Pod Nathaphob
February 6
·
ข่าวบุ้งอดอาหาร ดูจะบางเบาจนแทบไม่เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก กับการที่คนหนึ่งคนเลือกอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่มันไม่ยุติธรรมสำหรับเธอ
.
แม้แต่ตัวเราที่เคยได้สัมภาษณ์เธอ ยังเพิ่งนึกขึ้นได้ถึงเรื่องดังกล่าว ก็อดไม่ได้ที่จะขอพูดถึงบุ้ง ในฐานะคนที่เคยได้คุยกันผ่านการสัมภาษณ์ที่ห้างแห่งหนึ่งย่านจรัญสนิทวงศ์ ในช่วงบ่ายของวัน
.
ในฐานะคนสัมภาษณ์ วินาทีแรกที่บุ้งเดินเข้ามาหาและเริ่มต้นทักทาย มันเป็นความรู้สึกของคนที่มีเกาะป้องกันในตัวเอง ที่พอมองออกว่าเธอไม่ไว้ใจคนที่กำลังจะขอสัมภาษณ์เธอในวันนี้
.
น้ำเสียงของเธอเต็มไปด้วยความแข็งและไม่เป็นมิตร ราวกับว่าต้องการสัมภาษณ์ให้มันจบๆ ไป โดยที่เธอไม่ได้แคร์หรือให้เกียรติ คนสัมภาษณ์เช่นผมเท่าไหร่นัก
.
เอาเข้าจริงวันนั้้นผมก็ไม่มีทางเลือก อย่างไรก็ต้องทำงานของตัวเองให้เสร็จ และดำเนินการสัมภาษณ์ตามประเด็นที่เตรียมไว้
.
การสัมภาษณ์ที่ค่อยๆ ผ่านไป คงทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้บ้าง หลังจากที่เวลาผ่านไปได้ซัก 20 นาที บุ้งจากคนที่เคยมีบุคลิกก้าวร้าว เธอก็ค่อยๆ ลดกำแพงบางอย่างที่เธอมีลงมา และพูดคุยกับเราตามความคิดและความรู้สึกที่เธอเชื่อ ไม่ต่างจากการสัมภาษณ์ครั้งอื่นๆ
.
การสัมภาษณ์บุ้งและเพื่อนๆ ของเธอจบลงในระยะเวลาชั่วโมงกว่าๆ เป็นเวลาเดียวกันกับที่เธอได้รับโทรศัพท์จากศูนย์ทนายฯ เรื่องคดีความของเธอและเพื่อน ว่าให้รีบไปที่ศูนย์ทนายโดยด่วน แต่ผมก็ขอร้องเธอว่าจะขอเวลาถ่ายรูปพวกเธอไม่เกิน 20 นาที เพื่อนำไปประกอบบทความ บุ้งคือคนที่ตอบตกลง และให้เวลาผมอย่างเต็มที่ในการถ่ายเกินกว่า 30 นาที ทั้งการถ่ายรูปและสัมภาษณ์ในวันนั้นก็เป็นงานชิ้นหนึ่งที่เราชอบมันในปีที่ผ่านมา
.
ผมบอกกับพวกเขาว่าหลังจากที่บทความลงเผยแพร่แล้วจะส่งรูปให้ทุกคน ผมเลือกบางรูปส่งให้บุ้ง เธอตอบกลับมาว่าทำไมถ่ายรูปเธอออกมาดูใจดีจัง เอาเข้าจริงก็ถ่ายเหมือนที่ถ่ายทุกคนที่ผ่านมา เราจึงตอบกลับไปว่ามันก็คงเป็นบุคลิกของตัวเธอนั่นแหละ เพียงแต่ว่าภาพลักษณ์และภาพที่สื่อในสังคมนี้สร้างให้เธอ นำเสนอแต่ด้านอารมณ์โกรธของเธอที่มันขายได้ง่ายกว่า จนทำให้ผู้คน แม้แต่ตัวเธอเองจำแต่ภาพลักษณ์ตัวเองในมุมๆ นั้น
.
ไม่มีอะไรมากกว่าขอให้เธอปลอดภัยจากการอดอาหารและได้รับความยุติธรรมต่อกระบวนการยุติธรรม
บทสัมภาษณ์ที่ได้สัมภาษณ์บุ้งและกลุ่มทะลุวัง
(https://decode.plus/20230821-thaluwang/)
.....
“มันคือการปล้นอำนาจประชาชน คุณไปจับมือกับพรรคที่คุณบอกว่าจะไม่มีวันไปจับมือด้วย ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่หักหลังประชาชน กลุ่มทะลุวังคงไม่ทำแบบนี้”
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2023 กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้ชื่อว่า ‘ทะลุวัง’ เดินทางไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย ที่มีการแถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย กลุ่มทะลุวังต้องการสื่อสารให้กับพรรคการเมืองและสังคมว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคเพื่อไทยจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย ตามด้วยการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติในเวลาต่อมา ทั้ง 3 พรรคคือขั้วรัฐบาลเดิม ที่ทางกลุ่มทะลุวังมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการ
การเคลื่อนไหวในวันดังกล่าวของกลุ่มทะลุวังประกอบด้วยการโปรยใบปลิว การฉีดแอลกอฮอล์ใส่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และใช้สีสเปรย์พ่นข้อความภายในสถานที่ รวมทั้งพยายามเข้าไปภายในพรรคเพื่อไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่พรรคสกัดไว้จนเกิดเป็นเหตุชุลมุน
จนกระทั่งการแถลงการณ์เสร็จสิ้น สมาชิกกลุ่มทะลุวังได้พยายามสกัดกั้นรถยนต์ของสมาชิกพรรคภูมิใจไทยที่กำลังขับออกไป มีการปะทะคารมกันระหว่างพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับบุ้ง เนติพร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง มีถ้อยคำหนึ่งที่เธอกล่าวว่า
“กูไม่จำเป็นต้องคุยกับพรรคพวกของฆาตกรด้วยคำพูดดี ๆ”
De/code พูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มทะลุวัง บิวตี้ วิชญาพร ตุงคะเสน, บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคมและใบปอ–ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในวันที่พวกเขาบอกว่า ยังคงเดินอยู่บนหลักการเดิม เพียงแค่วิธีการเคลื่อนไหวไม่ถูกใจสังคมที่เป็นอนุรักษนิยมอย่างสังคมไทย
ทำไมทะลุวังต้องเกรี้ยวกราด
“เราเคลื่อนไหวด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่เทียบไม่ได้กับหลายชีวิตที่ได้ตายไป มันคือความโกรธของประชาชนมากกว่า”
บิวตี้ เล่าถึงที่มาของการเคลื่อนไหว ในวันที่กลุ่มทะลุวังเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทย พวกเขามองว่ามีประชาชนที่ต้องตายและบาดเจ็บจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา และพรรคเพื่อไทยก็เป็นหนึ่งในตัวแทนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคฝั่งตรงข้าม จึงทำให้กลุ่มทะลุวัง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะโกรธ และวิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
“ถ้าเอาเรื่องมรรยาทมาเกี่ยวข้อง คงไม่ต้องมีม็อบเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว”
ใบปอเองก็มองว่าสังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง มีความเป็นอนุรักษนิยมที่ติดภาพลักษณ์ว่า ทำอะไรต้องเรียบร้อย อ่อนน้อม เธอมองว่าสังคมไทยใจเย็นเกินไป มีความคิดเห็นที่พยายามบอกให้กลุ่มทะลุวังใจเย็น รอให้พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จก่อนเพื่อดูท่าที
“สังคมไทยประนีประนอมจนเหมือนว่าประชาชนแทบไม่เคยได้อะไรกลับคืนมาเลย” ใบปอกล่าว
ในขณะที่บุ้งมองว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์พรรคการเมืองหักหลังประชาชนแบบนี้ในสังคมอื่น คงมีคนออกมาลุกฮือกันมากกว่านี้ แต่สังคมไทยกลับตอบโต้การเคลื่อนไหวของทะลุวังว่า เป็นเด็กควรวางตัวกับผู้ใหญ่ให้สุภาพกว่านี้ บุ้งคิดว่าแม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่าฝักใฝ่ประชาธิปไตยในสังคมไทย ยังมีความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในตัวสูง
“ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองหักประชาชนในต่างประเทศ คงมีทะลุวังอีกเป็นหมื่นเป็นแสนออกมาแล้ว แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่ดัดจริต ติดภาพว่าการเรียกร้องอะไรก็ตามต้องสุภาพ ทั้งที่สมัยโควิด สังคมมีการแช่งให้อนุทินตาย (ผู้ว่ากระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนั้น)” บุ้งกล่าว
ใบปอเองได้เสริมว่า การที่กลุ่มทะลุวังใช้คำพูดรุนแรงในการเคลื่อนไหว มันไม่ต่างอะไรกับการที่สังคมไทยนิยมใช้ถ้อยคําที่สร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์ สิ่งที่ต่างกันคือทะลุวังทำสิ่งเหล่านี้ผ่านสื่อและการกระทำ จึงมีคนไม่พอใจเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีใบปอมองว่าต่อจากนี้จะปรับการเคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น
“แต่ไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวของพวกเราจะเบาลง ไม่ได้รู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของเราตอนนี้แรงขนาดนั้น” ใบปอกล่าว
บิวตี้ย้ำว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองได้ บุ้งเองก็มองว่าทะลุวังยังยืนอยู่บนหลักการเดิมของกลุ่ม คือการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ใบปอก็มองว่าด้วยกระแสสังคมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในประเทศไทย ทำให้กลุ่มทะลุวังต้องเคลื่อนไหวไปในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดมากขึ้น
“รัฐเป็นคนที่ผูกขาดอำนาจและความรุนแรงไว้กับตัว เขามีปืน มีอำนาจ มีกฎหมายอยู่ในมือ สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงที่ประชาชนอย่างเรา ไม่สามารถไปต่อกรกับเขาได้ ถ้าไม่ให้เราด่า ไม่ให้เราขว้างปา ไม่ให้เรายิงพลุ แล้วจะให้เราทำอะไร เราทำอะไรไม่ได้เลยนะ” บุ้งกล่าว
การเมืองเปลี่ยน เป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง
“ปีนี้ยังไม่รู้จะติดคุกไหม เราคาดหวังอะไรไม่ได้จากสิ่งที่เจอตอนนี้ แต่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป้าหมายการเคลื่อนไหวของเรายังคงเหมือนเดิม”
ตอนนี้คดีของใบปอกำลังอยู่ในช่วงสืบพยาน เธอมีคดีติดตัวทั้งหมด 7 คดี แบ่งเป็นคดีมาตรา 112 3 คดี คดีมาตรา 116 (ฐานยุยงปลุกปั่น) 1 คดี และคดีอื่น ๆ อีก 3 คดี หลายเงื่อนไขที่เธอเจอ ทำให้ไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ไกลนัก แต่เธอยังอยากเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เพราะมองว่ายิ่งถ้ากลุ่มอื่นหยุดเคลื่อนไหว ทะลุวังจะต้องยิ่งจุดกระแสให้คนเห็นว่า ยังมีคนเคลื่อนไหวอยู่ตรงนี้
“เคยมีคนติดต่อมาอยากให้เราหยุดเคลื่อนไหว ก็ยิ่งรู้สึกว่าเขากลัวเราขนาดนั้นเลยเหรอ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่อยากหยุด”
บุ้งกล่าวว่าเธอเคยได้รับการติดต่อให้หยุดเคลื่อนไหว แต่เธอบอกว่าด้วยแรงผลักดันที่ครั้งหนึ่งเธอเคยเมินเฉยต่อเหตุการณ์ การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 เธอกล่าวว่าอยากแก้ไขข้อผิดพลาดตรงนั้น ด้วยการออกมาเรียกร้องกับกลุ่มทะลุวัง
ทั้งกลุ่มทะลุวังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะบุ้งไม่อาจรู้ได้ว่าวันใด เธอจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ ด้วยคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดีและคดีอื่น ๆ อีก 2 คดีจากการเคลื่อนไหวที่ติดตัวเธอมา
“ทะลุวังคิดกันว่าถ้าพักตอนนี้ มันแอบรู้สึกผิดเล็ก ๆ เพราะยังมีเพื่อนอยู่ในเรือนจำ”
บิวตี้กล่าว พร้อมบอกว่าที่ตัวเองเริ่มออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในแนวหน้า จากที่เคยทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะอยากจะช่วยเพื่อนในกลุ่มขับเคลื่อนมากขึ้น และจากการที่เธอถูกติดตามจากภาครัฐ จึงเลือกที่จะออกมาเปิดหน้าเพื่อความปลอดภัย
“เรามีพื้นฐานมาจากคนขี้สงสาร และพอโตมาในสังคมไทย จึงได้เห็นและรับรู้ปัญหาของชนชั้นล่างที่เขาพบเจอ เรารู้สึกว่าคนคนหนึ่งเกิดมาไม่ควรที่จะต้องดิ้นรนขนาดนั้น ภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้ เราจึงคิดว่านี่คือความไม่เท่าเทียมทางสังคม”
บิวตี้บอกว่าที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง ไม่ได้มีเพียงแค่การออกไปชุมนุมทำกิจกรรมอย่างเดียว ที่ผ่านมากลุ่มทะลุวังมีไปเข้าร่วมและจัดกิจกรรมเสวนาในประเด็นต่าง ๆ เช่น งานเสวนา MOU จัดตั้งรัฐบาลจะ “ฟื้นฟู” ประชาธิปไตยได้จริงหรือ?, งานเสวนาวิชาการ :เยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรม: อนาคตของประเทศยังมีพวกเขาอยู่ไหม? รวมทั้งการออกจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรเพื่อสิทธิเด็กและเยาวชน ในกรณีของหยก เยาวชนที่ถูกหมายจับในคดี ม.112
“งานวิชาการทะลุวังก็เคยจัดแต่ไม่มีใครรู้ พอเราเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา คนก็ไม่สนใจ แต่พอมีการด่ากลายเป็นคนกลับสนใจ การจัดงานวิชาการก็คือตัวตนหนึ่งของทะลุวัง เพราะคนเราไม่ได้จำเป็นต้องโกรธ ก่นด่าตลอดเวลา” บิวตี้กล่าว
ต่อมาเมื่อถามถึงวันที่ทะลุวังจะยุติการเคลื่อนไหว บุ้งก็กล่าวว่า
“วันที่ยกเลิก ม.112 ไม่มีใครต้องเข้าคุก ถูกอุ้มหายหรือถูกลี้ภัยจากการวิพากษ์วิจารณ์ใคร วันที่ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการ”
ใบปอกล่าวเสริมว่าวันนี้กลุ่มทะลุวังยังอยู่ระหว่างทางในการขับเคลื่อน เธอเชื่อว่านี่คือสิ่งที่สมควรเกิดขึ้นตามยุคสมัย และต่อให้วันข้างหน้าไม่มีทะลุวังขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ก็จะมีกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวต่ออยู่ดี
“คนมองทะลุวังแค่การกระทำที่เกิดขึ้น แต่ไม่มองถึงเหตุผลที่เราทำลงไป เราด่า เราโกรธ ทำอะไรที่ก้าวร้าว แต่คุณไม่มองว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เราต้องออกไปทำตรงนั้น เขาเลือกมองแต่ปลายเหตุ” ใบปอกล่าว
และด้วยแนวทางของกลุ่มทะลุวังก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้พวกเขาสูญเสียแนวร่วมที่เคยเห็นด้วยไป แต่บุ้งก็เชื่อว่าเวลาจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดได้ โดยที่ ณ ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนที่ยังคงเข้าใจแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง จึงทำให้พวกเขายังยืนอยู่บนหลักการเคลื่อนไหวเดิม
“เราไม่ได้เชื่อ เพราะว่ามีคนเข้าข้าง เราเชื่อเพราะว่ายังอยู่บนหลักการ ตราบใดที่เรายังยืนอยู่ตรงนี้และไม่หันเหไปไหน ยึดอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน และสังคมยังอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย สุดท้ายเราก็ต้องวนกลับมาเจอกันอยู่ดี”
บุ้งกล่าว ก่อนที่ใบปอจะตั้งคำถามต่อผู้คน ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังว่า
“ต้องถามใจตัวเองว่ามันไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจ”
หลังบ้านทะลุวัง ‘ผู้หญิง’ กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
“ทะลุวังเราทะลุทุกอย่างที่เป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเสมอภาคทางเพศเองก็เป็นหนึ่งสิ่ง ที่เราช่วยกันขับเคลื่อนอยู่”
บิวตี้กล่าวว่าชายเป็นใหญ่คือค่านิยมของสังคมไทย ที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะกันออกมาได้ เช่น ค่านิยมผู้หญิงต้องดูแลผู้ชาย การมีสุภาษิตสอนหญิงที่ถูกแต่งโดยผู้ชาย ทะลุวังเองก็มักถูกมองว่า เพราะเป็นผู้หญิงจึงใช้อารมณ์ในการขับเคลื่อน
“พอผู้หญิงออกมาพูดคำหยาบคาย สังคมก็จะมองว่ามันไม่เรียบร้อย”
บิวตี้มองว่าความเสมอภาคทางเพศคือสิ่งที่เรียบง่าย เพียงแค่ผู้คนให้เกียรติคนที่ต่างเพศจากตัวเอง เธอเองก็ถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ ผ่านการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตา เธอหาทางออกด้วยการเลือกที่จะไม่อ่านความคิดเห็นเหล่านั้น หรือถ้าทนไม่ไหวเธอก็เลือกที่จะบล็อกบัญชีผู้ใช้งานที่คุกคามเธอ
“ปิตาธิปไตยก็มีส่วนที่ทำให้เราออกมาพูดถึงมัน เรารู้สึกว่าเป็นผู้หญิงก็ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้”
ใบปอกล่าว เธอบอกว่าในช่วงเวลาที่มีการโดนจับกุม เธอมักถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาประชิดร่างกาย รวมทั้งการที่เธอเป็นคนชอบแต่งตัว จึงมักถูกคอมเมนต์ที่คุกคามทางเพศ
“เรารับมือด้วยการด่า” ใบปอกล่าว
ทางด้านบุ้งกล่าวว่า เพศหญิงเป็นเพศที่โดนกดทับในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้หญิงอย่างกลุ่มทะลุวัง รวมทั้ง ตะวัน แบม หยก และคนอื่น ๆ ออกมาเคลื่อนไหวในประเทศที่เป็นปิตาธิปไตย
“แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องแสดงออกเพื่อให้คนมองว่าไม่อ่อนแอ เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ” บุ้งกล่าว
ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์บิวตี้กล่าวว่า ทุกคนทุกเพศมีศักยภาพในการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง
“เราทุกคนมีศักยภาพมากพอที่จะทำสิ่งสิ่งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกคนสามารถทำได้ ตราบใดที่เราเชื่อว่าสังคมจะต้องเปลี่ยนแปลงไป”
ทางด้านใบปอก็ย้ำว่าประชาชนมีสิทธิที่จะโกรธ หากรัฐหรือพรรคการเมืองทำให้ประชาชนผิดหวัง เธอกล่าวว่าทะลุวังยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำของกลุ่ม บุ้งเองก็ได้กล่าวปิดท้ายต่อภาพลักษณ์ที่สังคมมีต่อทะลุวังไว้ว่า
“สังคมเข้าใจว่าพวกเราอารมณ์ร้อนก็คือเรื่องจริง คนอาจจะติดภาพว่าทะลุวังแรง แต่เราก็ไม่ได้มีมุมนั้นมุมเดียว เวลาเราอยู่กับคนที่เรารัก อยู่กับครอบครัวเราก็เป็นคนปกติ เพียงแค่ว่าเราทนไม่ได้กับความอยุติธรรม เลยเลือกที่จะแสดงออกมาแบบนั้น สิ่งที่ทะลุวังทำมันไม่ได้เกินไปหรอก ถ้าเทียบกับความรุนแรงที่รัฐทำกับเรา”