วันเสาร์, พฤศจิกายน 05, 2559

ย้ายแล้วเงียบๆ ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช + คลิปย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย 11 ตุลาคม 2476 กบฏบวรเดช





ย้ายแล้วเงียบๆ ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช

ที่มา มติชนออนไลน์
4 พ.ย. 59


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จิรฐา วัฒนประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งภาพประชาสัมพันธ์เรื่อง รฟม.จัดพิธีสักการะอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมการย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์ฯ และก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) วันที่ 3 พฤศจิกายน ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายกิตติ เอกวัลลภ ผู้จัดการโครงการสัญญาที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา PCGRN บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 และผู้แทนกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กองทัพบก จัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบำเพ็ญอุทิศกุศลแด่บรรพชนทหารหาญ เพื่อดำเนินการย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญและก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ณ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การย้ายอนุสาวรีย์ฯในครั้งนี้ รฟม.ไม่ได้แจ้งสื่อมวลชนแต่อย่างใด และใช้วิธีทำพิธีสักการะอย่างเงียบเชียบ ก่อนจะส่งภาพให้สื่อมวลชน เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทางสังคม โดยได้เคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมไปทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออก มุ่งหน้าสะพานใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน

ทั้งนี้ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองการปราบกบฏบวรเดช โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม

โดยอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยยึดหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ โดยถูกออกแบบให้คล้ายเสากระสุนปืนใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตแปดเหลี่ยม มีกลีบบัวประดับขึ้นไปสองชั้น ยอดของกลีบบัวมีพานรัฐธรรมนูญ สะท้อนการสละชีพเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผนังด้านหน้าจารึกรายชื่อทหารและตำรวจที่เสียชีวิต การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2479 มีการทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมปีเดียวกัน

มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้งโดยกรมทางหลวง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดโดยรอบอนุสาวรีย์ อาทิ การปรับภูมิทัศน์เป็นสี่แยกและการขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้างอนุสาวรีย์เพื่อเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) และรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อ่านเพิ่มเติมได้ในณัฐพล ใจจริง,กบฎบวรเดช : เบื้องแรกปฎิปักษ์ปฎิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2559 หน้า 248-256


ooo

03 ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย 11 ตุลาคม 2476 กบฏบวรเดช


https://www.youtube.com/watch?v=FE44SS9IU_s

thaitruthstory

Published on Oct 19, 2013

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช" ซึ่งเป็นกบฎครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง โดยคณะทหารในนาม "คณะกู้บ้านกู้เมือง" นำโดย พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พล.ต. พระยาจินดาจักรัตน์ พล.ต. พระยาทรงอักษร และ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้นำกองกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา บุกเข้ายึดดอนเมืองและพื้นที่ทางด้านเหนือของพระนคร โดยตั้งกองอำนวยการใหญ่อยู่ที่สโมสรทหารอากาศ กรมอากาศยาน ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 11-25 ตุลาคม 2476 แล้วยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่พอใจที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งคณะผู้ก่อการมองว่ามีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ กลับมาร่วมคณะรัฐบาล นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ได้ตอบปฏิเสธ และส่งกำลังกองผสมนำโดย หลวงพิบูลสงคราม เข้าปราบปรามจนได้ชัยชนะในวันที่ 25 ตุลาคม 2476 จากนั้น พระองค์เจ้าบวรเดช ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้าง "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" (คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "อนุสาวรีย์หลักสี่") ขึ้นที่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎครั้งนี้