วันอังคาร, พฤษภาคม 24, 2565

วิเคราะห์เลือกตั้งกทม. (อย่างยาว) จากแว่นชาวนนทบุเรี่ยน


Israchai Jong
11h

วิเคราะห์เลือกตั้งกทม.จากแว่นชาวนนทบุเรี่ยน (อย่างยาว)
.
เพียงชั่วข้ามคืน หลังชัยชนะท่วมท้นของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยและอดีตรมต.คมนาคม มาลงชิงผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ ชัชชาติไม่มีเวลามาฉลองชัยชนะมากนักก็ต้องลุยงานทันที ซึ่งแกเริ่มงานทันทีตั้งแต่การประกาศที่สปอร์ตวันแล้ว ไม่รีรอว่าสัญญาว่าจ้างหรือแต่งตั้งพนักงานจะส่งถึงมือแกภายใน 30 วันหรือไม่
ทีนี้ มาดูสิ่งที่บ่งชี้ชัยชนะของปีกเสรีนิยมและความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ขวาสุดโต่งในการเลือกตั้งครั้งนี้กัน
"ชัชชาติ" มาเนิ่บๆ ก่อนดีดนิ้วพลิกแผ่นดิน
“หากนกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะรอจนกว่ามันจะร้อง”
นี่คือวาทะของโตกุกาว่า อิเอยาสึ ขุนศึกที่กลายเป็นโชกุน ผู้สถาปนาระบอบโชกุนตระกูลโตกุกาว่าครองอำนาจหลังสงครามกลางเมืองยุคเซ็นโกคุ นานถึง 250 ปี
ชัชชาติอาจมีลักษณะนี้ เมื่อตั้งใจก็เปิดก่อนเพื่อน แต่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ฟอร์มทีมลงพื้นที่ สะสมความนิยมทางการเมืองและสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนอย่างใจเย็น ไม่เร่งรีบ หากเป้าหมายและยุทธศาสตร์ชัดเจน ขั้นตอนปฏิบัติจะตามมาเอง แล้วก็ลงมือทำระหว่างรอสัญญาณการเลือกตั้ง ต่อให้ยังไม่ประกาศชัด ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ค่อยๆสั่งสม
นี่อาจเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่รีบประกาศเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพราะคิดว่ารอโอกาสที่เอื้อกับฝ่ายตัวเอง ชัชชาติก็รอเหมือนกัน แต่ต่างทั้งวิธีการ ยุทธศาสตร์และคนที่มาร่วมงาน แถมช่วงระหว่างรอจังหวะ รัฐบาลก็เสียคะแนนนิยมไปกับหลายเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะประกาศก็เสียศูนย์ไปมากจนยากกู้คืนในเร็ววัน
พอรู้วันประกาศแน่ชัด ชัชชาติก็เร่งชุดใหญ่ ด้วยภาพลักษณ์ของชัชชาติผ่านไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองเป็น ความเป็นกันเองทั้งต่อหน้าและบนโลกโซเชียล (ความนิยมผ่านมีมในช่วงรมต.คมนาคม และผลงานเชิงประจักษ์ที่ทำขึ้น กลายเป็นฐานชั้นดีกับผู้สนับสนุนและผู้สนใจหน้าใหม่)
แม้จะมีประเด็นดราม่าหรือการโจมตีไม่ว่าตัวเองหรือครอบครัว ตั้งแต่นโยบายจนถึงจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้ส่งผลมากนัก เพราะสิ่งที่เป็นมรดกของพ่อ (พลตำรวจเอกเสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผบช.น. ยุค 6 ตุลา 19) ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นตัวกำหนดชะตาของลูก (ชัชชาติ) แต่อยู่ที่ตัวเขานั้นเองที่จะคิด ตัดสินใจและลงมือทำจากเมื่อก่อน สู่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน
นอกจากตัวชัชชาติเอง คนรอบข้างที่เชื่อมั่นในตัวชัชชาติและร่วมงานก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันชัชชาติไปสู่เป้าหมาย แต่ชัยชนะที่ได้ ไม่ใช่จากตัวชัชชาติ แต่เป็น “ทีมชัชชาติ” มากกว่า ที่คิดผลิตนโยบาย รูปแบบการหาเสียง การสร้างการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในส่วนต่างๆ และที่เป็นจุดเด่นของทีมชัชชาติคือ คนหลายวัยที่เรียกว่าคนแถวหน้าของวงการต่างๆ มาร่วมทีมด้วย
ข้อได้เปรียบที่ชัชชาติมีเหนือกว่าทุกคน คือ ผลงานที่จับต้องได้ นั้นทำให้โอกาสที่คนจะเชื่อผลรูปธรรมของนโยบายเมืองกรุงของทีมชัชชาติสูงกว่าใครมาก สื่อสารแบบไหนที่นโยบายซึ่งเป็นแนวทางหาเสียงกับหลายพรรคในปัจจุบัน จะเลือกนโยบายทีมชัชชาติมากกว่า
การสื่อสารที่ดูแนวปฏิรูป ค่อยๆปรับ นั้นหาผลประโยชน์ร่วมกัน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนและไม่ดูหักหามจิตใจคนที่มีส่วนได้เสียกับสิ่งที่จะได้ เน้นหลักการที่ถูกต้อง นี่จะเป็นเทรนด์การณรงค์ทางการเมืองในวันข้างหน้าด้วย อุดมการณ์สะท้อนวิธีคิดและหลักการ และวิธีคิดหลักการ สะท้อนออกมาเป็นนโยบาย นี่จะเป็นส่วนที่ถูกขับเคลื่อนต่อไป อุดมการณ์+แนวคิด+นโยบาย อันถูกต้องและควรจะเป็น
และอีกปัจจัยคือ การดำรงความเป็นอิสระของทีมชัชชาติ ไม่มีกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้ามาอิทธิพลครอบงำ ตรงกันข้าม กลับเป็นทีมชัชชาติเองที่สร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือตัวเองขึ้นมา จนมีหลายคน ไม่ว่ามีสังกัดหรือไม่ เข้ามาสนับสนุนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ออกตัวก่อนว่า ระยะความสัมพันธ์ของผมกับอ.ทริป มีมานานถึง 9 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นรมต.คมนาคม จนมาบริหารคิวเฮ้าส์ เป็นวิทยากร ออกจากเพื่อไทยและลงสมัครในนามกลุ่มอิสระ ผมก็เช่นกันตั้งแต่ตกงานหลังออกจากวอยซ์ กลับเข้าไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและเป็นสื่ออีกครั้ง พออ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงมองผมว่าไม่เป็นกลาง ดูเอนเอียงกับชัชชาติมากเป็นพิเศษ
ไม่รู้สินะ การร่วมทำกิจกรรม การพบปะในโอกาสต่างๆ จากนั่งรถไฟขบวนเดียวกัน จนมาถึงวันที่เกาะติดในฐานะผู้สมัคร ผมรู้สึกดีใจทุกครั้งที่แกจะทักทายผมและเรียกชื่อเล่นผมแบบสบายๆ แม้มีแอบเซ็งนิดๆ ที่บอกไม่ยุ่งการเมืองแล้วแต่ก็กลับมา ผมเห็นทั้งด้านดีและไม่ดีของแก แกเป็นมนุษย์เหมือนเราแหละ
และอีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแกคือ การเป็นผู้ฟังที่ดีและถ่อมตัว ถ้าหมกหมุ่นกับชัยชนะแบบแพ้ไม่ได้ คงจะไม่มีทางพูดประโยค “โลกขาดเราได้ อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญมาก" ออกมา
คนที่มีอัตตาสูงล้น จะไม่มีทางตระหนักรู้ตัวเองว่าตอนไหนควรพอได้แล้ว
นี่คงเป็นสิ่งที่ผมคิดออกหลังเฝ้ามองทั้งแบบใกล้ชิดและแบบห่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ว่าปัจจัยเหล่านี้คือ กุญแจพาสู่เส้นชัยหลังการวิ่งมาราธอน สู่เป้าหมายอย่างมีสติทุกๆช่วงเวลา จริงอยู่ว่าแกเป็นนักการเมืองสายขวา-กลาง แต่ทักษะการบริหาร จัดว่าดีเลิศ ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้ามีคนแบบชัชชาติ หรือมีคุณลักษณะของความเอื้ออาทรต่อทุกคนคล้ายๆแก ก็จะเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยก็ได้
แลนด์สไลด์ประชาธิปไตย
นี่คงเป็นอีกปรากฎการณ์เช่นกัน ท่ามกลางการถกเถียงในผู้สนับสนุนพรรคปีกเสรีประชาธิปไตยทั้งสายกลางอย่างเพื่อไทยกับซ้ายสังคมอย่างก้าวไกลในการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ แต่ในที่สุดก็จบลงที่ ให้ทุ่มเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกัน แล้วให้ประชาชนชี้ขาด ถึงอย่างนั้น ก็เหลือเชื่อว่า ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล รวมกันคว้าที่นั่งสภากทม.เกินกึ่งหนึ่ง
ต้องชมทีมยุทธศาสตร์หาเสียงทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล ที่ทุ่มเททำงานและวางแผนอย่างชัดเจน ซึ่งผมเองก็กังวลว่าจะเปลี่ยนกระแสได้หรือไม่ เพราะไม่ง่ายกับหลายพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกทม.ยุคอัศวิน บวกกับความเป็นอนุรักษ์นิยมที่ยังมีอยู่ตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์
แต่ผลลัพธ์กลับออกตรงข้ามและนำไปสู่อีกปัจจัยคือ ความเสื่อมนิยมของผู้บริหารกทม.ชุดอัศวินที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งยังหมายถึงรัฐบาลประยุทธ์ด้วย และปัจจัยอื่นที่ผมอยากลงสำรวจด้วยตัวเองเช่นกัน ว่าทำไมหลายเขตถึงพลิกกลับมาเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกุมที่นั่งแบบ “แลนด์สไลด์ประชาธิปไตย” ไปได้
แล้วสก.ที่ปีกประชาธิปไตยกุมมาได้ บางพื้นที่อยู่ในอิทธิพลของนักการเมืองปีกอนุรักษ์นิยม-ขวาสุดโต่ง อย่างดุสิตหรือพระนคร ซึ่งเขตพระนคร ก็เป็นเขตอิทธิพลของกานต์กนิษฐ์ ส.ส.พปชร.และเมียชัยวุฒิด้วย ยังต้องเสียให้กับส.ก.ก้าวไกลไป
.
มีข่าวมาถึงหูผมว่า ตอนพปชร.จัดปราศรัยใหญ่ที่ลานคนเมือง กานต์กนิษฐ์หัวเสียมากที่ผู้สนับสนุนมาน้อยกกว่าจำนวนเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ ผิดกับปราศรัยใหญ่เพื่อไทยที่เต็มแถวล้นด้วย แล้วเขตอิทธิพลนี้ก็ต้องเสียไปให้กับเพื่อไทยและก้าวไกล งานนี้พลังประชารัฐ แม้จะออกมาปลอบใจตัวเองและเหน็บแนมพรรคฝ่ายตรงข้ามยังไง ก็สะท้อนภาวะตกต่ำสุดของพรรคถึงขั้น เราอาจได้เห็นการสละเรือเอาตัวรอดกลางมรสุมโหดเป็นแน่
ขวาก้าวพลาด สู่ภาวะเสียอาการขั้นรุนแรง
นี่เป็นการเลือกตั้งที่หลายคนอาสาลงแข่ง นอกจากปีกเสรีประชาธิปไตย ยังมีปีกอนุรักษ์นิยมจนถึงขวาสุดโต่ง (ฟาสซิสต์ คลั่งชาติคลั่งเจ้า) ที่ไม่ศรัทธาประชาธิปไตย แต่ก็ร่วมแข่งขันการเลือกตั้ง หวังใช้กลไกรวมมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรม แต่ก็บิดเบือนประชาธิปไตยให้ย่ำแย่ไปด้วย แต่ดูเหมือนฝ่ายขวานั้น กลับเสียงแตกเสียเอง ไม่รวมเป็นหนึ่ง และผู้สมัครแต่ละคน ไม่มีใครยอมใครกันแล้ว แถมผู้สนับสนุนก็ยังแยกกันหนุนคนที่ตัวเองชอบ ไม่ว่ารสนา ที่กลุ่มเสื้อเหลืองพันธมิตรฯหนุน หรือสกลธี ที่หนุนโดยแกนนำกปปส.-ชนชั้นนำ หรือสุชัชวีร์ ที่หนุนโดยฐานแฟนคลับประชาธิปัตย์
.
แม้มีความพยายามดึงสติฝ่ายขวาให้โหวตยุทธศาสตร์ เลือกคนที่หน่วยก้านจะชนะได้จริงๆ แต่อัตตาคนอยากได้อำนาจมันแรง งานนี้เลยตีกันนัวในปีกขวา เสียงโหวตเลยแตกกันอย่างที่เห็น แต่กระนั้น ถ้ามองภาพรวมทุกเสียงไม่ว่าเฉดไหน ก็เป็นจำนวนที่น่ากลัวสำหรับกรุงเทพฯในสายตาคนที่ต้องรักษาการเมืองระบอบประชาธิปไตยให้น่าเชื่อถือ เพราะฝ่ายขวาที่พร้อมใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อจุดมุ่งหมายตัวเองนั้นมีมากอย่างน่าตกใจ
.
แน่นอนว่า ความพ่ายแพ้ของพลพรรคขวาๆนี้ จะเป็นบทเรียนและคิดหาทางกลับมามีอำนาจให้ได้ ต้องไม่มีการแตกคอกัน ไม่งั้น ก็จะแพ้ซ้ำแล้วมาดิ้นร้องฟูมฟายกับความพ่ายแพ้ให้เป็นที่หัวเราะขบขันกัน
.
สำหรับผม นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้พวกเขารวมตัวกันไม่ติด ทำยังไงให้ห่ำหั่นกันเองจนอ่อนแรงกันถ้วนหน้า ไม่มีใครได้ last man standing
ไทยสร้างไทย ดับฝันเจ้าแม่ กทม.
ภารกิจสุดท้ายของหญิงหน่อย ในการสร้างพรรคไทยสร้างไทย และเลือกการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นสนามประเดิม เพราะเชื่อมั่นในอิทธิพลตัวเองในพื้นที่กทม.จะสามารถคว้าที่นั่งได้มากกว่า 5 ที่นั่ง แต่กลับเป็นว่า เสียฐานที่มั่นในดอนเมืองและคลองเตยไป
.
ไทยสร้างไทย ดำเนินกลยุทธ์หาเสียง ที่ดึงฐานเสียงฝ่ายปฏิรูปที่เพื่อไทยและก้าวไกลแข่งกันอยู่ด้วย แต่กลับกลายเป็นว่า เริ่มต้นได้ไม่ดี แถมผู้ท้าชิงผู้ว่าฯอย่างพี่ปุ่นก็ยังแพ้เสียงโหวตรสนาอีก นี่จะเป็นทั้งสัญญะของการสิ้นสุดของยุคเจ้าแม่ กทม.อย่างสุดารัตน์แล้ว และยังบอกกับไทยสร้างไทยด้วยว่า ต้องยกเครื่องการหาเสียงและสร้างฐานการเมืองเสียใหม่ด้วย เพราะสร้างพรรคใหม่ทั้งทีแต่ใช้โมเดลทั้งดุ้นตอนที่หลายคนรวมถึงหญิงหน่อยอยู่เพื่อไทย ถ้ายังอยากสร้างพรรคนี้ต่อไปถึงการเมืองใหญ่ ซึ่งถ้ายังคงทำแบบเดิม อาจได้เป็นพรรคไซส์กลาง (ชทพ.-ชพ.-ภจท.) ก็ได้
จากกทม.สู่เลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ
ภารกิจยึดหัวหาดอย่างกทม. ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยทำสำเร็จแล้ว ซึ่งกรุงเทพฯในฐานะศูนย์กลางของประเทศ บวกกับกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯที่ถ่ายทอดออกไปสู่คนหลายจังหวัด ที่เค้าก็อยากพัฒนาคนและสร้างคนให้ได้ผู้แทนที่มาตรฐานทัดเทียมหรือใกล้เคียงกับชัชชาติ นี่จะทำให้กระแสประชาธิปไตยว่าด้วยการกระจายอำนาจดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่จะเป็นงานของคนในพื้นที่ที่ต้องผลักดันเอง
.
แล้วพอปีกเสรีประชาธิปไตยกุมกทม.ได้แล้ว นี่เป็นหน้าต่างโอกาสสำหรับฝ่ายก้าวหน้าที่จะได้ผลักดันวาระการรื้อสร้างระบบการเมืองท้องถิ่น ทำให้ไอเดียเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงของจังหวัดตัวเองถูกยกระดับ นี่จะเป็นความคึกคักที่ต่อเนื่องไปอีกหลายปี
.
แต่แน่นอนว่า ความท้าทาอยู่ตรงทีระบบบริหารส่วนภูมิภาคและเหล่ามุ้งค่ายของเจ้าพ่อตระกูลต่างๆในท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ร่วมกับส่วนกลางผ่านการอุปถัมภ์แบบกินเมืองยุคเก่า คนธรรมดาๆในพื้นที่ จะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้แค่ไหน
ทิศทางการเมืองเลือกตั้งใหญ่
หลายคนพูดกันมากว่า ภารกิจยึดหัวหาดสำเร็จแล้ว นั้นทำให้โอกาสที่พรรคฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจะแลนด์สไลด์เพิ่มขึ้นด้วยกับการเลือกตั้งทั่วไป แต่ต้องระวัง คาดว่าจะมีกลโกงของนักการเมืองและชนชั้นนำจารีตพวกนี้ที่ไม่ยอมเสียอำนาจไปออกมาให้เห็น และกองทัพด้วยที่ต้องรู้เสมอ พวกนี้มีค่านิยมที่อยากมีอำนาจทางการเมือง
.
ดังนั้น ระหว่างสร้างฐานความนิยมในพรรคการเมือง ทุกคน ย้ำว่าทุกคน ต้องรณรงค์ทางการเมืองระดับประเทศตั้งแต่ชุมชน เมือง จังหวัด สู่ทั้งหมด ให้ทุกคนเคารพกติกาเดียวกัน คือการเลือกตั้งที่เท่าเทียม ต้องชูค่านิยมใหม่ว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง คือหนทางเดียวเท่านั้นในการเป็นรัฐบาล และผมคิดว่า ควรเอากลยุทธ์เฟเบียนมาปรับใช้ในทางการเมืองให้กับฝ่ายเราโดยเฉพาะ