อย่างน้อยที่สุด การส่งจดหมายเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ชาติ โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย ให้มาถกปัญหาสันติภาพในเมียนมาร์ วันนี้ (๑๘ มิถุนา) เป็นการกระทำที่ ‘ยะโส’ (arrogance) ของไทย ในทางการเมืองภูมิภาค
ประการหนึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ให้เกียรติต่อผลการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งหลายประเทศมีความอึดอัดขัดสน ต่อการที่กลุ่มสมาชิกไม่สามารถตกลงในมาตรการยับยั้งและแก้ไข มิให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการเข่นฆ่าประชาชนได้
ผลการประชุมที่แถลงเป็นทางการได้ในนามขององค์กรระหว่างประเทศนี้ เพียงเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนองเลือดของเมียนมาร์ ยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที หากแต่สองปีกว่าแล้ว อาเซียนไม่ยอมเชิญผู้นำทหารพม่ามาเจรจา
เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ปฏิบัติตาม ‘ความเห็นพ้อง ๕ ข้อ’ ของอาเซียนเมื่อปี ๒๕๖๔ อันรวมถึงการเรียกร้องให้ยุติการตั้งแง่เป็นศัตรูต่อประชาชนผู้เห็นต่าง รัฐบาลประยุทธ์เคยพยายามข้ามหน้าเพื่อนสมาชิกเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง
จนทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนอยู่ขณะนี้เกิดความไม่พอใจ และปฏิเสธที่จะรับรองข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยอย่างสิ้นเชิงในครั้งนี้ แม้นว่า ‘ดอน’ อ้างมีหลายชาติเห็นด้วยกับข้อเสนอของตน
อินโดนีเซียแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า ความพยายามเจรจากับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจในเมียนมาร์อย่างเงียบๆ ได้ผลคืบหน้าอย่างดีต่อกระบวนการสันติภาพเมื่อปี ๒๕๖๔ ระหว่างทุกฝ่ายในความขัดแย้งของเมียนมาร์
รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน พลากริชนัน ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวขณะเยือนกรุงวอชิงตันว่า “จะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ถ้าจะนำผู้เผด็จการเมียนมาร์มาเจรจาสุดยอด หรือแม้แต่การพูดคุยในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ”
แต่ดอนก็ออกจดหมายเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ ของรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารในพม่า มาเจรจาด้วยแล้วในวันนี้ ทำให้ฟิล รอเบิร์ตสัน รอง ผอ.ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ บอกว่าเป็นท่าทีที่หยิ่งยะโสยิ่งนัก