วันอาทิตย์, พฤษภาคม 22, 2565

#เรียนผู้ว่ามหานคร “ไม่ว่าผู้ว่า กทม. คนใหม่จะเป็นใคร ผมอยากให้เขาจริงจังกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เข้าถึงคนในพื้นที่จริงๆ"



มนุษย์กรุงเทพฯ
May 15

“บ้านของผมอยู่ติดกับคลองบางกอกใหญ่ ความทรงจำแรกๆ ต่อคลองคือ หน้าบ้านเคยน้ำท่วม ผมอายุ 3-4 ขวบได้พายเรือเล่นแล้วมีความสุขมาก พออายุสัก 8-9 ขวบ ผมกับพี่ชายพายไปสำรวจคลองตรงที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านศิลปิน เราได้เห็นวิถีชีวิตริมคลองของชาวบ้าน พอขากลับผ่านสะพานบางไผ่ ผมเห็นหิ่งห้อยค่อยๆ บินขึ้นมาบนต้นไม้ เป็นภาพความประทับใจต่อธรรมชาติริมคลอง ช่วงเรียน ม.ต้น ผมขึ้นเรือหางยาวไปโรงเรียน พอช่วงมหาวิทยาลัยและตอนทำงาน ผมห่างจากชีวิตริมคลองไป จนกระทั่งมีลูกคนแรก ผมอยากหารายได้เสริมและอยากเล่าเรื่องคลองให้คนอื่นได้รับรู้ เลยตัดสินใจซื้อเรือแท็กซี่มาพาคนท่องเที่ยวตามคลอง แต่เรือที่ใช้น้ำมันมีการปล่อยมลพิษทั้งคลื่น ควัน เสียง และมลพิษที่ลงน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม ผมเลยพยายามหาวิธีดัดแปลงให้กลายเป็นเรือไฟฟ้า - เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat
“ผมตั้งใจให้เรือไฟฟ้าของตัวเองก่อมลพิษน้อยที่สุด แต่แทบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มักมีการนำเสนอเรื่อง ‘เรือเมล์’ มาเป็นวิธีแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เรื่องนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ คนทั่วไปมักคิดว่าความเร็วของเรือคงสัก 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรถยนต์ แต่เรือที่วิ่งเร็วขนาดนั้นจะสร้างคลื่นที่ใหญ่มาก ยังไม่รวมเรื่องเสียงและควันกับเรือที่ใช้น้ำมันอีก หลายปีก่อนมีการนำเรือด่วนเจ้าพระยารุ่นเก่ามาวิ่ง ไม่ใช่แค่วิ่งเร็วมาก แต่วิ่งถี่มากด้วย เวลาผ่านไปอาทิตย์เดียว บ้านบางหลังตลิ่งพัง บางหลังศาลาทรุด พอเขาไปร้องเรียนก็ไม่มีการรับผิดชอบ ความเร็วที่เมืองอัมสเตอร์ดัมคิดไว้คือ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือถ้าออกแบบเรือให้ดีสักหน่อยก็อาจได้ถึง 12-13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“บางคนมีความเข้าใจว่า เรือที่วิ่งเร็วๆ เป็นเรื่องดี น้ำจะได้เกิดคลื่น มีฟอง เป็นการฟอกอากาศ ผมว่ามันจริงแค่นิดเดียว เพราะยังไงก็ควรบำบัดน้ำเสียจากต้นทางก่อนปล่อยลงคลอง แต่วิธีนั้นอาจเหมาะกับคลองที่ตายแล้ว ไม่มีระบบนิเวศ ไม่มีวิถีชีวิตของผู้คน ไม่มีเรือของชาวบ้าน เช่น คลองแสนแสบ จริงๆ ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย เรือที่วิ่งเร็วแบบนั้นก็สร้างคลื่นขนาดใหญ่ ถ้าไปสำรวจตลิ่งปูนของคลองแสนแสบ หลายพื้นที่ก็พังเละ ภาครัฐก็ใช้วิธีจัดสรรงบมาซ่อมแซมไปเรื่อยๆ การทำเรือเมล์ถือเป็นเรื่องดีนะ คนที่มาสัญจรด้วยเรือก็ได้เห็นความสำคัญของคลองมากขึ้น แต่ภาครัฐควรเริ่มต้นจากเข้าใจข้อจำกัดและคำนึงถึงผลกระทบด้วย ผมมองว่าเรือเมล์เป็นทางเลือกในการเดินทางได้ แต่คงไม่ใช่สิ่งที่มาแทนการเดินทางบนถนนได้ขนาดนั้น
“เวลาพูดถึงนโยบายเรือเมล์ ภาครัฐมักคิดถึงการต่อเรือลำใหม่ไปเลย ไม่ได้สนใจผู้ประกอบการเดิมเท่าไร แต่ที่ผ่านมาพิษโควิดทำให้คนเรือเก่าๆ ร่อแร่เลย คนขายเรือทิ้งเต็มไปหมด ถ้าในคลองจะมีเรือเมล์ที่เป็นเรือใหม่มาวิ่ง คนเรือเก่าๆ คงตายยิ่งกว่าเดิม ผมมองว่าสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าและประหยัดกว่า คือการดัดแปลงเรือเก่า และจ้างงานคนเรือเดิม แค่ กทม. เข้ามาบริหารจัดการสักหน่อย เรื่องพวกนี้ไม่ได้ลงทุนมากเลย ถ้าภาครัฐต้องการให้เรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมก็มองว่าเรือไฟฟ้าตอบโจทย์มาก อาจเริ่มต้นทำจากเรือข้ามฟากก่อนก็ได้ การวิ่งในระยะสั้นๆ ที่ใช้พลังงานไม่มาก เหมาะมากเลย จากประสบการณ์ของตัวเอง เวลาเรือไฟฟ้าผ่านไปที่ไหนก็ไม่มีใครด่า มันเงียบ ไม่มีควัน และไม่สร้างคลื่นขนาดใหญ่
“การพัฒนาทำให้พื้นที่ย่านฝั่งธนเปลี่ยนไปมาก ตอนผมกลับไปสำรวจคลองด้วยเรือไฟฟ้า พื้นที่สีเขียวหลายแห่งกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ผมไม่ได้ค้านการพัฒนา แต่การก่อสร้างในหลายพื้นที่ตัดต้นไม้แล้วเพิ่มพื้นคอนกรีต ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของย่านสูงขึ้น จนไม่สามารถปลูกผลผลิตบางอย่างได้ เรื่องที่เกี่ยวกับคลองคือ โครงการเหล่านั้นสร้างตลิ่งปูนสูงมาก ส่งผลกระทบกับการเชื่อมต่อของคนริมคลองและคนที่มาท่องเที่ยว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผังเมืองที่ไม่สามารถกำหนดเมืองที่ควรเป็น อยู่ๆ ก็เปลี่ยนสีตามการพัฒนา พื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่สีเขียวหลายแห่งไม่ถูกมองในแง่การอนุรักษ์ ถ้ารัฐมีวิสัยทัศน์ก็ควรสนับสนุนให้รักษาตลิ่งดินตามหลักวิชาการ มันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าคลองมีชีวิต
“สำหรับคนที่ใช้เรือในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีเอื้อให้เช็คข้อมูลต่างๆ ผ่านมือถือได้แล้ว ขอแค่ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลออกมา การมีข้อมูลทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้การบริหารจัดการประตูน้ำทำแบบเงียบๆ อยากรู้ก็ต้องเสาะหาเอง ผมเคยคำนวณว่าช่วงนี้น้ำขึ้นสูง คลองนี้ไปได้แน่นอน ปรากฏว่าวันนั้นไปแล้วกลับไม่ได้ เพราะอยู่ๆ ก็มีการทดลองเดินเครื่องสูบน้ำในคลองออกทะเล สูบๆๆ ทั้งวัน ทำให้เรือของเราไปติดตื้น ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันไม่ใช่แบบนี้ แต่คนดูแลประตูน้ำก็น่าเห็นใจแหละ เขาต้องทำตามคำสั่ง ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. บางคนพูดถึงการใช้เทคโนโลยีราคาแพงมาจัดการ ยังไม่ต้องไปถึงตรงนั้นก็ได้ แค่ช่วยเปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านได้รับรู้ก่อน
“ส่วนเรื่องของขยะในคลอง เรื่องที่น่าตกใจคือ กทม. ไม่มีงบประมาณจัดการขยะในเชิงรุกสักเท่าไร ตอนประเทศไทยเป็นข่าวเรื่องทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เราค่อยมีงบประมาณมาแก้ปัญหา เกือบทั้งหมดคือการดักขยะไม่ให้ออกทะเล แต่ภาครัฐไม่ได้คิดถึงการแก้ปัญหาจากต้นทาง ทั้งที่มีหลายเรื่องให้ทำได้ เช่น เข้าไปพูดคุยกับโรงงานต่างๆ คลองไหนมีขยะเยอะก็ลงพื้นที่ไปหาต้นตอ ถ้าตั้งใจทำงานเชิงรุกจริงๆ เราหาเจอหมดแหละ เขตที่อยู่ริมคลองมีเรือที่ใช้การได้ไม่กี่ลำ ภารกิจส่วนใหญ่คือฝ่ายรักษาความสะอาดเอาไว้เก็บขยะตามบ้าน พอเห็นคนทิ้งขยะก็ไม่มีอำนาจปรับ คนที่มีอำนาจปรับคือเทศกิจ แต่ก็มีภารกิจอื่นมากมายจนแทบไม่ได้มาลงคลอง การทำงานเชิงรุกจะแก้ที่ต้นตอ ส่วนการทำงานเชิงรับจะทำไม่จบสิ้น
“ไม่ว่าผู้ว่า กทม. คนใหม่จะเป็นใคร ผมอยากให้เขาจริงจังกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เข้าถึงคนในพื้นที่จริงๆ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมาคือการมาถามว่า 'เราจะทำแบบนี้ เห็นด้วยหรือไม่' ไม่มีคำถามปลายเปิดว่าควรทำเรื่องนี้ยังไง ยิ่งไปกว่านั้น เขามักจะไม่ถามคนที่อาจไม่เห็นด้วย หลายคนที่อยากสื่อสารก็ไม่ได้รับโอกาส ผมมองว่าการแก้ปัญหาคลองควรเป็นแบบ Nature-based Solutions คือเอาธรรมชาติเป็นรากฐานในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมามนุษย์พยายามจะควบคุมธรรมชาติ หลายครั้งทำโดยขาดความเข้าใจธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ซึ่งวิธีการแบบนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะนำไปสู่ความล้มเหลว”
-
#มนุษย์กรุงเทพฯxThairathTV
#เรียนผู้ว่ามหานคร
ย้อนกลับไปในอดีต พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ณ ปัจจุบัน เคยมีการสัญจรทางน้ำอย่างเป็นปกติ เมื่อเปลี่ยนมาสู่การสัญจรทางบก คูคลองก็ค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง พร้อมกับวิถีชีวิตในแง่มุมอื่นค่อยๆ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางแห่งเปลี่ยนเป็นสายน้ำไร้ชีวิตไปแล้ว และอีกหลายแห่งที่ค่อยๆ เจอแรงปะทะจากการพัฒนา และมีแนวโน้มจะไปสู่จุดเดียวกันในวันใดวันหนึ่ง
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ มีบ้านเกิดอยู่ติดกับคลองบางกอกใหญ่ ย่านฝั่งธนบุรี เขาคลุกคลีกับสายน้ำมาตั้งแต่เด็ก เมื่อวันหนึ่งอยากมีรายได้เสริมให้ครอบครัวและอยากส่งต่อเรื่องราวคลองไปยังผู้คน เขาตัดสินใจซื้อเรือแท็กซี่มารับนักท่องเที่ยว ก่อนที่วันหนึ่งจะดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง (เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat) เขาไม่ได้สนใจเรื่องคลองในฐานะความรื่นรมย์เท่านั้น แต่ยังศึกษาข้อมูล สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่างๆ ตั้งคำถาม แล้วแสดงความคิดเห็นของตัวเองไว้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ด้วย
แน่นอนว่า เสียงสะท้อนของเขาเป็นเพียงบางส่วนของปัญหา ดังนั้นใครพบเจอปัญหาเกี่ยวกับคูคลองในแง่มุมไหนอีก แล้วกำลังอัดอั้น หงุดหงิด เหนื่อยหน่าย อยากบ่น อยากระบาย หรืออยากร้องเรียนกับผู้ว่า กทม. เราอยากเชิญชวนมาบอกเล่าพร้อมกับติดแฮชแท็ก #เรียนผู้ว่ามหานคร ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง
เผื่อว่าเสียงของผู้ประสบปัญหาโดยตรงจะถูกส่งไปยังผู้มีอำนาจที่กำลังจะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ให้มหานครแห่งนี้เปลี่ยนไป ดีกว่านี้ และเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน