วันพุธ, พฤศจิกายน 09, 2559

"แยกแยะอย่างไรใครสร้างภาพจริง-ภาพเทียม"





บทสัมภาษณ์ ดร.นันทนา นันทวโรภาส

"แยกแยะอย่างไรใครสร้างภาพจริง-ภาพเทียม"
#ไขลานความคิด
link http://news.voicetv.co.th/thailand/429702.html
7 พฤศจิกายน 2559 
Voice TV


ฟ้ารุ่ง ศรีขาว สัมภาษณ์ ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ทำความเข้าใจการสร้างภาพให้บรรลุเป้าหมายในการสื่อสารการเมือง

ขณะที่ข้อกล่าวหากันทางการเมืองไหลบ่าจนอาจทำให้หลายคนเมาหมัดกับการจัดการแยกแยะความจริง-ความลวง หนึ่งในข้อโจมตีเพื่อลดความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้ามคือ “การสร้างภาพ” แต่คำถามคือ การสร้างภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกคนรวมถึงคนที่กล่าวหาคนอื่นด้วย หรือว่าเป็นความผิดปกติที่มีแต่ในเฉพาะบางคน และการสร้างภาพให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องยึดโยงกับความจริงหรือเพียงแต่สร้างภาพขึ้นมาลอยๆ อย่างไรก็ได้





ดร. นันทนา นันทวโรภาส



-ในการเมืองมีใครหรือไม่ที่ “ไม่สร้างภาพ”

ต้องทำความเข้าใจคำว่า “การสร้างภาพ” ภาพลักษณ์หรืออิมเมจในทางการเมือง มีความสำคัญมากๆ เพราะประชาชนทั่วไปไม่อาจรู้จักนักการเมืองตัวเป็นๆ ได้ เขาจะรู้จักผ่านสื่อ ฉะนั้น การปรากฏตัวผ่านสื่อก็ต้องนำเสนอภาพที่อยากให้คนรับรู้ว่าคนนี้มีลักษณะเช่นไร เช่น บางคนมีภาพเป็นคนห่วงใยสิ่งแวดล้อม เป็นคนรักประชาธิปไตย

ไม่มีใครไม่สร้างภาพในทางการเมือง ภาพลักษณ์สำคัญมากเพราะนักการเมืองต้องฉายภาพพึงประสงค์ผ่านสื่อ เพื่อเพิ่มคะแนนนิยม ถ้านักการเมืองฉายภาพไม่พึงประสงค์ ก็ไม่ครองใจประชาชน ไม่ชนะการเลือกตั้ง ภาพลักษณ์ จึงมีความหมาย มีผลต่อการนั่งอยู่ในใจประชาน รวมไปถึงอาจมีผลให้แพ้การเลือกตั้งเพราะสร้างภาพไม่พึงประสงค์ต่อประชาชน

-เมื่อทหารเข้ามาในการเมืองต้องมีการสร้างภาพด้วยหรือไม่

ทหารไม่อาจหลีกเลี่ยงการสร้างภาพให้เป็นที่รับรู้อยู่ในใจประชาชน เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน หรือทหารจะต้องตกอยู่ในภาพที่ประชาชนรับรู้

ถ้านายทหาร ข้าราชการจะเข้ามาอยู่ในการเมืองก็มีความจำเป็นต้องทำให้ภาพตัวเองเป็นที่พึงประสงค์ จึงจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ยกเว้นจะไม่สนใจ ไม่แคร์ความรู้สึกประชาชน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นสร้างภาพเชิงบวกในความรู้สึกของประชาชน

แต่ถ้าอยากอยู่ในกลไกประชาธิปไตยที่ต้องการการยอมรับสนับสนุนจากประชาชนก็ต้องสร้างภาพเชิงบวก

-การสร้างภาพเป็นสิ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือไม่ เป็นสิ่งน่ารังเกียจหรือเปล่า

การสร้างภาพต้องยึดโยงกับความจริง ถ้าสร้างภาพโดยไม่มีพื้นฐานความจริงการสร้างภาพนั้นจะล้มเหลว คนไม่อาจ “เฟค” หรือนำเสนอภาพที่ขัดกับตัวตนตามความเป็นจริงได้ตลอดไป เพราะจะช้าหรือเร็วความจริงก็จะปรากฏ เช่น ดารานักแสดงที่มีภาพลักษณ์ดี แต่พอเกิดปรากฏการณ์ไม่คาดคิด ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ แสดงธาตุแท้ออกมา ก็ทำให้คนรู้ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไร คนก็จะรับรู้ได้ ฉะนั้น การสร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่สร้างจากสิ่งไม่จริง ต้องยึดโยงความเป็นจริง

การสร้างภาพเป็นเพียงการฉายภาพที่ผ่านการปรุงแต่งให้ดูดี แต่ไม่ใช่ของเทียมทั้งหมด หากนักการเมือง ทหาร ดารานักแสดง ฉายภาพเทียมออกไป สุดท้ายความจริงก็จะปรากฏ เมื่อคนก็จะรับรู้ตัวตนที่แท้จริง ผลเสียจะเกิดกับคนคนนั้น คือ คนก็จะไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา ความนิยมจะหมดไป

-ถ้าของจริงมีดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้อง “สร้างภาพ”

การสร้างภาพไม่ใช่การทำใหม่ แต่เป็นการฉายภาพผ่านการปรุงแต่งให้สอดคล้องกับกาละเทศะ นักการเมืองต้องปรุงแต่งภาพให้สอดคล้องกับความเป็นตัวของตัวเองบวกกับความพอใจของประชาชน เช่น นักการเมืองที่มีจิตอาสา ออกไปช่วยเหลือประชาชนตามกาละเทศะที่เหมาะสมก็จะเป็นการช่วยเพิ่มคะแนนนิยม

ในขณะที่หากความจริงนักการเมืองคนนั้นไม่ใช่คนที่อยากช่วยเหลือคน ภาพที่ออกมาก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง สร้างภาพให้ขัดกับตัวตนที่แท้จริงก็จะรักษาภาพลักษณ์นั้นไม่ได้ ประชาชนรับรู้ได้ว่าภาพลักษณ์นั้นไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง

-แยกแยะอย่างไรใครสร้างภาพจริง-ภาพเทียม

ถ้านักการเมือทำชั่วครั้งชั่วคราว เกาะกระแสแล้วจบ คนก็ดูออกว่าเป็นภาพเทียมเพื่อหวังคะแนนนิยมช่วงสั้นๆ ทั้งทหาร นักการเมือง นักแสดง ถ้าต้องการภาพจำที่ประทับความรู้สึกประชาชนต้องฉายภาพตัวตนจริงๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เกาะกระแส สร้างพื้นที่สื่อชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าฉายภาพต่อเนื่องสุดท้ายคนจะศรัทธา

-ทหารกับนักการเมืองและดารานักแสดงใครสร้างภาพเก่งกว่ากัน

ดารานักแสดงถนัดสร้างภาพให้ดูดีได้มากกว่า เพราะมีเครื่องมือใช้สื่อ เลือกบทดีๆ ในการแสดงละคร ดูเป็นเจ้าหญิงทำให้คนจดจำรับรู้ภาพในเชิงบวกได้มากกว่าทหารหรือนักการเมือง ซึ่งถ้าเราเราสามารถแยกแยะออกก็จะรู้ว่านักแสดงกำลังแสดงไม่ใช่ของจริง แต่นักแสดงก็แยกภาพลักษณ์กับชีวิตจริง ได้ยากเพราะชีวิตของเขาอยู่กับการแสดงตลอดเวลา

ส่วนทหารกับนักการเมือง สำหรับนักการเมืองโดยทั่วไปทำงานกับสื่อและประชาชนจึงมีแนวโนมเข้าใจการนำเสนอภาพผ่านสื่อได้ดีกว่าทหาร แต่ช่วงเวลานี้ทหารครอบครองสื่อได้มากกว่า จึงใช้พื้นที่สื่อได้มากกว่านักการเมือง สร้างภาพได้มากกว่าในเชิงพื้นที่ แต่ถ้าใช้สื่อไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ หากจะถามว่าทหารกับนักการเมืองใครสร้างภาพเก่งกว่ากันก็ต้องดูเป็นกรณีไป

เช่น กรณีทหารไปเกี่ยวข้าว ดูจากภาพ ทหารใส่ชุดเข้ารูปฟิตเปรี๊ยไปเกี่ยวข้าว จะไปเกี่ยวได้อย่างไร เป็นความตั้งใจสร้างภาพเกินไปไหม ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็อาจจะรู้สึกว่า ดีจังเลยทหารไปช่วยชาวนา แต่ถ้าคิดอย่างมีตรรกะแล้ว การแต่งกายแบบนี้คือจะไปช่วยชาวนาหรือจะไปงานพิธีหรือจะไปสวนสนาม เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจหรือสร้างภาพลอยๆ อย่างชั่วครั้งคราว ถ้าทำอย่างจริงใจก็สามารถใส่เสื้อคอกลมสีเขียวขี้ม้าที่ปฏิบัติกันจริงๆ จะเหมาะกว่าไหม ใส่ชุดเต็มยศแบบนั้นแล้วก้มลงไปเกี่ยวข้าวได้หรือเปล่า เกี่ยวได้กี่รวง มีความพยายามทำให้ภาพออกมาดูดี แต่ดูแล้วไม่จริงใจ เป็นปัญหาการใช้พื้นที่สื่อได้เยอะ แต่จะเป็นประโยชน์ไหมก็ต้องทำให้ดีกว่านี้

-ในแง่ภาพอาจจำเป็นต้องใส่ชุดเต็มยศเพื่อให้เห็นว่าเป็นภาพทหารหรือเปล่า?

ตั้งใจสร้างภาพมากไปไหม ใส่ชุดคอกลมเขียวขี้ม้าใครก็รู้ว่าเป็นทหาร ต้องทำให้ดูจริงกว่านี้ ขณะที่ภาพเต็มยศใส่ได้ไม่ถึงครึ่งวันก็ต้องถอดแล้ว มีใครไปตามต่อไหมใส่ชุดแบบนั้นแล้วเกี่ยวข้าวได้กี่ชั่วโมง ในเชิงตรรกะมันไม่ไปด้วยกัน ภาพแบบนี้มันลอยๆ มาชั่วครั้งคราว ดูแล้วเกิดคำถามว่า การใส่ชุดแบบนี้ไปเกี่ยวข้าวจะมีทุกวันไหม จะมีการไปทำต่อเนื่องไหม การสร้างภาพฉาบฉวยแบบนี้ ถ้าใครเชื่อก็แสดงว่าใช้เหตุผลน้อยไปหน่อย

-นักการเมืองโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าสร้างภาพ เราควรให้น้ำหนักกับข้อโจมตีนี้อย่างไร

ประชาชนจะใช้วิจารณญาณเอง กล่าวหากันลอยๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะการเมืองที่แบ่งฝ่ายกันชัดเจน ประชาชนจะต้องใช้วิจารณญาณว่า ภาพลักษณ์ที่ถูกฉายออกมานั้นเป็นตัวตนจริง หรือ สร้างมาเพื่อหวังผลคะแนนนิยมชั่วคราว มีการทำงานสม่ำเสมอหรือทำเป็นครั้งคราว

สำหรับคนที่ไม่มีผลงานจะไปมีภาพอะไรให้คนเขาจดจำ ไปว่าคนอื่นสร้างภาพ แต่ตัวเองไม่มีภาพอะไรให้คนเขาจำ ถือว่าน่ากลัวทางการเมือง เพราะไม่มีอะไรเป็นภาพจำ แต่พอคนมีคนทำงานต่อเนื่องมาจากภาพจริงทำงานเพื่อประชาชน ก็ไปหาว่าเขาสร้างภาพ