เลขไทย เลขหรั่ง ต่างกันแค่ไหน กระแสยกเลิกเลขไทยบอกว่า คร่ำครึ (โดยเฉพาะ เลข ๑ หางชี้ = ๙) ใช้กับกลไกดิจิทัลไม่ได้ ซ้ำยังว่าต้นตอแท้จริงเลขไทยลอกแบบจากเลขเขมรทั้งดุ้น ไม่ใช่ของตัวเองเสียหน่อย ดังที่ อจ.Somrit Luechai บอก
“ดูก่อนอานนท์ ก่อนที่เธอจะอ้าปากพูดอะไรควรศึกษามาก่อนให้ถ่องแท้ เลขที่เธอว่าเลขไทยนั้น ความจริงเป็นเลขเขมร ไทยเอามาใช้จนเข้าใจว่าเป็นเลขไทย” ส่วนเลขฝรั่งที่เราเรียกว่า ‘อารบิก’ นั่นก็ไม่ใช่มาจากอาหรับ แต่เป็นของอินเดียดั้งเดิม
เช่นกันกับเลขขแมร์ ที่เขมรก็ใช้อยู่ในปัจจุบัน นั้นมาจากอินเดิยโบราณเหมือนกัน ฉะนี้ทั้งเลขขแมร์และอาราบิกล้วนมีกำพืดจากที่อื่น เฉกเช่นเชื้อชาติในอุษาคเนย์ที่ปะปนกันมา แล้วก็กำลังปะปนกันไป ไม่เชื่อสังเกตุดูรูปเค้าหน้าดาราสาวไทยรุ่นนี้สิ เหมือนเกาหลี-ญี่ปุ่นกันไปหมด
อานนท์ (ศักดิ์วรวิชญ์) ที่ อจ.สมฤทธิ์เอ่ยถึงนั่น เป็นนักวิชาการสายสลิ่ม พวก ‘ไทยภักดี’ ซึ่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคนี้คนหนึ่ง ทศพล พรหมเกตุ เอาไปสาธยายสรรพคุณของการใช้เลขไทยเสียเอ่อล้น ว่ามันคือเลือดเนื้อ อัตลักษณ์ รากเหง้าอารยธรรมแห่งชนชาติ
ผิดพลาดมหันต์ ชนิดที่ อจ.สมฤทธิ์เปรียบเปรย “นักศึกษาโง่เป็นเรื่องปรกติ อาจารย์โง่เป็นเรื่องผิดปรกติ แต่ถ้าอาจารย์โง่แล้วอวดฉลาด ถือว่าวิปริตเลยน่ะ” ถึงกระนั้นก็ตาม ลองดูความเห็น อจ.Jessada Denduangboripant บ้าง
“จริงๆ แล้ว หนังสือราชการนั้น ไม่ได้บังคับให้ใช้เลขไทยนะครับ แต่จะใช้หรือไม่ใช้ ให้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละส่วนราชการ ถ้าใช้เลขไทยแล้วไม่เอื้อต่องาน (เช่น การเงิน หรือใช้ภาษาต่างประเทศ) ก็สามารถใช้เลขอารบิกได้”
อจ.เจษฎายกเอาเรื่องราวที่มาของเลขไทยจาก วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑ เดือน ม.ค.-มี.ค. ๒๕๔๕ ที่บอกว่าอักษรและเลขไทยซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงริเริ่มให้ใช้นั้น ‘ดัดแปลง’ มาจากอักษรขอม ดังนั้นถ้าจะอ้างอารยธรรมไทย สาวไปเจอขอม
“ตัวเลขไทยและตัวเลขอารบิกในปัจจุบัน จึงมีต้นตออักษรตัวเลขชุดเดียวกันคือ จากอักษรเทวนาครี” อจ.เจษฎาอ้าง นิตยสารศิลปวัฒนธรรม “เคยสืบค้นไว้ว่า เลขโบราณใน ‘จารึกเขมร’ สมัยก่อนเมืองพระนคร” ก็มาจากอักษรอินเดียใต้
ดังนั้น “เลขอินเดียใต้ (ราชวงศ์ปัลลวะ) เป็นที่มาของเลขที่ใช้ในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด รวมทั้งเลขที่ใช้ในอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย” ฉะนี้คงเหมาเอาได้ละว่าเลขไทยเลขอารบิกไม่มีใครศักดิ์ศรีเหนือกว่ากันในด้าน ‘ราชาชาตินิยม’
เพียงแต่ต้องเอามาใช้ให้ต้องตรงกับงาน ให้เกิดความสะดวกและมรรคผลมากที่สุด สำหรับผู้เขียนนี้ชอบใช้เลขไทยเวลาเขียนหนังสือไทย ที่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะการเขียนด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะไม่สามารถเขียนอักษรไทยควบเลขอารบิกรวดเดียวได้
ถ้าจะใช้เลขอารบิกต้องเปลี่ยน ‘icon’ จุดตั้งจากไทยเป็นอังกฤษเสียก่อน นั่นคือความสะดวก อีกอย่างมีความรู้สึกส่วนตัวว่าเลขไทยไปกันได้คล้องจองกับอักษรไทยมากกว่าเลขฝรั่ง เช่นกันกับการใช้วรรณยุกต์กับคำที่มีสำเนียงไม่ตรงกับชนิดอักษร
เราทราบกันดีว่าภาษาไทยมีเสียงสูงต่ำตามชนิดอักษร แล้วยังมีวรรณยุกต์ให้ใช้เลียนเสียงได้ตรงกับภาษาพูดได้ใกล้เคียงมาก คำทับศัพท์อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน ที่มีสำเนียงแปลกๆ กันไป เขียนให้อ่านได้ดีด้วยวรรณยุกต์
ข้อคิดก็คือทั้งเลขไทยและเลขอารบิกยังสามารถนำมาใช้ในบริบทที่ต่างกันและสมน้ำสมเนื้อได้ ไม่จำเป็นต้องโยนทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นกันกับวรรณยุกต์ ซึ่งไม่ได้ทำให้ภาษารุ่มร่าม หากแต่ทำให้มีสำเนียงสุนทรีย์เสียอีก
เห็นมีคนยกตัวอย่างกรณีลักลั่นของเลขไทยเลขหรั่ง เช่น 5G ก็ไม่ควรเขียนว่า ๕G แต่เขียน ๕จี ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ยุคนี้นิยมเขียน I hear, I-tube แต่ถ้าเขียน I5 กับ E5 ความหมายต่างกันลิบลับกับ ไอ ๕ และ อี ๕ คุณว่ามั้ย
(https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/pfbid02wm และ https://www.facebook.com/permalink.=1205225461)