วันอังคาร, มีนาคม 19, 2567

‘เศรษฐา’ ไม่กล้าประกาศไฟป่าเชียงใหม่ภัยพิบัติ กลัวนักท่องเที่ยวไม่มา แต่ซีเอ็นเอ็นประโคมไปแล้วทั่วโลกอากาศเชียงใหม่เลวร้ายขนาดไหน

นายกฯ เศรษฐาเขียนทวิตเตอร์แก้ตัวหลังจากเป็นข่าว แกนนำฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมไม่มีการประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน จะได้สามารถนำงบกลางออกมาใช้ ว่า “เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า”

ทางลบ ที่นายกฯ ว่านั้นก็คือ “จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัว...เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที”

แต่ข้อเท็จจริง ณ เวลานี้ ปัญหาฝุ่นจิ๋วเป็นพิษอันเนื่องมาจากไฟป่าในพื้นที่เชียงใหม่ เลวร้ายเสียจนทำให้สำนักซีเอ็นเอ็นกระจายข่าวออกไปทั่วโลกแล้ว เป็นอันว่ามุมมองทางด้านธุรกิจของ เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ผลกับเรื่องภัยพิบัติ

ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องขี้ปากชาวบ้าน (ไซเบอร์) อย่าง @janthawoot ที่ว่า “อะไรก็ตามมันเน่าก็จะซุกไว้ใต้พรม สร้างภาพว่าไทยยังอากาศดีนะ มาเที่ยวเยอะๆ สิงี้สินะ ผลต่อสุขภาพประชาชนไม่สนใจ...ยังไงเขาเข้ามาเขาก็เห็นเหมือนเดิม”

บก.ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ น่าจะเป็นบุคคลสาธารณะที่รู้เรื่องดับไฟป่า (หรือขจัดภัยพิบัติโดยรวม) กว่าใคร ในฐานะที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในมูลนิธิกระจกเงา และนำทีมไม่ต่ำกว่า ๕๐ คนขึ้นไปช่วยทางการดับไฟป่าเชียงใหม่

เนื่องจากทีมของเขามีอุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย เช่นโดรนความร้อน และระบบจีพีเอสจากดาวเทียม สมบัติคุยกับรายการ หาเรื่องคุยของช่องเนชั่นว่าที่เขาท้วง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่างบภัยพิบัติที่ถามหานั้นจริงๆ แล้วถึงจะมีการประกาศก็อาจไม่ได้

งบกลางซึ่งเศรษฐาอ้างว่าสั่งการให้นำออกมาใช้ ๒๐๐ กว่าล้านนั้น โดยระเบียบราชการจะไปให้กับสองหน่วยงาน คือป่าไม้กับอุทยานแห่งละร้อยกว่าล้าน งบภัยพิบัติส่วนนี้เขาทราบมาว่า มีการจองเอาไปใช้เรื่องอื่นๆ หมดแล้ว

อย่างไรก็ดีนายกฯ เศรษฐาบอกว่างบกลางที่ตนจัดให้นี้เป็นงบฉุกเฉิน ที่สามารถเบิกจ่ายได้แล้วในวันที่ ๑๖ มีนา ซึ่ง ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ ผู้ดำเนินรายการเนชั่นสตอรี่ ระบุว่าทางโฆษกรัฐบาลเผยว่างบร้อยกว่าล้านของแต่ละหน่วยงานนั้นจะนำไปใช้ ๖ รายการ

ซึ่งรวมถึงค่าอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องเป่าลมดับไฟ และค่าจ้างประชาชนหน่วยอาสาเฝ้าระวังไฟป่า จุดละ ๓ คน แต่ทั้งหมดไม่ปรากฏว่ามีการจัดซื้อโดรนมาไว้ใช้ บก.ลายจุดบอกว่าจึงจะช่วยงานดับไฟป่าได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สมบูรณ์

ทั้งโดรนและจีพีเอส หากมีพร้อมมือจะทำให้การดับไฟป่าทำได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพ หน่วยดับไฟป่าของรัฐ (หน่วยละราวสิบกว่าคน) บางหน่วยพอมีโดรนใช้บ้าง แต่เป็นโดรนที่เจ้าหน้าที่ซื้อกันเองไม่ใช่โดรนความร้อน ซึ่งราคาตัวละราว ๒ แสนบาท

(https://twitter.com/nuling/status/1769877886700605698 และ https://twitter.com/Thavisin/status/1769261841841344678)