ผิดคาด! 10 ชาติแปซิฟิก ปัดข้อตกลงความมั่นคงกับจีน หวั่นขยายอิทธิพล
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ระบุว่า 10 ชาติมหาสมุทรแปซิฟิก ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคง (Common Development Vision) กับจีน เนื่องจากกังวลว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างจีน
รายงานระบุว่า การหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และบรรดาผู้นำชาติหมู่เกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีขึ้นที่ประเทศฟิจิ นั้นไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เหตุการณ์ซึ่งสื่อตะวันตกมองว่าเป็นความล้มเหลวในทางการทูตของรัฐบาลจีนที่พยายามขยายอิทธิพลคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในภูมิภาคดังกล่าว
ร่างข้อเสนอของจีนในข้อตกลงดังกล่าวประกอบไปด้วย การช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ การมีส่วนร่วมในด้านความมั่นคงไซเบอร์ ขยายความสัมพันธ์ทางการเมือง ร่วมทำแผนที่ทางทะเลในพื้นที่อ่อนไหว และการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งบนแผ่นดินและในน่านน้ำในพื้นที่
โดยทางการจีนเสนอข้อแลกเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ การทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและบรรดาประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อเข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน ของจีนเป็นต้น
ทั้งนี้ เดวิน ปานูเอโลก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐไมโครนีเซีย เขียนจดหมายเตือนบรรดาผู้นำชาติแปซิฟิกเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของจีนนั้นไม่ตรงไปตรงมา และจะทำให้จีนมีอิทธิพลต่อรัฐบาล และเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจในอุตสาหรรมสำคัญๆ มากขึ้น
ด้านแฟรงก์ เบนิมารามา นายกรัฐมนตรีฟิจิ ระบุหลังเสร็จสิ้นการหารือระบุว่า ทั้ง 10 ชาติมองเรื่องฉันทามติมาเป็นอันดับแรกอย่างที่เคยเป็นมาตลอด และว่า จำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงที่ครอบคลุมร่วมกันก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงใหม่ในภูมิภาค
ด้านเจ้าหน้าที่ทางการจีนเองยอมรับว่าข้อเสนอของทางฝั่งจีนนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่คาด โดยระบุว่า แม้จะมีแรงสนับสนุนโดยรวม ยังคงมีข้อกังวลในบางเรื่องและเราเห็นตรงกันที่จะให้มีการหารือกันต่อไปจนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
ทั้งนี้ ข้อเสนอฉบับเต็มจากทางการจีนนั้นยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่ก็มีข้อมูลหลุดออกมาถึงมือสื่อก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ทางการจีนระบุว่าจะเผยแพร่เอกสารแสดงออกถึงจุดยืนเน้นย้ำให้เห็นถึงข้อเสนอของจีนต่อสาธารณะในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ที่มา มติชนออนไลน์
.....
Washington and Canberra campaign strongly against Beijing’s efforts to boost regional influence