียงหลักพันล้านบาท เพื่อแลกกับการให้โรงสีใช้วงเงินเครดิตของโรงสีขอสินเชื่อมาซื้อข้าวสาร ๒ ล้านตันจากเกษตรกร ซึ่งเทียบเป็นเงินถึง ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท และสุดท้ายก็โยนความผิดว่าโรงสีกดราคา”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478401682)

พิกัดราคารับจำนำข้าวและยุ้งฉางของรัฐบาล คสช. ล่าสุดที่คณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติออกมาเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายนนี้ อยู่ที่ตันละ ๑๓,๐๐๐ บาท บวกกับเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตอีก ๒,๕๙๑ บาท รวมทั้งสิ้นชาวนาจะได้ ๑๕,๕๙๑ บาทต่อตัน

ขณะที่ข้าวนาปีของการผลิตประจำปี ๕๙/๖๐ กำลังจะออกมาชนกับข้าวนาปรังของภาคกลางที่ปีนี้ล่าช้ากว่าปกติ ๒-๓ เดือน จะทำให้ข้าวทะลักท่วมตลาดเหมือนน้ำ ซ้ำยังมีข้าวสารค้างสต็อกอีก ๘-๙ ล้านตัน ‘รอระบาย’ เหมือนกัน

งานนี้ได้พิสูจน์ ‘กึ๋น’ คสช. กันจะจะ ว่าสามารถแก้วิกฤติสำคัญของกระดูกสันหลังชาติได้หรือไม่ หมดเวลาอ้างกล่าวหารัฐบาลที่แล้ว เพราะใช้ ม.๔๔ มอบหมายกระทรวงคลังฟันค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ๓.๕ หมื่นล้านไปแล้วนี่





ครั้นจะโทษสถานการณ์ตลาดโลกก็ใช่ที่ เพราะนี่แหละคือโจทย์พิสูจน์สมรรถภาพการทำงานบริหารประเทศ ที่ไปยึดแย่งเขามาเมื่อสองปีกว่ามาแล้ว

รายงานสถานการณ์ดังกล่าวโดย ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ระบุว่า “ตลาดข้าวโลกดูไม่สู้ดี เนื่องจาก ‘ซัพพลายข้าว’ ที่ล้นตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างรุนแรงทั้งระหว่างผู้ส่งออกไทย-ผู้ส่งออกต่างชาติ (เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย)

และระหว่างผู้ส่งออกไทยหน้าใหม่ที่มาจากกลุ่มโรงสี และผู้ส่งออกไทยหน้าเดิมที่เป็นเจ้าตลาด ไปขาย ‘ข้าวสารหอมมะลิ’ ตัดราคาที่ตลาดจีน (เสิ่นเจิ้น) เหลือตันละ ๖๕๐ เหรียญสหรัฐ ต่ำที่สุดในรอบ๘ ปี”

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ อีกหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมโรงสีที่ขอหยุดบทบาท ชี้ว่า “การแข่งขันรุนแรงไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกไทยเท่านั้นยังมีซัพพลายจากทั่วโลกออกมาพร้อมกัน...

เรายืนยันว่าราคานี้ต่ำมากแล้ว คุณภาพก็ดีกว่า ทางผู้นำเข้าทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ยอมรับราคานี้ได้และสนใจซื้อ แต่ขอให้ส่งมอบปีหน้า เราไม่กล้ารับออร์เดอร์”

สภาพมืดมนในอุโมงค์ของชาวนาเช่นนี้ ทำให้นายเสงี่ยม คุดรัมย์ ชาวนาบ้านโนนสูง จังหวัดบุรีรัมย์ ป่วยซึมเศร้า “บ่นว่าข้าวเปลือกราคาถูกมาก กระสอบหนึ่ง ๗๐-๘๐ กิโลเคยขายได้ ๑,๐๐๐ บาท ตอนนี้ขายได้แค่ ๔๐๐-๔๘๐ บาทเท่านั้น

คาดว่าผู้ตายอาจจะเครียดที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เมื่อนำไปขายได้เงินน้อย ประกอบกับโรคเครียดกำเริบ จึงตัดสินใจผูกคอตาย”

(https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_85720)

ไม่เฉพาะแต่ข้าว ผลิตผลเกษตรอื่นก็พลอยราคาตกไปด้วย เมื่อสิ้นเดือน (ตุลาคม) ที่ผ่านมา มีรายงานว่า “ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยราคาข้าวโพดฝักที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ ๓-๓.๕๐ บาท โดยราคาข้าวโพดเมล็ดแห้งอยู่ที่กิโลกรัมละ ๖ บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์รับซื้อที่กิโลกรัมละ ๘ บาท”

โดยพบว่าสาเหตุที่ราคาข้าวโพดตกเพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์หันไปซื้อข้าวสาลีและกากข้าวโพดราคาถูกกว่า ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน

(http://www.thairath.co.th/content/769056)

ที่ยะลา ผลไม้ลองกองเคยเป็นผลิตผลขึ้นชื่อมีราคา ทุกวันนี้ชาวสวนเจอแต่ ‘ระกำ’ ด้วยเช่นกัน

“ลองกองหน้าสวนขายได้กิโลกรัมละ ๖ บาท แต่มีค่าจ้างคนงานขึ้นไปเก็บลองกองบนต้น กิโลฯละ ๒ บาท ค่าจ้างเท กิโลฯ ละ ๑ บาท และค่าจ้างขนลองกองออกจากสวนอีกกิโลฯ ละ ๑ บาท สรุปชาวสวนเหลือรายได้จริงๆ แค่ ๒ บาท ยังไม่นับค่าปุ๋ยและค่าดูแลสวน”

(http://www.isranews.org/south…/documentary/…/51415-crop.html)

ไม่เฉพาะเจ้าของสวนที่เผชิญผลิตผลราคาตก ต้องเลิกจ้างคนเก็บ ให้ลูกขาดเรียนมาช่วยเก็บลองกอง ผลกระทบลูกโซ่ไปถึงคนงานรับจ้าง

“ปกติได้ค่าจ้างกิโลฯละ ๒ บาท นายจ้างเลี้ยงข้าวและน้ำ จึงมีค่าใช้จ่ายแค่น้ำมันรถเดินทางไปสวนลองกองและขนออกมา แต่ปีนี้ราคาตกทำให้ไม่ค่อยมีใครจ้าง หรือถึงจะจ้างก็มีเงื่อนไขเยอะ”

ระกำลูกโซ่ยังต่อเนื่องไปถึงพ่อค้าคนกลาง “ราคาขายลองกองในตลาดยะลาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๗-๘ บาทเท่านั้น และ

พ่อค้าก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ทั้งค่าแรงเด็กขนลองกอง ค่าน้ำค่าข้าวที่เลี้ยงคนงาน รวมทั้งน้ำมันรถ สุดท้ายก็เหลือกิโลกรัมละ ๑ บาท ในแง่ความคุ้มก็คงไม่คุ้ม...

ทุกวันนี้ยางก็ถูก ผลไม้ก็ยังมาราคาต่ำอีก ผลกระทบเกิดกับทุกคน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”






ยุคสมัยรัฐบาล คสช. นี่ระกำกันเหนือจดใต้ เห็นกูรูเศรษฐกิจ สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ พูดหลายหนตอนนี้ขาขึ้นปีหน้าดีแน่

“ในเดือน พ.ค.ปีหน้านั้น มั่นใจว่าอันดับของประเทศไทยจะปรับขึ้น และติด ๓๐ อันดับแรก จากปัจจุบันไทยมีอันดับอยู่ที่ ๔๖ โดยจะมีการทบทวนแก้ไข ๔-๕ จุดที่จะทำให้อันดับปรับขึ้นได้”

“นอกจากนี้ จะมีการว่าจ้างธนาคารโลกมาเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาการจัดอันดับความยากง่ายการทำธุรกิจ โดยจะให้ธนาคารโลกระบุลงในรายละเอียดเลยว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ไทยต้องแก้ไข จะได้ดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุด”

(http://terrabkk.com/?p=156205)

ว่ากันว่าโครงการว่าจ้างธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ ประเทศไทยคงจะเจ็บกระเป๋าถึง ๖๐ ล้านบาท

โอ้ลอร์ด พระเจ้าจ๊อร์จ เกษตรกรกุมขมับ เครียด ซึมเศร้า ไม่มีจะกิน หนี้ล้นพ้นตัว ทั่นรองฯ จะเอางบประมาณแผ่นดินไปทุ่มอีก ๖๐ ล้าน เพื่อให้ติดอันดับ ๓๐ หรือนี่

ขาซ้าย คสช. คิดอะไรไม่ไกลกับรอยหยักในกมลของหัวหน้าเลยนะ