วันอาทิตย์, พฤษภาคม 22, 2565

เลือกตั้งผู้ว่าฯ / สก. รอบนี้ เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครทั้งหลาย ที่ได้รับแจกมา ดูเสร็จ ไม่ใช้แล้ว อย่าทิ้ง!! ถึงจะไม่เลือกพวกเขา โปรดส่งมาให้ มูลนิธิกระจกเงา เค้านำไปใช้ประโยชน์ได้


มูลนิธิกระจกเงา
16h

เลือกตั้งผู้ว่าฯ / สก. รอบนี้
เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครทั้งหลาย
ที่ได้รับแจกมา ดูเสร็จ ไม่ใช้แล้ว อย่าทิ้ง!!
ถึงจะไม่เลือกพวกเขา
แต่เลือก กระจกเงาได้นะ
โปรดส่งมาให้เรานำไปใช้ประโยชน์
.
กระดาษทุก 25 กก. สามารถเปลี่ยนเป็น
หนังสือนิทานสำหรับเด็กได้ 1 เล่ม
.
โครงการอ่านสร้างชาติจะนำไปผลิต
และนำแจกจ่ายให้ห้องสมุด
ในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ
.
บริจาคเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร
รวมถึงกระดาษอื่นๆ ได้ที่มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
.
ช่วงนี้มีโปรส่งพัสดุราคาเหมาจ่าย จากนิ่มเอ็กซ์เพรส
ราคา 30 บาททุกกล่อง ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
รวบรวมมากับสิ่งของเหลือใช้อื่นๆ เข้ามาได้เลยค่ะ
.
#เลือกตั้งผู้ว่าปี2565
#รับบริจาคกระดาษ #โครงการอ่านสร้างชาติ
#มูลนิธิกระจกเงา

“ถ้าฉัน(คนไร้บ้าน)เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร”
.
พี่เตี้ยเป็นคนไร้บ้านมานานหลายปี บางห้วงพี่เตี้ยก็เดินกลับเข้าสู่วิถีของคนมีที่อยู่อาศัยเป็นครั้งคราว ครั้งคราวที่ถ้ามีงานและเงินที่ต่อเนื่องไปหลายเดือน พี่เตี้ยเดินเข้าเดินออกวิถีไร้บ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอ รู้กันดีว่าถ้าไม่เจอพี่เตี้ยตามพื้นที่สาธารณะ ให้สันนิษฐานได้เลยว่าเขามีงานและมีห้องให้อยู่ วันที่เราเจอกัน เราจึงขอให้พี่เตี้ยโคฟเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นปากเสียงของคนจนจัด เป็นผู้ว่าฯของคนไร้บ้าน
.
นโยบายที่ชื่อว่า “ไม่ได้มั่วแต่ทั่วถึง”
.
“เรื่องแรกอยากให้กรุงเทพมีห้องน้ำเพิ่มขึ้น เอาจริงๆ ในกรุงเทพมันควรมีห้องน้ำสาธารณะเยอะๆ ถ้าสร้างบนดินมันลำบาก มันดูไม่ดี ถ้าพี่เตี้ยเป็นผู้ว่าเองนะพี่เตี้ยจะทำเจาะลงใต้ดิน�เหมือนยุโรปเลย เราเคยไปเห็นเขาทำอะไรแบบนี้มาที่เยอรมัน เพราะตอนนั้นพี่เตี้ยอายุ 22 นะ เรากำลังเป็นสาวสวยเลย เคยได้ไปเที่ยวเพราะช่วงนั้นมีฝรั่งมาหลง (หัวเราะ) พอเห็นอะไรแบบนี้มันเพอร์เฟกต์มาก มันทำง่ายนิดเดียว อย่างบ้านเรารถไฟใต้ดินยังเจาะได้ เจาะห้องน้ำก็ต้องได้เหมือนกัน ใช้เวลาไม่นานด้วย ขุดลงไปและก็ทำข้างล่างเลย ถ้าเป็นผู้ว่าจะทำเรื่องนี้ ในเมืองหลวงมันต้องมีห้องน้ำสาธารณะเยอะๆ เพราะคนสัญจรเดินทางอยู่ตลอดเวลา”
.
