วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 27, 2559

จะเกิดอะไรขึ้นกับไทย หากอเมริกาถอนตัวจาก ทีพีพี?





จะเกิดอะไรขึ้นกับไทย หากอเมริกาถอนตัวจาก ทีพีพี?


BY SARA BAD ON NOVEMBER 25, 2016
ISPACE THAILAND


เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาถกเถียงกันอีกครั้ง สำหรับความตกลงหุ้นส่วนส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) เมื่อนายโรโนล์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศกร้าวว่าจะยกเลิกข้อตกลงนี้ทันทีหลังจากขึ้นรับตำแหน่ง โดยเป็น 1 ใน 6 แผนงานหลักที่รัฐบาลจะทำทันที เพื่อผลักดันนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First)

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งในไทยและเทศ ว่าการถอนตัวของสหรัฐดังกล่าวจะเกิดผลอย่างไรขึ้น เพราะหากกล่าวถึงทีพีพีแล้ว หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็คือตัวของสหรัฐเอง โดยเฉพาะในสมัยของนายบารัค โอบามา ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

จุดเริ่มต้นของทีพีพีเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทีพีพีเกิดขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันระหว่างประเทศบรูไน สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี ที่เรียกว่า 4P ต่อมาสหรัฐฯ ได้พยายามเจรจาการค้าเสรีกับประเทศริมฝั่งแปซิฟิค ทำให้เกิดประชาคม APEC (Asian Pacific Economic Community)

ต่อมาในปี 2008 สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี กับกลุ่ม 4P ตามข้อ 2 โดยสหรัฐฯ ได้แสดงบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรี ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership: TPP หรือ TPP 8 โดยได้เชิญอีก 4 ประเทศมาร่วม ทำให้มี 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมาร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว โดยเรียกชื่อว่า TPP 8[1] ต่อมาใน ค.ศ. 2013 สหรัฐฯ ได้เชิญประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก TPP อีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย และเม็กซิโก ทำให้สมาชิก TPP มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2013 จึงเรียกว่า TPP 12 [2]

จะเห็นได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯ นั้น มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และพัวพันในเอเชียยิ่งขึ้น อาจพิจารณาไปได้ว่า สหรัฐฯ ต้องการลดอิทธิพล และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ได้[3] ทำให้ปัจจุบันกลุ่มประเทศ TPP สามารถรวมเศรษฐกกิจการค้าโลกถึง 40% หรือ 2 ใน5 ของตลาดโลก[4]





ในส่วนของทีพีพีกับไทยนั้น ไทยเคยเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มาแล้ว แต่ต้องสะดุดลงในปี 2006 จนความพยายามล่าสุดในปี 2012 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ได้เดินทางมาไทย และได้เชิญชวนนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งช่วงนั้นเป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัครเข้าเป็นสมาชิกทีพีพี ซึ่งหากพิจารณาถึงความตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศ สมาชิกในทีพีพีนั้น ไทยได้มีข้อตกลงการค้าเสรีเกือบหมดทั้ง 12 ประเทศแล้ว ยกเว้น 4 ประเทศ เท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และชิลี ดังนั้น ผลกระทบหากไทยเข้าร่วม TPP จึงจะคล้ายกับการที่ไทยต้องมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐฯ นั่นเอง[5]

หากมองด้านข้อดี-ข้อเสีย จะพบว่า ด้านข้อดีจะสามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย จากการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิก TPP เปิดโอกาสให้ประเทศไทย ได้พัฒนาและปฏิรูป โดยไทยจะมี Gross Domestic Products (GDP) สูงขึ้น และมีต้นทุนการนำเข้า ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต่ำลง รวมถึงผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

ส่วนข้อเสีย พบว่าเนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำมากอยู่แล้วของสหรัฐฯ ผู้ส่งออกไทย อาจได้ประโยชน์จากการลดภาษีไม่มากนัก โดยไทยต้องยอมรับพันธกรณีต่างๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของ TPP หรือตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือผลของการเจรจาต่อรองกับประเทศสมาชิก TPP รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย และเรื่องสิทธิบัตรยาที่ยังเป็นปัญหา การเปิดตลาดภาคบริการ อาจนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการต่างชาติได้ ฯลฯ

กลับไปที่พาดหัวบทความไว้ข้างต้นว่า ทำไม??? ในเมื่อข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพี ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศกว่า 40% ทั่วโลก แต่เป็นตัวของสหรัฐฯ เอง ที่อยากจะยกเลิก ในยุคของนายโรนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกัน

ในมุมมองนักวิชาการต่างประเทศอย่าง นาย Peter Costa นักค้าหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ในนครนิวยอร์ค มีความเห็นว่าข้อตกลงฉบับนี้ ให้ประโยชน์ประเทศคู่ค้าที่เล็กกว่า ในขณะที่สหรัฐจะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องการเงิน ซึ่งนักค้าหุ้นผู้นี้บอกว่า สถาบันการเงินใหญ่ๆของญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์อย่างมาก[6] และในสหรัฐฯ กำลังมีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งข้อตกลงนี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่อาจจะมีการสูญเสียตำแหน่งงานในประเทศ และผลกระทบเชิงลบด้านอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมา






แน่นอนว่านายโนดัลด์ ทรัมป์ มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมเอียงขวา และมีทัศนคติที่ต้องการนำสหรัฐฯ กลับมาย่ิงใหญ่เหมือนในอดีตอีกครั้งตามนโยบายตามคำหาเสียงของตน แต่การประกาศกร้าวเช่นนี้ หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ ยุคทรัมป์เองต้องการปิดประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งเพื่อชาวอเมริกาตามแนวความคิดของตน เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก เข้าไปจัดการเกือบทุกอย่างในโลกนี้ ทำให้พลเมืองสหรัฐฯ บางส่วนเกิดความไม่พอใจจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ และประชาชนบางกลุ่มถูกละเลยจากรัฐบาล ทำให้เกิดกระแสโต้กลับจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่นายทรัมป์ ได้รับเลือก ซึ่งพลิกโผอย่างมาก

ในมุมมองของผู้นำในประเทศอื่นๆ อย่างนายซินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมาแสดงความไม่พอใจหลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปกในกรุงลิมา เปรู ในวันเสาร์ (19) กับชาติสมาชิกที่ตกลงร่วมอยู่ในการเจรจาการค้าเสรี TPP โดยชี้ว่าข้อตกลงเสรีนี้จะไร้ซึ่งความหมายทันทีหากสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วม “ข้อตกลงการค้าเสรี TPP จะไร้ความหมายทันที…หากว่าสหรัฐฯ ไม่ร่วมอยู่ด้วย” อาเบะกล่าว[7]

ในด้านนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซีย ร้องขอให้นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พยายามโน้มน้าว โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ให้สนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) “เราหวังว่าข้อตกลงทีพีพีจะมีผลบังคับใช้” นายนาจิบกล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับนายอาเบะ เขาเสริมด้วยว่า การพบกันระหว่างนายอาเบะกับนายทรัมป์ เป็นสิ่งที่สมาชิกทั้งหมด”[8]

ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงความวิตกกังวลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศกร้าวว่า สหรัฐจะถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว[9]




ขอบคุณภาพจาก isranews.org


ในมุมมองของนักวิชาการไทย อย่างเช่น รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศ มองว่าการที่ทรัมป์ยกเลิกทีพีพี เหมือนฆ่าตัวตาย ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐว่า เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากสำหรับอนาคตโลกและประเทศไทย

“ไม่ใช่เล่นๆ เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคอันตรายพอสมควร ทั้งนี้ เพราะทรัมป์เป็นพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดแบบสุดโต่ง หรือชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งเราไม่เคยเห็นแนวคิดเช่นนี้ในผู้นำอเมริกัน หรือระบบการเมืองอเมริกามาก่อน และที่พอจะเปรียบเทียบคือแนวคิดในยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่สองคือนาซี ฟาสซิสม์ ที่ใกล้เคียงกับทรัมป์”[10]

ส่วนกรณี TPP มี 12 ประเทศ ซึ่งอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นคนขับเคลื่อนรถ TPP “แต่อยู่ๆ อเมริกาก็มาโดดลงไปแล้ว ผู้โดยสารอีก 11 ประเทศก็นั่งเอ๋อไม่รู้จะทำอย่างไร ตรงนี้ทำให้อเมริกาเสียความน่าเชื่อถือ เสียชื่อมาก อีกทั้ง TPP ยังมีผลดีกับอเมริกา โดยโอบามาและฮิลลารีตั้งใจจะใช้เรื่องนี้เป็นเรือธง ให้อเมริกากลับมามีบทบาทในภูมิภาคนี้อีกครั้ง นโยบายเรื่องนี้ของทรัมป์จึงเป็นนโยบายฆ่าตัวตาย ยิงขาตัวเอง”[11]




ขอบคุณภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=RVKY–bW33M


ด้าน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองกรณีทรัมป์จะยกเลิกทีพีพีว่า “เหมือนกับ Set zero ล้างไพ่ใหม่ TPP และจากที่เราคิดว่า เวียดนามได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม แม้ TPP ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนาม ก็ไหลเข้าไปแล้ว มีตัวเลข 8 เดือนแรก เงินทุนไหลเข้าไปกว่า 14.4 พันล้านสหรัฐ จะเห็นว่า ทีพีพีจะไม่เกิดแต่เวียดนามก็แจ๊กพ็อตไปแล้ว” [12]




ขอบคุณภาพจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406692735


ในส่วน ผศ. จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นในประเด็นการค้าระหว่างประเทศว่า “ความน่ากังวลคือทรัมป์พยายามตั้งคำถามต่อการค้าเสรี หรือ free trade โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับ NAFTA หรือข้อตกลงทางการค้าของอเมริกาเหนือ ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งที่สุดแล้วอาจจะมีการเจรจาครั้งใหม่เกิดขึ้น รวมถึง TPP หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่ทรัมป์ระบุว่าจะไม่ทำกับเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นการปกป้องทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต”

เราเห็นแล้วว่าทิศทางของการดำเนินเศรษฐกิจในยุคของโรนัลด์ ทรัมป์เป็นอย่างไร อย่างน้อยๆ ก็ในเอเชียแปซิฟิกอย่างข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพี ซึ่งหากยกเลิกจริงกลุ่มประเทศทั้ง 11 ประเทศ ก็คงสามารถอยู่ได้ แม้ว่าจะไม่มีหัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐฯ และสูญเสียความสามารถทางการค้าในตลาดของสหรัฐฯ ไป

แต่เรื่องที่น่าทบทวนอย่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถในการดำเนินนโยบายของนายโรนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นอย่างไร เพราะหากเรามองดูพื้นฐานของตัวทรัมป์เองแล้ว ไม่มีความรู้ทางการเมือง และระบบการตรวจสอบ การคานอำนาจของสหรัฐฯ นั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่พลเมืองสหรัฐฯ ให้ความสนใจและเป็นจุดแข็งของสหรัฐฯ อยู่แล้ว การกระทำของทรัมป์จะได้รับการตอบรับหรือไม่? เป็นเรื่องที่น่าสนใจในอนาคต


อ้างอิง

[1] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000112222
[2] http://www.thaidentalmag.com/dent-stream-detail.php?type=10&id=335
[3] อ้างแล้ว
[4] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000112222
[5] อ้างแล้ว
[6] http://www.voathai.com/a/tpp-pro-con-nm/3009774.html
[7] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000116887
[8] http://www.thairath.co.th/content/785457
[9] http://www.ryt9.com/s/iq37/2556408
[10]http://www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/item/51689-tpp-51689.html
[11] อ้างแล้ว
[12] http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/51542-tppt-51542.html