วันศุกร์, มีนาคม 01, 2567

เสียงระฆังดังเตือน จาก อจ.พนัส ทัศนียานนท์ เริ่มปฏิรูปการเมืองไทยอย่างจริงจังได้แล้ว ด้วยการสมัครเข้ารับสรรหาเป็น สว.ชุดใหม่

การประกาศตนเตรียมพร้อมลงสมัครเป็นวุฒิสมาชิกชุดใหม่ หลังจากวาระของชุดปัจจุบัน (ตู่ตั้ง) สิ้นสุดลงในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ของ อจ.พนัส ทัศนียานนท์ เป็นระฆังเตือนให้เริ่มนึกคิดพิจารณา ถึงหนทางไปสู่การปฏิรูประบบการเมืองไทยอย่างจริงจังได้แล้ว

เพราะการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ทั้งที่เป็นวิธีการพิศดารเหลือหลายอยู่ ก็จัดว่าจะเป็นช่องทางที่เปิดให้เข้าถึงได้ ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถไขว่คว้า อย่างน้อยจากการที่เปิดให้ประชาชนทั่วไป สัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี

เพียงต้อง “มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี” หรือมิฉะนั้นก็จัดอยู่ในกลุ่มที่ ๘ “คือ กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์”

ซึ่งเป็นการ สรรหา บุคคลเข้าเป็น สว.ตามลักษณะกลุ่มอาชีพ ๒๐ ประเภท ด้วยการให้ผู้สมัครโหวตคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ ผู้ออกเสียงสามารถโหวตให้แก่ตนเองได้ ๑ คะแนน กับต้องโหวตคนอื่นในกลุ่มอีก ๑ คะแนน ให้ได้ผู้ชนะ ๓ อันดับแรก

การโหวตลักษณะนี้จะกระทำเป็นสามระดับ คือจากอำเภอำด้ ๓ อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเข้าไปรวมกลุ่มในระดับจังหวัด แล้วเลือกกันเองให้ได้ ๒ อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม เข้าไปโหวตกันในรอบระดับประเทศ ซึ่ง ๔๐ อันดับแรกของแต่ละกลุ่มโหวตกัน

แล้วคัดเอา ๑๐ อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับสรรหา เก็บอันดับ ๑๑ ถึง ๑๕ เป็นรายชื่อสำรอง ก็จะได้ สว.จาก ๒๐ กลุ่มอาชีพ รวมเป็น ๒๐๐ คน ซึ่งจะไม่มีอำนาจในการร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่ยังคงอำนาจอื่นอีกหลายอย่าง

ไอลอว์ ให้รายละเอียดอำนาจเหล่านี้ไว้แล้ว ได้แก่ ร่วมพิจารณาและอนุมัติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คืออยู่ในเสียง กึ่งหนึ่ง ของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) อีกทั้ง จะผ่านมติได้ต้องมีเสียงของ สว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ หรือ ๖๗ เสียงจึงผ่านได้

อำนาจอื่นที่ สว.ใหม่ยังมีอยู่ก็คือการพิจารณา พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ที่มาของ สว. และที่มาองค์กรอิสระ สว.ยังเป็นผู้ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. อัยการสูงสุด และ ตลก.ศาลปกครอง

เหล่านี้ทำให้ อจ.พนัสประกาศว่าต้องการเข้าไปเป็น สว.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ๖๐ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ที่คงอำนาจเหนือองค์กรประชาธิปไตยอื่นๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญนั้นเดี๋ยวนี้ใช้อำนาจเหนือสถาบันการเมืองหลักทุกแขนง

เหนือหัวฝ่ายบริหาร ค้ำคอนิติบัญญัติ (เช่นห้ามพิจารณาแก้ไข ม.๑๑๒) และแม้แต่อำนาจตุลาการของศาลยุติธรรมปกติก็ไม่วายถูกแทรกแซงโดยศาลรัฐธรรมนูญ

(https://www.facebook.com/61556895477166/videos/1173586210714444/, https://www.ilaw.or.th/articles/6264, และ https://www.ilaw.or.th/articles/16805IwAR2jb2k)