วันอาทิตย์, พฤษภาคม 14, 2566

แก้ไข ม.๑๑๒ เท่านั้นไม่พอ “ควรที่จะประกอบไปด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ให้ปราศจากความอยุติธรรมเสียที” ด้วย

การเพิ่มข้อหาของ สน.สำราญราษฎร์ต่อ หยก เด็กหญิงวัย ๑๕ ปี เพื่อที่จะกักกันตัวเธอไว้ในศูนย์อบรมเยาวชน จนทำให้เธอไม่สามารถเข้าสู่การศึกษาต่อในชั้นมัธยม ๔ ตามกำหนด เป็นความ อยุติธรรม เพียงเพื่อรักษาฐานันดรแห่ง ม.๑๑๒ เท่านั้น

ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนฯ เผยแพร่คำชี้แจงกรณีดังกล่าวไว้ว่า การที่หยกยืนกรานปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม “มิได้หมายความว่าเธอไม่ต้องการความยุติธรรม” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล และการราชทัณฑ์พึงสำเหนียก

“การดำเนินการออกหมายจับในคดีกับเด็กหรือเยาวชน มีความแตกต่างจากการออกหมายจับในคดีผู้ใหญ่” ศูนย์ทนายฯ อธิบายความแตกต่างของ ป.วิอาญามาตรา ๖๖ กับ ๖๗ อยู่ที่การออกหมายจับเด็กหรือเยาวชน “ศาลต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ”

“นอกเหนือจากกระบวนการการออกหมายจับที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้ว วิธีการและพฤติการณ์การจับกุมหยกในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ ยังมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย” ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่าในวันเกิดเหตุ “เจ้าหน้าที่หลายคนได้ทำการค้นตัวหยกโดยไม่ได้รับความยินยอม

ทั้งมีเจ้าหน้าที่นั่งทับตัวเธออีกด้วย การกระทำดังกล่าวขัดกับมาตรา ๖๙ วรรค ๓ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ” ซึ่งให้กระทำโดยละมุนละม่อม “คํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการประจาน” แต่ศาลมิพักที่จะแสดงจิตสำนึกเช่นนั้น

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ กลับอ้างในวันที่ ๑๒ พ.ค.ว่าในการตรวจสอบการจับกุมตัวหยก “ไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วยมาศาล” แทนที่จะปล่อยตัว เพื่อที่หยกจะสามารถเข้าเข้าเรียนในชั้น ม.๔ ในวันที่ ๑๔ นี้ได้

ศาลสั่งให้นำตัวหยกไปควบคุมไว้ที่สถานพินิจฯ บ้านปรานี อีกจนได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะว่ามีการแจ้งความข้อหา ม.๑๑๒ ต่อหยกไว้ โดย อานนท์ กลิ่นแก้ว นักกิจกรรมห้อยโหนสถาบันกษัตริย์ ศาลฯ ไม่รับพิจารณาแม้แต่คำร้องขอเลื่อนการพิจารณาเพื่อไปรายงานตัวเข้าเรียน

การที่หยกไปร่วมทำกิจกรรมที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หลังจากนั้น ๓ วัน เป็นการใช้เสรีภาพอันพึงมีตามกติการะหว่างประเทศ และเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญไทย ข้ออ้างจับกุมเพียง “มีหลักฐานสมควรว่า ได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา” ไร้น้ำหนักทางนิติธรรม

ฉะนี้ การแก้ไขกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ถ้าจะมีขึ้นในรัฐบาลหน้า ควรที่จะประกอบไปด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ให้ปราศจากความอยุติธรรมเสียที

(https://tlhr2014.com/archives/56034)