วันอังคาร, พฤศจิกายน 22, 2559

‘กระทรวงดิจิทัลจะตั้งศูนย์กลางบล็อคเว็บไซต์’ เสกเว็บให้หายไปง่ายกว่าเดิม : การกลับมาของ Single Gateway




‘กระทรวงดิจิทัลจะตั้งศูนย์กลางบล็อคเว็บไซต์’ เสกเว็บให้หายไปง่ายกว่าเดิม : การกลับมาของ Single Gateway


by TEEPAGORN CHAMP WUTTIPITAYAMONGKOL
Source: The Matter


ปกติแล้ว การเสกเว็บให้หายไปดังบันดาล (ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ทางความมั่นคง หรือทางกฎหมายก็แล้วแต่) จะมีขั้นตอนที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้รับการอนุมัติจากศาลแล้ว จะต้องติดต่อไปยัง ISP ต่างๆ เพื่อขอให้นำเว็บดังกล่าวลง แต่ในร่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุด ดูเหมือนว่า รัฐกำลังจะขอรวบฮุบอำนาจมาไว้ที่ตนเอง ทำให้ตนสามารถเสกเว็บให้หายไปได้ โดยไม่ต้องรอ ISP

นั่นคือ เดิมที คนที่ต้องการปิดเว็บ คนที่อนุมัติว่าจะให้ปิดหรือไม่ และคนที่ดำเนินการปิดเว็บไซต์ได้จริง เป็นคนละคนกัน โดยคนที่ต้องการปิดเว็บอาจเป็นรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ พ.ร.บ. คอมฯ คนที่อนุมัติคือศาล และคนที่ดำเนินการปิดจริงๆ คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เนตหรือ ISP




จากการเปิดเผยของ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จาก Thai Netizen เช้านี้ พบว่า ร่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่จะมีการนำเสนอร่างในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายนจะมีการเพิ่มอำนาจของรัฐให้มากขึ้นโดยมีการตั้งข้อสังเกตในร่างมาตรา 20 ที่ให้อำนาจรัฐระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ และร่างประกาศข้อ 4 ให้กระทรวงดิจิทัลตั้งศูนย์ เพื่อระงับหรือลบเว็บไซต์ได้เอง ซึ่งอาจเชื่อมกับผู็ให้บริการ (นั่นคือ ISP, Data Center และโฮสต์ต่างๆ) เพื่อระงับข้อมูลหรือลบเว็บไซต์ได้เอง

นอกจากนั้น ยังให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัล เก็บข้อมูลการจราจรไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี




“เมื่อมีการประกาศร่างออกมาเช่นนี้ก็หมายความว่า 3 ส่วนนี้ สามารถเป็นคนเดียวกันได้ในทางปฏิบัติ นั่นคือ แม้ในทางเอกสารศาลจะยังไม่อนุมัติ แต่ศูนย์ฯ กดปุ่มปิดได้เองแล้ว ไม่ต้องรอผู้ให้บริการ พอเป็นแบบนี้

1. การปิดก่อนคำสั่งศาลอาจเกิดขึ้นได้

2. อาจไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำอะไรลงไป”

ซึ่งเดิมทีแล้ว ผู้ให้บริการจะเรียกร้องคำสั่งศาลจากรัฐ เนื่องจากเป็นการปกป้องตัวเองด้วย

.......
อาทิตย์อธิบายว่า “ในทางปฏิบัตินี่แหละคือซิงเกิลเกตเวย์” เพราะเป็นหน่วยเดียวที่ควบคุมการเปิดปิดทั้งหมด ไม่ต้องกระจายอำนาจไปสู่หน่วยอื่น
......

ถึงแม้ในร่างพ.ร.บ. คอมฯ ฉบับนี้จะยังต้องให้เจ้าหน้าที่รอคำอนุมัติจากศาลก่อน แต่ในทางปฏิบัตินายอาทิตย์ก็ชวนตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วศาลสามารถพิจารณาอย่างไรให้ทันได้ เพราะบางครั้ง 1 คำร้องก็มี 400 URL (หน้าเพจ) โดยเฉลี่ย บางคำร้องเป็นพัน URL ซึ่งขออนุมัติเช้า ได้อนุมัติบ่าย เป็นไปได้ไหมว่าจะดูไม่ทัน

เมื่อสอบถามนายอาทิตย์ว่าแล้วประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้าไม่พอใจ นายอาทิตย์ก็เสนอแนะว่า “อยากให้ทุกคนออกมาแสดงความเห็น จะเป็น Facebook Live สั้นๆ ก็ได้ หากลองอ่านดูแล้วมาตราไหนชอบไม่ชอบ ก็บอกให้เพื่อนๆ ในเฟซฟังเลย หรือถ้าอ่านไม่เข้าใจ ก็บอกมาเลยว่าไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นหน้าที่ที่คนเขียนต้องเขียนให้เราเข้าใจ”

และเชิญชวนติดแฮชแท็ก #พรบคอม #เราอ่านแล้ว #เราไม่โอเค (หรือถ้า #เราโอเค ก็ว่าไป) เพื่อให้คนทำงานสามารถรวบรวมไปฟีดแบ็กกระทรวงได้

พวกเราผู้ใช้อินเทอร์เนตทุกคนสามารถเข้าไปอ่านร่างพ.ร.บ. ทั้งหมดได้ที่ https://ictlawcenter.etda.or.th/activities/detail/public-hearing-CC-bills

และในวันที่ 23 พฤศจิกายนก็จะมีการนำเสนอร่างนี้ต่อสาธารณชนที่อาคารรัฐสภา (สามารถวอล์คอินได้)