.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h·
บันทึกเยี่ยม 6 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ขอบคุณแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน - คนข้างในก็ยังสู้อยู่
.
.
สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทนายเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดี 112 ทั้งที่อยู่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส,เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง
.
ที่นราธิวาส “อุดม” แจ้งข่าวเรื่องการได้ย้ายแดน และต้องปรับตัวกับที่อยู่ใหม่ แต่ก็ได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นทหารเกณฑ์มาก่อนหลังได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยฝึกแถวผู้ต้องขังใหม่ “กัลยา” ที่อยู่นราธิวาสเช่นกันเล่าว่า ได้คุยโทรศัพท์กับแฟนผ่านการเยี่ยมเป็นครั้งแรกแล้ว รู้สึกดีใจและร้องไห้ตลอดการพูดคุย และอัพเดตถึงสุขภาพเรื่องการปวดบริเวณหัวเข่า
.
ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ “อัญชัญ” ที่ขณะนี้ถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษามามากกว่า 3 ปีแล้ว ฝากขอบคุณถึงแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน เธอหวังว่าสักวันจะเป็นประโยชน์ ก่อนจะแสดงความรู้สึกห่วงใยถึง บุ้ง, ตะวัน และแฟรงค์ ที่อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว
.
ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ “อารีฟ” มาบอกเล่าเรื่องสุขภาพที่ช่วงนี้ตอนกลางคืนมักนอนไม่ค่อยหลับ ต้องหากิจกรรมทำ เช่น อ่านหนังสือ และอยากได้หนังสือเกี่ยวกับดนตรีเข้ามาอ่านอีก ด้าน “เวหา” ที่ใช้วิธีอารยะขัดขืนในเรือนจำตามแบบที่ตัวเองพอจะทำได้ พูดถึงการส่งจดหมายถึง รมว.กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ที่สุดท้ายจดหมายฉบับนั้นไม่ได้ถูกส่งออกไป
.
และเก็ทเล่าว่า เขาพูดคุยกับเหล่าผู้ต้องขังเรื่องสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการสู้คดี รวมถึงสิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสิทธิของตนมากขึ้น และยืนยันกิจกรรมยืนหยุดขังวันละ 1.12 ชั่วโมง
.
.
อ่านบันทึกเยี่ยมทั้งหมดบนเว็บไซต์: (https://tlhr2014.com/archives/65146)
อัญชัญ: ฝากขอบคุณแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนที่ยังสู้อยู่ หวังว่าสักวันมันจะเป็นประโยชน์
.
.
วันที่ 20 ก.พ. 2567 อัญชัญยิ้มและโบกมือให้ทนายตั้งแต่เห็นหน้า ทนายรู้สึกว่าป้าดูไม่ค่อยสดใสเหมือนเดิม และวันนั้นเนื่องจากมีเวลาเยี่ยมแค่ 15 นาที ทนายจึงนำรูปภาพจากแคมเปญ ส.ค.ส. ให้ดู ป้าพยายามไล่อ่านทุกข้อความอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อได้พูดคุยกัน สิ่งแรกที่อัญชัญบอกคือ “ฝากขอบคุณทุกคนที่ส่ง ส.ค.ส. มาให้ป้าด้วยนะลูก รู้สึกตื้นตันใจมากจริง ๆ"
.
อัญชัญเล่าว่า มีคนส่งจดหมายมาให้กำลังใจด้วย แต่ป้าก็รู้สึกว่าถูกปิดกั้นเรื่องจดหมายอยู่ดี เพราะไม่ได้รับจดหมายที่แอมเนสตี้ส่งมาให้ฉบับหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ก่อนอัพเดทชีวิตช่วงนี้ว่า สบายดี กำลังศึกษาโหราศาสตร์อยู่ เรียนไพ่ยิปซี เลข 7 ตัว 9 ฐาน “ออกไปป้าจะดูดวงให้นะ (หัวเราะ) ก็เรียนไปเรื่อย ๆ แหละ มันไม่มีอะไรทำ”
.
สำหรับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน ป้าบอก “ขอบคุณมาก ๆ เลยที่ยังสนใจผู้ต้องขังทางการเมือง ขอบคุณที่ยังสู้อยู่ ยังไม่ทิ้งกัน ป้าหวังว่าสักวันมันจะเป็นประโยชน์ ฝากให้กำลังใจพรรคการเมืองที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ด้วยนะลูก ถ้าประชาชนไม่สู้ เขาก็คงไม่รู้ว่าประชาชนคิดยังไง“
.
ทนายยังอัพเดทสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองให้ฟัง บอกป้าว่า บุ้ง ตะวัน แฟรงค์ กำลังอดน้ำอดอาหาร ป้ามีท่าทีตกใจและเคร่งเครียดขึ้นมาทันที เธอยกมือขึ้นนวดขมับ พลางถามไถ่อาการของเด็ก ๆ อย่างเป็นห่วง
.
“จะทำยังไงดี ประเทศนี้คงปิดปากเราไปเรื่อย ๆ เขาไม่สนใจประชาชนเลย แล้วจะอยู่รอดมั้ย ป้าเป็นห่วง อยากให้เด็ก ๆ มีชีวิตอยู่รอการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนอายุน้อย ๆ ได้เห็น”
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 43 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 9 วัน
.
.
อุดม: ได้ย้ายแดนไปอยู่แดนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หลังเรือนจำมีนโยบายปรับโครงสร้างใหม่
.
.
วันที่ 27 ก.พ. 2567 อุดมเล่าให้ทนายฟังว่า ได้ย้ายจากแดน 7 มาอยู่แดน 5 เนื่องจากทางเรือนจำมีนโยบายปรับโครงสร้างใหม่ โดยแดน 5 เป็นแดนแรกเข้า คุมขังคนที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี (คดียังไม่ถึงที่สุด)
.
อุดมเล่าสภาพปัญหาของแดน 5 ว่า มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ต้องอาบน้ำคนละ 3 ขันเอง เนื่องจากระบบการจัดการยังไม่ดีพอ ยังมีผู้ต้องขังในแดนรวมทั้งหมด 650 คน แต่มีข้อดี คือ มีโทรทัศน์ สามารถรับข่าวสาร ดูละครได้ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 12.00 น. ทั้งในเรือนนอนก็มีโทรทัศน์ เปิดดูละครได้จนถึง 22.00 น. นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้เลือกทำแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เช่น มีเครื่องดนตรีให้เล่น
.
อุดมยังแจ้งข่าวดีว่า ผู้คุมได้คัดเลือกให้เขาเป็นผู้ช่วยครูฝึกแถวผู้ต้องขังใหม่ (ผู้ช่วยงานครูฝึกแถว) เนื่องจากอุดมมีประสบการณ์การฝึกแถวมาก่อนจากการที่เคยเป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งเขาเคยมาประจำการเฉพาะกิจที่จังหวัดนราธิวาสด้วย ก่อนที่บทสนทนาท้าย ๆ อุดมบ่นว่า น้อยใจโชคชะตาชีวิตของตนเองเหมือนกัน เกิดมาพร้อมกับความลำบาก ทำงานหาเงินเลี้ยงตนเองตั้งแต่เด็กจนโต ความสุขผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วก็ผ่านไปไว
.
สุดท้ายอุดมกล่าวว่า “ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี” อย่างน้อยสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนในสามจังหวัดภาคใต้ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และยังกล่าวว่า “ผมอยู่ในนามผู้เสียสละ”
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อุดมถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 185 วัน
.
.
กัลยา: ปวดเข่า-ต้นขาซ้ายตลอดเวลา ยิ่งอากาศเย็นก็ยิ่งปวด นั่งพับขาได้ไม่เกิน 5 นาที
.
.
วันที่ 27 ก.พ. 2567 กัลยาทักทายทนายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใส แต่ดูเหนื่อย ๆ ก่อนบอกว่า เพิ่งเสร็จจากการฝึกแถว ทำกิจกรรมตอนเช้า และเล่าต่อว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 เพิ่งได้คุยโทรศัพท์กับแฟนผ่านการเยี่ยมเป็นครั้งแรก ดีใจมากระหว่างคุยกันร้องไห้ตลอดเลย แต่เสียดายได้คุยแค่ 15 นาทีเอง
.
