เอ๊ะ! รีแบรนด์ รีฟอร์ม เพื่อไทย หรือเลือก…ทุบทิ้ง…ดีครับ ทักษิณ | ประกิต กอบกิจวัฒนามติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566
24 กรกฎาคม พ.ศ.2566
ปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคแลนด์สไลด์แทนเพื่อไทย จากการเลือกตั้งในปี 2566 นั้น สำหรับผม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่งสัญญาณว่า พรรคเพื่อไทยกำลังกลายเป็นพรรคที่ไม่ตอบสนองต่อความรู้สึกที่เปลี่ยนไปแล้วของคนไทยต่อการเลือกผู้แทนของตนเอง
ทำไมผมคิดอย่างนั้น?
เพราะดูตัวเลขที่ workpointoday ได้ทำไว้ (อ้างจากเว็บไซต์ ที่ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562) โดยเปรียบเทียบผลเลือกตั้งปี 2554 กับปี 2562 แบบรายภาค โดยเฉพาะในภาคที่เพื่อไทยเคยยึดครองมาตลอด คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคเหนือ ตัวเลขที่นั่งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.เขตไปหมด 8 จังหวัด จาก 9 จังหวัด ได้มา 35 ที่นั่ง คิดเป็น 97% แต่ในปี 2562 แม้พรรคเพื่อไทยคงครองแชมป์จำนวน ส.ส.เขตก็ตาม แต่ตัวเลขของสัดส่วนที่นั่งลดลงอย่างมีนัยยะ คือได้มา 25 ที่นั่งจาก 33 ที่นั่ง คิดเป็น 76% เมื่อกลับไปเทียบกับปี 2554 ก็เท่ากับลดลงไปกว่า 20% เพราะถูกพรรคอนาคตใหม่ได้ไป 5 ที่ และพลังประชารัฐได้ไป 3 ที่
ภาคอีสาน ฐานที่มั่นหลักของพรรคเพื่อไทย แม้สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.ไปถึง 104 ที่นั่ง จากทั้งหมด 126 ที่นั่งในปี 2554 แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขที่นั่งที่ได้ในปี 2562 กลับลดลงเหลือ 84 ที่ เพราะถูกหลายพรรคแบ่งเค้กไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย พลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่
และผมขอย้ำ พรรคเพื่อไทยไม่เคยเป็นแชมป์ครองที่นั่ง ส.ส.เขตในเมืองหลวงของประเทศเลย เพราะปี 2554 แชมป์จำนวน ส.ส.เขตใน กทม. เป็นของประชาธิปัตย์ คือ 23 ที่ เพื่อไทยได้ไป 10 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้ประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ใน กทม. แต่เพื่อไทยก็ไม่ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น กลับลดลงเหลือ 9 ที่ เพราะถูกอนาคตใหม่แบ่งไปอีก 9 ที่นั่ง
(คงไม่ต้องให้ผมย้ำตัวเลขที่นั่ง ส.ส.เขตในการเลือกตั้งปี 2566 ใช่ไหมว่า เพื่อไทยได้ไปกี่ที่ : D)
บรรดาโหวตเตอร์เพื่อไทยอาจจะหงุดหงิด และแย้งว่า ก็วิธีการแบ่งเขต และกฎกติกาในการให้ไปออกสิทธิใช้เสียงที่กำหนดโดย กกต. มันเปลี่ยนไป จะเอาการเปรียบเทียบแบบนั้นมาใช้อ้างไม่ได้
แต่แน่ใจหรือครับว่านั่นคือเงื่อนไขหลัก
สำหรับผมในฐานะคนใช้สิทธิออกเสียงที่รู้ตัวดีว่าอำนาจในการออกเสียงของเรานั้นมันสั้นมาก แค่ช่วงเวลาเฉพาะที่เราอยู่ในคูหา ผมไม่คิดว่ากฎกติกาเหล่านั้น เป็นตัวแปรหลักในการส่งให้เพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.ลดลงเรื่อยๆ
แต่เพราะ “ความเป็นเพื่อไทย” แบบที่คนในพรรค กระทั่งเจ้าของพรรคคุ้นชินจน “มองข้ามคุณค่าของโหวตเตอร์” ไปต่างหาก ที่ผมคิดว่าคือปัจจัยสำคัญ
