การแถลงจับมือทำงานร่วมกันในสภา กทม.ของพรรค 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' คนละเรื่องกับการที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าคว่ำงบประมาณปี ๖๖ ของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็มีข้อคิดเดียวกัน คือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนแบบ ‘real time’
แผนการทำงานร่วมกันของสองพรรคการเมืองในสภา กทม. ไม่เพียงสร้างเอกภาพและแสดงความโปร่งใส หากความเห็นชอบของพรรคทั้งสอง “ให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน” นั้น
เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะขจัดปัญหา รักษาอาการเน่าเฟะของการบริหารงานเทศบาลกรุงเทพฯ ซึ่งหมักหมมมานานได้อย่างเห็นภาพชัดเจน เช่นกันกับการประกาศไม่รับร่าง พรบ.งบประมาณปี ๖๖ ว่าเป็น “ขอทานเลี้ยงวันเกิด” ดังสุทิน คลังแสง ว่า
“พรรคร่วมฝ่ายค้านวิเคราะห์กันแล้ว มีความเห็นทุกพรรครับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้” เว้นแต่ในช่วงหนึ่งอาทิตย์ก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน รัฐบาล “เปิดใจกว้าง ยอมปรับปรุง ฝ่ายค้านอาจจะยอมรับได้” ไม่เช่นนั้นเลือดซิบแน่
“ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ๒ ปีที่ผ่านมา เรามีบทเรียน เราเคยเสนอแก้แต่เขาไม่เคยแก้ หากให้โอกาสแบบเดิมอีกเชื่อว่าจะไม่ทำ ยืนยันว่าหากร่างไม่ผ่านจะไม่กระทบกับประชาชน เพราะใช้กฎหมายเก่าได้ และเชื่อว่าจะมีซุกซ่อนจัดซื้อยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ไว้ด้วย”
มิใยฝ่าย ‘หัวหมอ’ ของรัฐบาลเล่นแง่ แถไปก่อนแล้ว วิษณุ เครืองาม พูดถึงกรณีที่ร่าง พรบ.งบประมาณไม่ผ่านในสภา “ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ยุบสภาหรือลาออก แต่ถือเป็นประเพณีที่ต้องปฎิบัติ” ดังนั้นถ้าไปถึงจุดนั้นก็ยุบสภาหรือลาออก อย่างใดอย่างหนึ่ง
“หากยุบสภา กว่าจะมีการเลือกตั้งก็ใช้เวลาอีกนาน” วิษณุเริ่มชักใบให้เสียเรือ ว่าแม้สามารถใช้งบประมาณเก่าไปก่อนได้ “สำนักงบประมาณไม่ได้ให้ใช้เต็ม แต่จะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม” เขาเสริมเติมผลกระทบของการที่งบประมาณไม่ผ่าน
เหมือนจะขู่ “ย่อมทำให้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งสองฉบับต้องหยุดชะงัก เนื่องจากไม่มีสภาฯ และวุฒิสภาเพื่อพิจารณา” นิติบริกรเบี้ยวต่ออีกว่า “ยังไม่ขอตอบ ว่าจะมีแนวทางใดในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของกฎหมายลูก”
เขารับว่าทางออกมีอยู่หลายอย่าง “ทั้งเรื่องการออกเป็นพระราชกำหนด หรือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศเลือกตั้งเอง และเลือกตั้งไปตามแบบรัฐธรรมนูญใหม่...จะใช้แบบไหน ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย” แล้วเถียงกันชุลมุน
“ทุกอย่างต้องถูกส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างมีทางออก แต่อาจจะมีผู้เสียประโยชน์ที่ไม่ยอมรับ และในอดีตเคยมีมา ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว” ไม่ว่าทางไหน วิษณุเห็นว่าปัญหารออยู่ มีข้อเสียไปทุกอย่าง ถ้าไม่ให้ตู่อยู่ต่อ
ดังนี้การผนึกกำลังในฝั่งฝ่ายค้าน บวกกับพวกปลาสร้อยที่เหม็นเบื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา คว่ำ พรบ.งบประมาณให้ได้ รู้แล้วรู้รอดไป จะยุบสภาหรือนายกฯ ลาออก ย่อมเป็นการตัดเส้นวงจรลากยาวของพวกสืบทอดอำนาจ คสช.
(https://prachatai.com/journal/2022/05/98804, https://prachatai.com/journal/2022/05/98803 และ https://prachatai.com/journal/2022/05/98801)