วันอาทิตย์, พฤษภาคม 29, 2565

ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ 'ชัชชาติ' ขาดลอย? คุยกับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล - The Matter


The MATTER
May 26

BRIEF: ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ 'ชัชชาติ' ขาดลอย? คุยกับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
.
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยมากถึง 1.3 ล้านคะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง พี่เอ้ - สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ มากกว่า 5 เท่าตัว
.
ถึงแม้จะมีบางคนค้านว่าผลเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อาจไม่สะท้อนผลการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในปีหน้ามากนัก ซึ่งก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าผลการเลือกตั้ง ส.ก. ไม่สะท้อนอะไรเลย คงไม่ถูกต้องนัก เพราะมันคือสนามจำลองการเลือกตั้งใหญ่ที่ถึง โดยเฉพาะพลังประชารัฐที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งในพื้นที่ กทม. ในการเลือกตั้งปี 2562
.
ถ้าลงลึกอีกนิดในคะแนนของ ส.ก. พรรคที่นิยามตนว่าเป็น ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ สามารถกวาดที่นั่งไปได้ถึง 36 ท่ีนั่ง (พรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล และไทยสร้างไทย) ขณะที่ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ กลับทำได้เพียงแค่ 14 ที่นั่ง (พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล)
.
หรือเปรียบเป็นเกมฟุตบอล ฝ่ายก้าวหน้ายิงขาดชนิดไม่ต้องไปหวังลุ้นในเลก 2
.
เกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย ที่เคยมีฐานเสียงแข็งแกร่งและได้รับการสนับสนุนในการเลือกใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ทำไมยุทธศาสตร์ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ ที่ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง กลับไม่ทำให้พวกเขารวมตัวเพื่อลงคะแนนเสียงในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ แล้วผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนนัยยะสำคัญอันใดถึงกระแสของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า
.
The MATTER มัดรวมคำถามเหล่านี้ ไปถามกับ กนกรัตน์ เลิศชูวงศ์สกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และเจ้าของงานวิจัย “การเติบโตของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และการเสื่อมถอยของกลุ่มเสรีนิยม ในขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ”
.
#ใครคืออนุรักษ์นิยมไทย
.
กนกรัตน์​ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั่วโลกมีองค์ประกอบร่วมกัน 4 ประการคือ
- ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
- ไม่เชื่อในความเท่าเทียม
- เชื่อในเรื่องลำดับชั้น
- ต่อต้านประชาธิปไตย เพราะมันขัดค้างกับองค์ประกอบ 3 ข้อที่กล่าวมา
.
ขณะที่ถ้าหันมามองกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย เธอแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมชนชั้นสูง หรือกลุ่มผู้สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูงและขุนนาง
- กลุ่มข้าราชการ
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมชนชั้นกลาง
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เช่น กลุ่มสันติอโศกในช่วงม็อบพันธมิตร หรือกลุ่มชาตินิยมสุดขั้วที่มักสร้างวาทกรรม เช่น ชังชาติ, ขายชาติ หรือมีนักการเมืองต่างชาติหนุนหลัง
.
#ทำไมคะแนนรวมของอนุรักษ์นิยมถึงลดลง
.
สมชัย ศรีสุทธิยากร เขียนไว้ในเฟซบุ๊กได้อย่างน่าสนใจ โดยเขาตั้งคำถามว่าคะแนน 1.3 ล้านคะแนนที่ชัชชาติได้ในการเลือกตั้งมาจากไหน ก่อนประเมินว่ามีคะแนนของคนที่เลือก ส.ก. พรรคหนึ่ง แต่มาเลือกผู้ว่าฯ เป็นชัชชาติจำนวนมากราว 7.6 แสนคะแนน
.
อย่างไรก็ตาม ทางด้านกนกรัตน์มองต่างออกไป เธอชี้ว่าถ้าเทียบกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 คะแนนที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเคยเทให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ราว 1.2 ล้านคะแนน ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับคะแนนที่ลงให้ผู้สมัครฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้ง 4 คนในการเลือกตั้งครั้งนี้ (คะแนนรวมกันที่ 778,787 คะแนน)
.
แต่เธอให้น้ำหนักกับความเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และจำนวนกลุ่ม Swing Voter มากกว่า เธอกล่าวว่า
.
“การที่ไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นาน 9 ปี ทำให้เกิดมีกลุ่ม First Time Voter มากถึง 700,000-800,000 เสียงที่เพิ่มเข้ามา บวกกับกลุ่ม Gen Y ยิ่งทำให้มีตัวเลขรวมกันอาจมากถึง 1-2 ล้านเสียง และถ้าไปผนวกกับฐานมวลชนคนเสื้อแดง มันเลยทำให้เห็นภาพการชนะของชัชชาติและ ส.ก. ฝั่งเสรีนิยมอย่างถล่มทลาย”
.
“อีกสาเหตุคือบทบาทของ Swing Voter เราเห็นชัดว่ามันเป็นการขยับตัวของคนกลางๆ ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลรัฐประหาร เพราะเบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง แต่ภายหลังการดำรงตำแหน่งอันยาวนานของรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. มันทำให้กลุ่มนี้เริ่มหันเข้าหาทางเลือกใหม่มากขึ้น”
.
#ทำไมอนุรักษ์นิยมถึงรวมกันไม่ได้
.
ในช่วงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราได้เห็นทั้งบางข้อความที่ถูกส่งเข้ามือถือ และอ้างชื่อของ พี่เอ้ หรือข้อความบนป้ายหาเสียงของอดีตผู้ว่าฯ ที่เขียนว่า “หยุดลังเลแล้วเทให้เบอร์ 6” สารทั้งหมดคือกระแสจากฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ต้องการให้มีการเทคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง คล้ายครั้ง ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’
.
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งประเด็นนี้ นักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า
.
“ถ้าตามเขามาตั้งแต่ช่วงก่อตัวของพันธมิตร เราจะเห็นว่าอนุรักษ์นิยมมีจังหวะที่รวมกันและแยกกันตลอดเวลา”
.
กนกรัตน์ ขยายความว่าธรรมชาติของอนุรักษ์นิยมในไทยมีลักษณะ “Hundred Shades of Conservatism” กล่าวคือมีความหลากหลาย แข่งขัน และพร้อมโจมตีกันตลอดเวลา ซึ่งอนุรักษ์นิยมจะสามารถรวมตัวกันได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายเสรีนิยมขึ้นมามีอำนาจ อาทิ สมัยรัฐบาลทักษิณ, รัฐบาลสมัคร หรือสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะที่เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจลดลง กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็พร้อมแข่งขันกันในทันที เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและตอบสนองความต้องการของผู้สนับสนุนในปีกของตน
.
“ลองนึกถึงช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นยังมีม็อบพันธมิตรเป็น 100 กว่าวันหน้าทำเนียบ หรือคำว่า ‘พรรคแมลงสาบ’ ก็ไม่ได้มาจากปีกเสรีนิยม”
.
“เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พวกเขาไม่เคยรวมตัวกันเลย เช่น ในปี 2562 มีทั้งประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ หรือในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีทั้ง พรรคเพื่อฟ้าดิน (สันติอโศก), พรรคสังคมประชาธิปไทย (พันธมิตร) ขณะที่อีกปีกของกลุ่มพันธมิตร กลับพยายามรณรงค์โนโหวต”
.
อีกสองสาเหตุที่กนกรัตน์มองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องคือ ฝั่งอนุรักษ์นิยมยังขาดผู้นำที่สามารถรวมคนใน 4 ปีกเอาไว้ได้ และอีกประการคือ เธอเชื่อว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่ได้จริงจังกับการแข่งขันรอบนี้ เพราะพวกเขามองว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีอำนาจมากมายถึงขนาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จนอำนาจของพวกเขาสั่นคลอน
.
#ประชาธิปัตย์คืนชีพ
.
ประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พี่เอ้ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เบียดขึ้นมากลายเป็นที่ 2 ในการชิงผู้ว่าฯ กทม. เหนือ วิโรจน์​ ลักขณาอดิศร รวมถึง สกลธี ภัททิยกุล และ พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รวมถึงฝาก ส.ก. ของประชาธิปัตย์ที่สามารถคว้าเก้าอี้ไปได้ถีง 9 ที่นั่ง จากที่ล้มเหลวในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา
.
คำถามคือ นี่คือการคืนชีพของพรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่า ?
.
นักรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ​ ชวนมองประเด็นนี้ผ่าน 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการถดถอยของพรรคพลังประชารัฐ เธอชี้ว่าอันที่จริง พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลเฉพาะกิจอยู่แล้ว กล่าวคือการเอาชนะพรรคเพื่อไทย หรือให้ตรงกว่านั้นว่าล้มล้างระบอบทักษิณ
.
“พลังประชารัฐมันหมดอายุไปแล้ว เพราะมันเป็นพรรคชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในระยะสั้นอย่างการกำจัดเพื่อไทยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเพื่อสร้างฐานอำนาจในระยะยาวอย่างแท้จริง ซึ่งสุดท้ายเป้าหมายนั้นก็ล้มเหลว เพราะนอกจากไม่สามารถกำจัดอำนาจของเพื่อไทยได้ ยังมีการขึ้นมาของพรรคก้าวไกลอีก”
.
อีกประเด็นที่เธอมองคือ ผลการเลือกตั้งปี 2562 เป็นเพียงผลลัพธ์ชั่วคราวเท่านั้น กล่าวคือคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์เหมือนเดิม หรือเรียกได้ว่ากลับสู่ “ฐานที่มั่น”
.
“ประชาธิปัตย์เป็นพรรคชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมคือ พร้อมปรับหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อต่อสู้ในระบบเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 มันเป็นการลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์แบบชั่วคราว ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนเหล่านี้จะกลับมาสู่ฐานที่มั่น หรือลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์”
.
#จากกทมถึงเลือกตั้งใหญ่
.
กนกรัตน์วิเคราะห์ว่า ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในปีหน้านี้ มีประเด็นที่น่าติดตามจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมเองทั้งหมด 4 ประเด็น
.
- ส.ส. พรรคพลังประชารัฐหาทางย้ายพรรค โดยเฉพาะ ส.ส. ใน กทม. ประเด็นนี้ นักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่ามาจากผลการเลือกตั้ง ส.ก. และภาพรวมการทำงานของนายกฯ คนปัจจุบันเอง
.
- กลุ่ม Swing Voter มีแนวโน้มว่าจะหันมาทางเสรีนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิลงคะแนนกลุ่มนี้ ยังไม่น่าจะหันไปเลือกพรรคที่มีแนวคิดก้าวหน้าอย่างก้าวไกล แต่อาจจะหันมาพรรคที่ก้าวหน้าแต่ประนีประนอมมากกว่านั้น
.
“กลุ่มที่ Swing Voter ต้องการคือคนแบบ ชัชชาติ มีคุณสมบัติแบบผู้ดีไทย (หัวเราะ) มีการศึกษา พูดจาดี มีความอ่อนน้อม แต่ก็ไม่ได้อยู่ปีกอนุรักษ์นิยม”
.
- แคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากปีกอนุรักษ์นิยมทุกฝ่าย เพื่อรวมพลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมให้สำเร็จ แต่เมื่อถามว่าเธอเห็นใครไหมที่พอเป็นไปได้
.
“ถามว่าเห็นใครไหม? มันยากมากเลย อย่างในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้เรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมแทบจะเทไพ่หมดหน้าตักแล้ว”
.
- อนุรักษ์นิยมจะคงเป็นอนุรักษ์นิยม เธอมองว่าพรรคจากฝั่งอนุรักษ์นิยมจะยังคงมีการวางแคมเปญเลือกตั้งแบบเดิม เลือกผู้สมัครแบบเดิม และออกนโยบายแบบเดิม เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นท่าทีของการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งอนุรักษ์นิยมเลย
.
“เรายังไม่เห็นการปรับตัวของปีกอนุรักษ์นิยมในเมืองไทย ที่พยายามเข้าใจมวลชน ยอมรับผลการเลือกตั้ง ปรับปรุงนโยบาย หรือปรับตัวเพื่อเข้าหาฐานเสียงกลุ่มอื่น ไม่มีภาพของ Compromise Conservative ให้เห็นเลย (หัวเราะ)”
.
“พอเขาไม่ปรับตัว มันยากที่จะดึงคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบหัวก้าวหน้าเข้ามาได้ ยกตัวอย่าง ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ กรณ์ จาติกวณิช คนพวกนี้แค่คิดต่างก็ถูกเบียดขับออกมาจากพรรคทันที และปัญหาการเบียดขับนี้มันคือปัญหาภายในพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมตอนนี้”
.
ซึ่งเธอสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า จากสถานการณ์และแรงลมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ที่ในการเลือกตั้งในปีหน้า พรรคจากฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้งหลายอาจจะ “ไม่ชนะ”
.
.
#Brief #TheMATTER #อนุรักษ์นิยม #เลือกตั้งผู้ว่ากทม