ทนายสอบถามถึงอาการป่วย กัลยาบ่นว่า “ปวดที่หัวเข่าและต้นขาบนข้างซ้าย ปวดตลอดเวลา ยิ่งตอนอากาศหนาวเย็นก็ยิ่งปวดมากขึ้น นั่งพับขาได้ไม่เกิน 5 นาที” ทนายถามว่าตอนนี้ปวดไหม กัลยาบอกว่า ก็ปวดอยู่ แต่สามารถเดินได้ตามปกติ ปวดแบบอยู่ได้
.
เมื่อถามถึงกระบวนการดูแลรักษาของทางเรือนจำ กัลยาบอกว่า ที่นี่ขอยายากมาก อาศัยประคองชีวิตเอาเอง มีอยู่วันหนึ่งเธอปวดหัวมาก จึงขอยาจากผู้คุม แต่ผู้คุมไม่ให้ แล้วสั่งให้อาสาสมัครเรือนจำวัดความดัน และแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ ใช้น้ำแข็งประคบ แต่ก็ไม่ได้ให้น้ำแข็งมา โชคดีที่มีน้ำหวานอยู่แถวนั้น เธอจึงเทน้ำแดงออกเอาน้ำแข็งมาประคบบรรเทาความปวดพอได้
.
สำหรับในเรือนนอนกัลยาบอกว่า เวลานอนจะปูที่นอนโดยใช้ผ้านวม 1 ผืน นอน 4 คน ต้องนอนตะแคงและขดตัว เวลาจะขยับตัวต้องบอกคนที่อยู่ตรงข้ามว่าขออนุญาตนอนหงาย แต่ต้องนอนแบบฟันปลา ซึ่งกัลยาบอกว่า ปวดมากเวลานอนตะแคงนาน ๆ
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) กัลยาถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 134 วัน
.
.
อารีฟ: ช่วงนี้ตอนกลางคืนรู้สึกง่วง แต่นอนไม่หลับ เลยอ่านหนังสือฆ่าเวลาไปเรื่อย
.
.
วันที่ 27 ก.พ. 2567 อารีฟเข้ามาที่ห้องเยี่ยมช้ากว่าปกติ เมื่อเข้ามาก็ทักทายทนายตามปกติ พร้อมกับแจ้งว่า แม่เก็ทเพิ่งมาเยี่ยมเลยทำให้มาพบทนายช้า
.
เมื่อทนายถามถึงสุขภาพ อารีฟเล่าว่า ช่วงนี้ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ มักจะสะดุ้งตื่นตอนตีหนึ่งถึงตีสอง เขากลัวว่าความเครียดจะลงกระเพาะ ซึ่งช่วงนี้ก็กินน้อยลงมาก แต่รวม ๆ แล้ว ถือว่ายังโอเคอยู่
.
วันต่อมา อารีฟนั่งรออยู่ในห้องเยี่ยมทนาย สวมเสื้อผู้ต้องขังสีฟ้าตามปกติ ผมยาวขึ้นมาอีกเล็กน้อย ใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้าสีขาว ก่อนเปิดออกให้ดูและบอกว่าใส่ตอนออกมา เพราะไม่ได้โกนหนวด อารีฟเล่าอีกว่า ได้เจอเก็ตเวลาที่ญาติมาเยี่ยม เพราะแม่เก็ทจะเบิกอารีฟไปด้วยตลอด แม่เก็ทมาเยี่ยมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
.
อารีฟเล่าว่า เขายังโดนปั่นประสาทเหมือนเดิม เจอทุกวัน เข้ามาแซะ เช่น “ไอ้พวกไม่รักเจ้า ไม่รักในหลวง” เขาก็พยายามจะไม่สนใจ ช่วงนี้จะนอนดูทีวีตั้งแต่ 16.00 - 21.30 น. พอทีวีปิดก็จะนอนกึ่งหลับกี่งตื่น แล้วก็มาตื่นช่วงห้าทุ่มหรือไม่ก็เที่ยงคืน แล้วก็นอนไม่หลับ ตาสว่าง ซึ่งเขาก็นอนอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ จนถึงตีสามตีสี่ บางทีก็ถึงหกโมงเช้าถึงจะหลับ นอนได้นิดหน่อยก็ตื่นมาเช็คแถวตอน 07.50 น. แล้วค่อยอาศัยไปหานอนกลางวันเอา
.