“อย่างตอนนี้พื้นที่ในกรุงเทพมีปัญหาเรื่องความสกปรก มีคนทั้งเยี่ยว ทั้งขี้ ตามข้างทาง ขอพูด�หยาบๆ เลยนะ อะไรแบบนี้มันดูไม่ดีมากๆ ถ้าเราทำห้องน้ำสาธารณะให้เพิ่มขึ้น อย่างคนไร้บ้านเนี่ยถ้าเขามีทุกข์ก็เข้าไปปลดทุกข์ได้เลย บอกตรงๆ นะห้องน้ำตอนนี้หาเข้ายากมาก แทบจะไม่มีเลย ปวดทีก็วิ่งหาเข้าปั๊มน้ำมัน เข้าวัดบ้าง ถ้ากรุงเทพมีห้องน้ำเยอะๆ แบบทำทุกสี่แยกไฟแดง หรือทุกหัวมุมถนนมันจะดีต่อเขามาก อีกอย่างดีต่อส่วนรวมด้วย ถ้ามีห้องน้ำเขาก็เลือกเข้าห้องน้ำกัน คงไม่มายืนฉี่นั่งอึกันตามข้างถนนหรอก”
.
“อีกเรื่องตอนนี้ประชาชนกำลังประสบปัญหาเรื่องค่ารถค่าเดินทาง อยากฟื้นให้รถเมล์ฟรีกลับมา�มันจะดีกับทุกคนทั้งคนที่ไร้บ้านก็ดีหรือไม่ได้ไร้บ้านก็ดี เพราะช่วงนี้ระบบการเงินคนไทยแย่มาก ถ้าพูดให้สนุกสนานอารมณ์แบบพระเจ้าลงโทษอย่างหนัก บางคนก็ตกงาน หรือบางคนเรียนจบแล้วแต่ก็ยังไม่มีงานทำ ทุกวันนี้กำเงิน 100 นึง จะไปไหนมันก็ลำบาก ถ้ามีรถเมล์ฟรีมันก็ช่วยลดต้นทุนตรงนี้ไปได้ หรืออย่างคนไร้บ้านเนี่ยเวลาไปไหนเขาจะได้สัญจรสะดวก บางคนออกไปหางานทำก็นั่งรถเมล์ฟรีไปได้”
.
“อยากควบคุมเรื่องการค้าขาย ค้าขายต้องมีการกำกับเรื่องราคา ขายอาหารให้ถูกลง ยกตัวอย่างช่วงนี้ส้มตำมันแพงมาก พี่เตี้ยเคยถามป้าแม่ค้าที่ขายว่าเนี่ยส้มตำครกละเท่าไร เขาบอก 50 บาท พอบอกขายแค่ 25 บาทได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะมะละกอก็แพง พริกก็แพง ถั่วก็แพง ตอนนี้ราคาอาหารทั่วไปมันเว่อร์เกิน ใครจะไปซื้อกินได้ทุกวัน ถ้าราคาถูกคนเขาก็เข้าถึงกันได้”
.
“เรื่องของขยะ บ้านเรายังมักง่ายกับเรื่องนี้กันมาก กินเสร็จทิ้งเลย ไม่เก็บอะไรทั้งสิ้น วิธีแก้คงต้องเน้นย้ำกันบ่อยๆ ว่าให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ตั้งกฎออกมาควบคุมเรื่องนี้เลย และถังขยะมันมีน้อยด้วยในกรุงเทพ เมื่อก่อนยุคสมัครถังขยะเยอะมาก วางเป็นจุดๆ เลย เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วจะให้ทิ้งกันยังไง ก็เหมือนอยากให้เราเข้าห้องน้ำแต่ไม่มีห้องน้ำให้เราเข้า อยากให้เราทิ้งขยะ แต่ไม่มีถังขยะให้เราทิ้ง ตรงนี้แหละสำคัญ”
“อีกเรื่องที่ขัดใจมาก คือป้ายรถเมล์ เราเห็นปัญหาเลยว่าเวลาผู้โดยสารยืนรอมันร้อนมาก ถ้าพี่เตี้ยเป็นผู้ว่าป้ายรถเมล์มันจะไม่ได้เป็นแค่ป้ายบอกทาง จะออกแบบให้มันมีหลังคา กันแดดกันฝนได้ กลางคืนมีไฟสว่างหน่อย มีที่นั่งให้สบาย หรืออย่างตอนนี้บางจุดที่พี่เตี้ยไปใช้มันดีมากเลย มีที่ชาร์จโทรศัพท์ อันนี้ยิ่งดีกับคนไร้บ้านมากๆ มันควรมีการขยายจุดป้ายรถเมล์ลักษณะนี้ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ อย่างพี่เตี้ยจะไปหาชาร์จโทรศัพท์ป้ายรถเมล์ทีนึงก็ต้องไปนู่นถึงสีลมเลย อยากให้ขยายทุกจุด เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าถึงได้ง่าย และมันไม่ใช่ได้แค่กับคนไร้บ้านอย่างเดียวนะ แต่ได้กับทุกคนในกรุงเทพมหานครด้วย”
.
นโยบาย “ฉันเข้าใจเธอดี คนไร้บ้าน”
.
“ในส่วนของเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน พี่เตี้ยมองว่ามันควรมีการจัดที่อยู่แบบ 2 แบบ คือจัดที่อยู่แบบอยู่รวม และแบบห้องส่วนตัว อย่างคนไร้บ้านที่ยังไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ในแบบแรกคือห้องพักอาศัยที่ให้เขาอยู่ฟรีไปก่อนจนกว่าจะตั้งหลักได้ แต่ถ้าเริ่มมีงานทำแล้วอยากมีห้องพักส่วนตัวในแบบที่สองก็อาจจ่ายครึ่งนึงแบบนี้ และอีกครึ่งให้หลวงช่วยออกให้ และอย่างคนที่ไม่มีงานทำระหว่างอยู่ฟรีอาจมีหน่วยจัดหางานเข้ามาให้งานที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยเจ้าหน้าที่เป็นคนดูแลจะต้องเจาะความถนัดของคนไร้บ้านแต่ละคนให้ได้ ทำให้มันละเอียดหน่อย และสนับสนุนงานที่เหมาะสมกับเขาที่สุดเพื่อให้เขาทำงานได้อย่างเต็มที่”
“คนไร้บ้านเรื่องที่อยู่อาศัยสำคัญที่สุด รองลงมาคือเรื่องงาน เพราะว่าบางคนเขาไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ ถ้ามีที่อยู่แล้วก็ต้องสนับสนุนเรื่องงานเขาต่อไป เพราะบางคนหางานเองไม่ได้ก็ต้องเอางานมาให้เขาถึงที่ ถ้าพี่เตี้ยเป็นผู้ว่าฯนะ จะพยายามออกแบบงานที่เข้ากับพวกเขาให้มากที่สุดทั้งเรื่องอายุ และพรสวรรค์ อย่างเช่น ใครชอบใครเก่งทาสีก็รับงานทาสีมาเลย ใครที่ว่าพอมีแรงแบกของได้ยังพอวัยรุ่นอยู่ก็ไปยกของ หรือมีทักษะทำงานก่อสร้างอะไรแบบนี้ ชอบอะไรก็ทำแบบนั้น อย่าไปฝืน ฝืนแล้วมันไปต่อไม่ได้ และถ้าคนมีอายุแก่มากร่างกายไม่ไหวจริงๆ ไปไหนไม่ได้เลย เราต้องหาช่องทางที่ว่า เขามีญาติที่ยังติดต่อได้ไหม ถ้าไม่มีญาติก็ให้มีศูนย์พักพิงอะไรที่พอจะรับเขาไปดูแลต่อได้หรือเปล่ากรณีที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว”
ผลิตโดย จ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา
————————————————
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB