วันเสาร์, กรกฎาคม 15, 2566

ย้อนดูข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฉบับก้าวไกล


iLaw
July 12
·
ย้อนดูข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฉบับก้าวไกล
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกจำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท รวมทั้งมาตรา 112 ที่เสนอให้กำหนดหมวดใหม่ขึ้นมาที่ว่าด้วยเรื่องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
๐ การแก้ไขมาตรา 112
เดิมมาตรา 112 ถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ 1 ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ร่างฉบับพรรคก้าวไกลเสนอให้กำหนดลักษณะความผิดขึ้นใหม่เป็น “ลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เพื่อกำหนดความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนโดยเฉพาะ แยกประเภทออกจากเรื่องความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม แม้ในร่างฯของพรรคก้าวไกลจะเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกทั้งมาตรา แต่ฐานความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกเขียนขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นสองมาตราแยกระหว่างความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ กับการกระทำต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในส่วนของอัตราโทษนั้น การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังเป็นฐานความผิดที่กำหนดโทษไว้สูงที่สุด และเป็นเพียงฐานความผิดเดียวในเรื่องการหมิ่นประมาทที่ยังคงโทษจำคุกไว้อยู่ เพื่อเป็นการคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และของพระราชินี รัชทายาท รวมทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เหนือกว่าประชาชนทั่วไป เพียงแต่กำหนดอัตราโทษจำคุกให้ต่ำกว่าที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้ คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตรย์และจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงไม่มีโทษขั้นต่ำเพื่อให้ศาลสามารถดุลพินิจเพื่อพิจารณาลงโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำ
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้เพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษเหมือนกับกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กำหนดให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด และกำหนดให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ สำหรับกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ได้มีการเสนอให้ สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้ทั้งหมดและห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยนาม หรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุสำนักพระราชวังเป็นคู่กรณีหรือคู่ความ เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
อ่านทั้งหมด : https://ilaw.or.th/node/5820