เมื่อทนายให้อธิบายอาการตื่นกลางดึก อารีฟบอกว่า ก็ง่วงนะ แต่นอนไม่หลับ อ่านหนังสือไปเรื่อยเปื่อย เมื่อคืนอ่านหนังสือเพลง แล้วก็ร้องเพลงในใจ จนจบเล่ม 200 กว่าหน้า ว่างมาก เพราะตื่นมาตอนดึก ถ้าเป็นไปได้เดือนหน้าอยากได้หนังสือเพลงแนวโฟล์คซอง เพราะชอบเล่นดนตรี กีต้าร์ก็ได้ คาฮองก็ได้ กลองก็ได้
.
อารีฟเล่าอีกว่า ตอนนี้จริง ๆ ในแดนก็มีกีต้าร์ แต่เขาบอกเล่นไม่ได้ อ้างว่าเป็นของคนอื่น ต้องเป็นของกองงานดนตรีถึงจะเล่นได้
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อารีฟถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 156 วัน
.
.
เวหา: ยังแสดงออกถึงอารยะขัดขืน ยืนประท้วงหน้ากล้องวงจรปิด-เขียนข้อความใส่แผ่นกระดาษ
.
.
วันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่ห้องเยี่ยม เวหาชิงทักทายทนายก่อน ทนายเริ่มการสนทนาด้วยการอัพเดตสถานการณ์ตามปกติ จากนั้นได้ถามถึงการประท้วงหรือแสดงอารยะขัดขืนในเรือนจำ เวหาเล่าว่า ทุกวันนี้ยังทำอยู่ ยังยืนประท้วงหน้ากล้องวงจรปิด และเขียนข้อความใส่แผ่นกระดาษเพื่อเป็นการแสดงออกถึงอารยะขัดขืน ซึ่งเมื่อชูป้ายกระดาษเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหน้าที่เข้ามาถ่ายภาพเพื่อไปทำรายงาน
.
ก่อนจะเล่าว่า ตอนนี้ความเป็นอยู่ของเขาก็เรื่อย ๆ แต่อยากทราบข่าวของเพื่อน ๆ มากกว่า โดยปกติแล้ว ถ้าทนายยังไม่ได้เข้ามาเยี่ยมก็จะติดตามอัพเดตข่าวจากเพื่อน ๆ ป้า ๆ ที่เข้าเยี่ยม
.
เวหาแจ้งด้วยว่า เขาได้เขียนจดหมายส่งถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แต่จดหมายไม่ผ่าน โดยเนื้อหาในจดหมายพูดเกี่ยวกับมาตรา 112 ในทำนองว่า การบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง อยากให้ รมต.ยุติธรรม พิจารณาตรงนี้ด้วย “จริง ๆ เราเชื่อมั่นมาตลอดว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน เลยเชื่อมั่นว่าจะทำเพื่อประชาชน เวลาจดหมายส่งไม่ผ่านทางเรือนจำจะแจ้งแค่ว่า จดหมายไม่ผ่าน แต่ไม่แจ้งว่าไม่ผ่านเพราะอะไร ขนาดเขียนคำว่า ‘กำลังใจ’ เต็มหน้ากระดาษ ทางเรือนจำยังไม่ให้ผ่านเลย”
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) เวหาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 289 วัน
.
.
เก็ท: คนข้างในตรงนี้ก็ยังสู้อยู่
.
.
วันที่ 27 ก.พ. 2567 เก็ทเล่าให้ทนายที่เข้าเยี่ยมฟังว่า ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ เขาได้พูดคุยกับผู้ต้องขังคดีทั่วไปในแดน 4 ถึงเรื่องสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการสู้คดี รวมถึงสิทธิของผู้ต้องขัง ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสิทธิของตนมากขึ้น
.
เก็ทยังคงพยายามเขียนจดหมายออกไปจากเรือนจำหวังยื่นถึงกระทรวงยุติธรรม เรื่องการถูกขังระหว่างพิจารณาคดีทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เขียนเรื่องตะวัน, แฟรงค์ และบุ้ง ชี้ว่า ต่อให้ไม่ป่วยพวกเขาก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เพราะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
.
ก่อนจะอัพเดตว่า ผู้ต้องขังที่แดน 4 ยังคงยืนหยุดขัง เวลา 08.00 - 09.12 น. และฝากข้อความว่า คนข้างในตรงนี้ก็ยังสู้อยู่ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนในช่วงเวลาแบบนี้
.
จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) เก็ทถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 191 วัน
.
.