วันนี้ตอนบ่ายคล้อยจะมีการประกาศ ‘เอ็มโอยู’ หรือบันทึกความเข้าใจ (นัยหนึ่งคือข้อตกลง) ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ๘ พรรค ๓๑๓ เสียง นำโดยพรรคก้าวไกล สำนักข่าวบางแห่งเสนอรายละเอียดไว้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือคาดหมาย
เฉพาะที่ ‘เนชั่น’ แปะไว้ดูจะเป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกลมากกว่า ทว่ามีอย่างน้อยสองพรรคไม่เห็นด้วยบางข้อ ผลสรุปน่าจะลงเอยที่เอ็มโอยูเป็นเพียงข้อตกลงกว้างๆ ร่วมกัน โดยเมื่อถึงการบริหารจริง แต่ละพรรคสามารถดำเนินนโยบายของตนได้ ในกระทรวงที่รับผิดชอบ
ฉะนี้ผู้ที่ใส่ใจกับการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ต่างใจจดใจจ่อ กับผลการจัดสรรตำแหน่งในการบริหาร ทีจะกระจายไปตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็ปรากฏมี ‘โผ’ การตั้งรัฐบาล ‘พิธา’ โผล่ออกมาสองสามวันแล้ว ซึ่งก็เช่นกัน อาจจะมาจากของจริงหรือเพียงคาดเดา
ต่อการที่มีสื่อใหญ่เอาไปเล่น โผโผล่ดังกล่าวอาจเป็นโผจริงหลุดออกมากระเส็นกระสายก็ได้ เพราะตำแหน่งแห่งหนแต่ละคนดูเข้าท่าเข้าทีดี แค่ฉงนในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีสมศักดิ์ เทพสุทิน กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ฟาดกระทรวงหลักสองแห่ง
ฉะนั้นการที่เอานักการเมืองชุด ‘กลับบ้าน’ ขึ้นแท่นรัฐมนตรีท่องเที่ยวและคมนาคม ย่อมแสดงว่าสองคนนี้มีความสำคัญต่อพรรคเพื่อไทยอย่างยิ่งยวด ในส่วนของก้าวไกลที่ยึดกลาโหม มหาดไทย คลัง อุตสาหกรรม ดิจิทัลฯ พลังงาน และวัฒนธรรม ก็เข้าท่าดีอยู่
ทว่าน่าสนใจอยู่ที่การแถลงของเลขาฯ ก้าวไกลไว้ล่วงหน้า ว่าถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เสร็จสรรพ จะวางวาระหลักของรัฐบาลใหม่โดยให้ความสำคัญกับ “การแก้ไข ยุติปัญหาความขัดแย้ง และบาดแผลของสังคมไทยที่สืบเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน”
นั่นคือบาดแผลลึกที่มาจากการสลายชุมนุมช่วง ‘เมษา-พฤษภา ๕๓’ ชัยธวัช ตุลาธน ให้รายละเอียดต่อสื่อว่า “คือกระบวนการยุติธรรมซึ่งอยู่ในมือของดีเอสไอ ในฐานะที่เป็นคดีพิเศษ มันถูกแช่แข็งไว้ หยุดนิ่งไปตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี ๕๗
...มีการไต่สวนการเสียชีวิตไปแล้วเพียง ๓๓ ศพ ยังมีอีก ๖๒ ศพ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตาย” โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ‘การคืนความยุติธรรม’ นั้น มันมีแนวทางอยู่แล้วจากผลงานของ คอป. หรือคณะกรรมการค้นหาความจริง
รายงานของคณะกรรมการที่ตั้งในสมัยรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ทั้งที่มีข้อเสนอเหมาะควรหลายอย่าง เมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันในสภาทันที