วันเสาร์, พฤศจิกายน 26, 2559

ศิลปะแจกเงิน





หน้า 8 : ศิลปะแจกเงิน


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
25 พฤศจิกายน


แม้จะเป็นเงินจำนวนเท่ากัน
แต่ระหว่างการโยนเงินให้บนโต๊ะ กับการมอบให้กับมือ
“ความรู้สึก” ของ “คนรับ” ก็แตกต่างกัน
“การแจกเงิน” จึงเป็น “ศิลปะ” การใช้เงินรูปแบบหนึ่ง
แจกอย่างไร “คนรับ” จะรู้สึกดี
แจกอย่างไรจะทำให้เงินหมุนหลายรอบ
ที่สำคัญที่สุดก็คือ หลักคิดพื้นฐานในการคิดนโยบายต่างๆ ต้องมีที่มา-ที่ไป
ในยุครัฐบาลทักษิณ ที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหนึ่งในทีมงาน
หลักคิด 30 บาทรักษาทุกโรค คือ การลดรายจ่ายของประชาชน
การจ่าย 30 บาท เป็นการทำให้ประชาชนรู้สึกว่า “มีเกียรติ” เป็นผู้ใช้บริการ
หรือกองทุนหมู่บ้าน ก็คือ การอัดฉีดเงินพุ่งตรงไปที่หมู่บ้านทันที
ไม่ผ่านระบบราชการที่ล่าช้า
หรือการจำนำข้าวที่แม้จะมี “จุดอ่อน” มากมาย
แต่เป็นการอุดหนุนผ่านการซื้อขาย
แจกเงินชาวนา แบบให้เกียรติชาวนา
เพราะเป็นการซื้อขาย
ไม่ใช่ “ให้ทาน”

รัฐบาลชุดนี้ต้องยอมรับว่าแม้จะมีความตั้งใจดี
แต่ “ศิลปะ” การจัดการต่ำมาก
การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ คือตัวอย่างที่ชัดที่สุด
การกำจัดทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นเป้าหมายที่ดี
แต่วิธีการแย่ ถึงแย่ที่สุด
ทั้งที่รู้ว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยตัวเดียวที่เหลืออยู่คือ การท่องเที่ยว
และนักท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยสูงสุด
คือ ทัวร์จีน
แทนที่จะปราบปรามแบบค่อยเป็นค่อยไป กลับทำแบบถอนรากถอนโคน ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างรุนแรง
นักท่องเที่ยวจีนหายหมด
โรงแรมระดับ 4 ดาวทั้งใน กทม. เชียงใหม่ พัทยา เดี้ยงสนิท
เครื่องยนต์เหลืออยู่ตัวเดียว
แทนที่จะรักษา กลับทำลายทิ้ง

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
รองนายกฯ สมคิด เคยโชว์ฟอร์มครั้งหนึ่งที่ถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูง
นั่นคือ “ช็อปช่วยชาติ” ตอนช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว
นำใบเสร็จมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท
แต่มาตรการล่าสุด “แจกเงินคนจน” ของรัฐบาลกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
เพราะเป็นกลยุทธ์ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่”
ขึ้น ฮ. โปรยเงิน
คล้ายๆ กับที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยทำมาก่อน
แจกเงิน 2,000 บาทให้คนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท
เป้าหมายของการแจกเงินครั้งใหม่ คือ เพิ่มกำลังซื้อให้รากหญ้า
แต่วิธีการที่ใช้นั้นเหมือนการรดน้ำกลางทะเลทราย
เพราะเงินที่แจกจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แล้วหายไป
“ประชานิยม” ที่เป็นกระดูกตำคอรัฐบาลอยู่ในเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ไม่ใช่คิดจะแจกก็แจก
แล้วบอกว่า “ยั่งยืน”