“เพื่อไทย” แบรนด์ที่ไม่ “คูล”
แต่กลับดู “เชย cheugy” สำหรับยุคหลังโควิดเวลาที่คนเพื่อไทยพูดถึงนโยบายการหาเสียง แบบที่ใช้กันมาตลอด เพราะเชื่อว่า กินใจประชาชน ตั้งแต่ยุคยังเป็นไทยรักไทย ก็คือ “ปากท้องของประชาชนต้องมาก่อน” โดยชูนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะเห็นความสำเร็จไม่ว่าจะเป็น “กองทุนหมู่บ้าน” “โอท็อป” “รถคันแรก” “บ้านเอื้ออาทร” “รับจำนำข้าว” และเรื่องที่เอามาขายได้ไม่มีวันเบื่อคือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่กลายเป็นนโยบายที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นที่รักของชาวบ้านอย่างยิ่ง
คำถามคือ แนวคิดการทำนโยบายแบบประชานิยมเหล่านี้ที่เคยได้ผล ทำไมมาถึงยุคหลังโควิด มันกลับไม่จับใจมวลชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าอีกแล้ว
ทั้งที่ในการประกาศนโยบายล่าสุด เพื่อหวังจะแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย คือ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทสำหรับทุกคนในประเทศที่อายุ 16 ปีขึ้นไป กลับทำให้คนส่วนใหญ่ “ไม่ซื้อ”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายเหล่านี้ไม่เข้าไปนั่งในใจของคนหลายกลุ่มในสังคม ก็เพราะสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นนั่นแหละ การแบ่งช่วงวัยของคนออกเป็นเจนต่างๆ สะท้อนว่า คนแต่ละวัยมีความคิด ความเชื่อ และแรงปรารถนาในการใช้ชีวิตต่างกัน โดยเฉพาะหลังโควิด ที่แนวคิดในการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปมากจริงๆ การทำการตลาด ทำโฆษณา ทำแบรนด์ต่างๆ ก็พากันต้องปรับแนวคิด ปรับกลยุทธ์กันหมด ยกเครื่องวิธีคิดเดิมๆ ทิ้งกันไปก็มาก
ส่วนเพื่อไทยก็ยังพูดแบบเดิมๆ ย้ำทุกครั้งด้วยความเชื่อว่า “ถ้าประชาชนอิ่มท้อง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างก็ตามมาเอง” ไม่มีอะไรที่สะท้อนว่าพรรคเข้าใจถึงความเปลี่ยนไปแล้วของผู้คนในสังคมทุกวันนี้ที่สามารถสื่อสารข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็วผ่านสารพัดแพลตฟอร์มดิจิทัล จนคนคิดได้ว่า ถ้าโครงสร้างสังคมยังคงแบบเดิม ปากท้องของคนจะอิ่มได้จริงหรือ
เปลี่ยนสโลแกนกี่ครั้ง
แต่ศูนย์กลางยังอยู่ที่ “เจ้าของพรรค”
จะรีแบรนด์ เพิ่มกี่พลัส กี่รีฟอร์ม ก็แพ้ต่อไปเพื่อไทย ทำไมถึงยังไม่สามารถพลิกผันนโยบายและภาพลักษณ์ของพรรคให้เข้ากับ VUCA World ได้ ก็น่าสงสัยอยู่ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยมีการตั้งทีม เพื่อไทยพลัส ขึ้นมา เพราะหวังจะปรับแนวทางการทำงานให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เมื่อปี 2562
แต่เราก็แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มีแค่เปลี่ยนสโลแกนไปเรื่อยๆ เช่น “ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ” มาเป็น “เพื่อไทย หัวใจคือประชาชน”
ผมเชื่อว่า เป็นเพราะจำนวนของคนในพรรคที่อายุมาก เคยชินกับการใช้วิธีหาเสียงแบบเก่า คงทำให้เสียงของคน “วัยพลัส” ทั้งหลายถูกกลบหายไป ด้วยวัฒนธรรมการทำการเมืองที่ผูกการตัดสินใจไว้กับคนไม่กี่คน และขาดความโปร่งใสในการสื่อสาร
การชูนโยบายต่างๆ ของเพื่อไทย แม้จะเห็นความพยายามที่จะกระจายไปให้ถึงคนกลุ่มต่างๆ แต่ปัญหาสำคัญคือ วิธีการสื่อสาร ที่ยังผูกติดยี่ห้อพรรคกับ “ตระกูลชินวัตร”
กลยุทธ์การส่งแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัย เพื่อเรียกขวัญ เพิ่มพลัง หวังให้ลูกค้ากลุ่มเดิมยังคงเชื่อในพรรค และสามารถเรียกลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ด้วยนั้น กลายเป็นกลยุทธ์ที่ “ล้มเหลว” ด้วยตัวแปรจากแพทองธารเอง ทั้งความเชี่ยวชาญในการขึ้นปราศรัย และการไม่มีข้อมูลที่ทำให้คนฟังรู้สึกได้ว่า “ทำการบ้านมาอย่างดี” จึงใช้แพตเทิร์นเดิม ซ้ำๆ ทุกครั้งในการปราศรัยจนคนที่นั่งดูไลฟ์ปราศรัยบ่อยๆ อย่างผมทายได้เลยว่า จะพูดอะไรบ้าง ประโยคต่อไปจะเป็นอะไร ยังไม่นับความช้าในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และการมีข้อมูลที่ไม่แม่นยำเพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการทำการตลาด
เปรียบเทียบกับพรรคก้าวไกล สร้างแบรนด์ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพรรคได้ในหลายระดับผ่านการตลาดแบบ “ซองผ้าป่า” และทุกเวทีมีการทำการบ้าน พูดถึงนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหาความเดือดร้อนของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจนและรวดเร็ว
ทำใจได้ไหมครับ ทักษิณ
ปล่อยมือ เพื่อไทย ให้เติบโต
เป็นองค์กรพรรคการเมืองอย่างแท้จริงทุกวันนี้ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราต้องยอมรับว่า การทำแบรนด์พรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ “แค่แจกกล้วย” เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ทุกคนสามารถเป็น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ได้ทั้งนั้น เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ
การทำพรรคการเมือง จึงต้องทำให้คนที่เป็นสมาชิกพรรครู้สึกและเชื่อมั่นว่า พรรคได้ให้พื้นที่สำหรับสมาชิกได้ส่งเสียง และรับฟังเสียงอย่างจริงใจ รวมทั้งมีกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใส ทำให้คนเชื่อถือได้ อย่างน้อยๆ ก็ต้องสามารถทำให้พรรคส่งเสียงไปในทางเดียวกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่รั้งรอเพราะกำลังขอการตัดสินใจจากใครคนใดคนหนึ่ง
คำแนะนำสำหรับพรรคเพื่อไทย สั้นๆ จากผม คนทำแบรนด์
ได้เวลาทุบพรรคเพื่อไทยทิ้งแล้ว
นำบทเรียนจากการเลือกตั้งสองครั้งในช่วง 5 ปี มารื้อสร้าง และประกอบขึ้นใหม่ ปล่อยให้พรรคอยู่ในคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาเป็นฝ่ายนำ ทำพรรคให้กลายเป็นองค์กรการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งผมเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยทำได้ เพราะมีต้นทุนที่ดีมาก เพียงแต่ต้องสลายวิธีคิดของคนในพรรคที่อยู่มานานจนเคยชิน ขี้เกียจปรับตัว เอ้ย ปรับตัวไม่ทัน (โทษๆ)
ด้วยความปรารถนาดีจริงจากใจ จากคนเคยโดนตราหน้าว่าเป็นครีเอทีฟควายแดงมาก่อนครับ •