วันอังคาร, พฤษภาคม 31, 2565

Battle for Bangkok: แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ - #สงครามชิงกรุงเทพ “ไม่สู้ก็กลายเป็นทาส”






Battle for Bangkok: แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

การเลือกตั้งผู้ว่าและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในแวดวงการเมืองและวงการอื่นมากมายอย่างที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน” สำหรับผมแล้ว นี่เป็นสัญญาณที่ดีต่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ของประเทศไทยที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากขึ้นมากในโลกปัจจุบันและอนาคต



เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ผมคิดว่าถ้าประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาระบอบการปกครองให้เป็น “ประชาธิปไตยในระดับสากล” ได้ภายในเวลาอีกไม่นาน ประเทศไทยก็จะ “ล้าหลัง” ลงไปเรื่อยๆ จากที่เรา “แน่นิ่ง” มานานเกือบ 10 ปี แล้วหลังการรัฐประหารในปี 2557 และมีการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ยัง “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ในปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่แทบจะ “แก้ไขไม่ได้” ถ้าคนบางกลุ่มไม่ต้องการ

ในช่วงเวลาเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมานั้น น่าจะพูดได้ว่า สถานะในสังคมโลกของไทยตกต่ำลงมาก เช่นเดียวกับสถานะทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด จากเศรษฐกิจโตเร็วมากในกลุ่มอาเซียนกลายเป็น “โตช้าที่สุด” และไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญและระบบการปกครองเป็นอุปสรรค ว่าที่จริงผมเองก็แทบจะ “หมดหวัง”

ในอนาคตของประเทศมานานแล้ว เช่นเดียวกับ “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากที่ตัดสินใจ “สู้” แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายคนกลับพบว่าเป็นเรื่องยากมาก เกิดความรู้สึกว่า “พ่ายแพ้” และ “หมดกำลังใจ” หลายคนถอดใจและคิดว่า “ย้ายประเทศ” ง่ายกว่า

สถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ดูเหมือนว่าจะพ่ายแพ้และ “มืดมน” ที่สุดนั้น ทำให้ผมหวนคิดถึงเหตุการณ์ของประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากการบุกฝรั่งเศสของเยอรมัน โดยที่กองทัพส่วนหน้าของอังกฤษที่เข้าไปช่วยฝรั่งเศสต่อต้านกองทัพนาซีพ่ายแพ้อย่างยับเยินและต้องถอยร่นไปจนมุมอยู่ที่หาดดันเคิร์กก่อนที่จะหนีข้ามทะเลกลับสู่เกาะอังกฤษได้อย่างน่าอัศจรรย์

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเยอรมันก็คงจะข้ามทะเลเข้ายึดอังกฤษในไม่ช้า นั่นทำให้ประชาชนอังกฤษรวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่มีชื่อเสียงบางคนคิดที่จะ “ยกธงขาว” ทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน

แต่คนที่คิดว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จะต้องสู้กับเยอรมันจนถึงที่สุดก็คือ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ และเขาได้ประกาศในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกลายเป็นคำพูดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกว่า

“We shall defend our island, whatever the cost may be, we shall fight on the beaches, we shall fight on the landing grounds, we shall fight in the fields and in the streets, we shall fight in the hills; we shall never surrender.”

แปลว่า “เราจะปกป้องเกาะของเรา ไม่ว่าจะสูญเสียแค่ไหน เราจะต่อสู้บนชายหาด เราจะต่อสู้บนพื้นแผ่นดินที่เราลงจอด เราจะสู้ในท้องทุ่งและบนถนน เราจะสู้บนเนินเขา เราจะไม่มีวันยอมแพ้”

หลังคำประกาศนั้นไม่กี่วัน ฝรั่งเศสก็ยอมแพ้ต่อเยอรมัน และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วันเช่นเดียวกัน เยอรมันก็บุกอังกฤษ เริ่มจาก “สงครามทางอากาศ” โดยการส่งเครื่องบินถล่มอังกฤษอย่างไม่ยั้งเพื่อให้อังกฤษยอมจำนนหรือไม่ก็หมดหนทางต่อต้านกองกำลังที่จะยกพลขึ้นบกในภายหลัง เรียกว่าเป็นสงครามทางอากาศล้วนๆ

อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศของอังกฤษนั้นแข็งแกร่งเกินกว่าที่เยอรมันจะเอาชนะได้ ซึ่งต่างจากกองทัพบกที่เยอรมันเหนือกว่าประเทศอื่นมากโดยเฉพาะในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น หลังจากเวลาผ่านไป 3-4 เดือน เยอรมันก็ต้องหยุดและเริ่มเปลี่ยนเป้าหมายไปที่การบุกโซเวียตรัสเซียแทน

“สงครามทางอากาศ” ของฝ่ายอังกฤษนั้น น่าจะไม่ใช่เฉพาะการรบด้วยเครื่องบินที่ยังไงอังกฤษก็ยังด้อยกว่า ที่จริงแล้ว “อาวุธทางอากาศ” ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่คนไม่ตระหนักก็คือคำพูดของเชอร์ชิลที่กระตุ้นและให้กำลังใจมหาศาลแก่ชาวอังกฤษให้ต่อสู้กับผู้รุกรานคือเยอรมัน ซึ่งในช่วงนั้นถูกส่งผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์กันอย่างกว้างขวาง

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการใช้ข้อมูลข่าวสารในการต่อสู้ ซึ่งต่อมามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันที่บ่อยครั้งกลายเป็นจุดตัดสินชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ยกตัวอย่างเช่นในสงครามสงครามรัสเซีย-ยูเครนขณะนี้ที่ฝ่ายยูเครนใช้เฟซบุค ทวิตเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ส่งข้อมูลข่าวสารโจมตีรัสเซียและขอความเห็นใจและความช่วยเหลือจากประชาคมโลกจนรัสเซียไม่สามารถเอาชนะยูเครนได้แม้จะมีกองทัพที่เหนือกว่ามาก

นักต่อสู้ “เพื่อประชาธิปไตย” ของไทยในอดีตที่ต้องพ่ายแพ้ต่อฝ่าย“อนุรักษ์นิยม” อย่างราบคาบและต้องเก็บตัวเงียบมาหลายปีหลังการรัฐประหารนั้น ได้เริ่มกลับมาต่อสู้ใหม่และนำโดย “คนรุ่นใหม่” ที่มีความเชี่ยวชาญในการ “รบทางอากาศ” นั่นก็คือ ระบบอินเตอร์เน็ตที่ทรงพลังและเครือข่ายสื่อสังคมที่ก้าวหน้าและไม่มีใครสามารถสกัดหรือขัดขวางได้

พวกเขาต่อสู้ด้วยความคิดแบบเชอร์ชิลที่ว่า “ถ้าไม่สู้ก็กลายเป็นทาส” พวกเขา ต่อสู้ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย พวกเขาต่อสู้บนท้องถนน พวกเขาต่อสู้ในโลกอินเตอร์เน็ต พวกเขาต่อสู้ในสภา และสุดท้ายในคูหาเลือกตั้ง และดูเหมือนจะไม่ยอมแพ้ไม่ว่าจะสูญเสียแค่ไหน การเลือกตั้งผู้บริหารกรุงเทพมหานครอาจจะเป็นจุดเริ่มของชัยชนะเช่นเดียวกับการรบเพื่อช่วงชิงเกาะอังกฤษ

เราคงต้องรอวันเลือกตั้งทั่วไปที่จะตามมาอีกไม่นาน ผมเองหวังว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านวันที่ “มืดมน” ที่สุดมาได้โดยที่ไม่ต้องมีการต่อสู้ทางกายภาพที่รุนแรงซึ่งมีโอกาสที่จะทำลายสถาบันหลัก ๆ ของประเทศแบบที่เคยเกิดในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศพัฒนาแล้วในอดีต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจจะทำให้ไทยต้องถอยหลังไปอีกนานและอาจจะฟื้นไม่ได้เลย ผมหวังด้วยว่า ด้วยพลังอำนาจของข้อมูลข่าวสารที่แข็งแกร่งขึ้นทุกวันจะทำให้คนส่วนใหญ่ที่สุดของไทยยอมรับว่าประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบสากลและไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
29 พ.ค. 2565