เปิด 44 คำถามของพรรคฝ่ายค้านและคำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนี ปม ร.10 ประทับในบาวาเรีย
2021-01-14
ที่มา ประชาไท
เปิด 44 คำถามที่พรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้ายตั้งกระทู้ พร้อมคำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนี รวมทั้งข้อสังเกตเบื้องต้นตั้งแต่สถานการณ์การเมืองในไทยถึงบทบาทของ ร.10 ขณะประทับในบาวาเรีย โดยเฉพาะประเด็นภาษีที่รัฐบาลเยอรมนีระบุว่า การจัดการและเรียกเก็บเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐ
13 ม.ค.2563 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาประชาไทได้รับเอกสารจากคณะทำงานด้านประเทศไทย ของมูลนิธิอาเซียนเฮาส์ (Stiftung Asienhaus) ซึ่งเป็นคำแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย ต่อคำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนีและกระทู้ของพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE ) ยื่นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2563 รวม 44 ข้อ เกี่ยวกับ จุดยืนรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย การปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นที่ถกเถียงกันของพระมหากษัตริย์ไทยในประเทศเยอรมนีและมุมมองของรัฐบาลกลางเยอรมนีในเรื่องนี้
ข้อสังเกตเบื้องต้นจากรัฐบาลกลางเยอรมนี
นอกคำชี้แจงต่อกระทู้ของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลเยอรมนีมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้รัฐบาลทหารที่ก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 สิ้นสุดอำนาจลงอย่างเป็นทางการ อดีตหัวหน้ารัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารชุดก่อนมากนัก การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาเพื่อการอภิปรายถกเถียงและตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาลในรัฐสภา การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนมีนาคม 2563 ด้วยเหตุเพราะละเมิดข้อบังคับว่าด้วยที่มาของรายได้พรรคเรียกได้เป็นการก้าวถอยหลัง แม้ว่าสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนาคตใหม่เกือบทั้งหมดจะรวมตัวกันใหม่ในนามพรรคก้าวไกล แต่การยุบพรรคที่เกิดขึ้นส่งผลให้ฝ่ายค้านอ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการยุบพรรคทำให้เกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศและทวีความร้อนแรงถึงขีดสุดในฤดูใบไม้ร่วงปี 2563 ในบางครั้งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากถึง 100,000 คน ในช่วงหลังมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมอยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 10,000 คน ในช่วงเริ่มแรกผู้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชาลงจากตำแหน่ง ให้มีการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งต่อมากลายเป็นข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุมนับตั้งแต่นั้นมา ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ยังคงได้รับความเคารพนับถือและสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น จากการกำหนดความผิดในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่อาจมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี
ฝ่ายอำนาจรัฐตอบโต้กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ประท้วงโดยสันติได้อย่างเหมาะสม มีสามครั้งที่ตำรวจคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม การเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำลายสิ่งกีดขวางบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในช่วงประชุมสภา ตำรวจคุมฝูงชนได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คนตามตัวเลขทางการ หลังจากการชุมนุมยุติลงเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิง 6 คน
ส.ส.เยอรมัน ตั้งกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศ กลางสภาถึงสถานะกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย
โฆษก กต. ระบุไม่มีข้อมูลที่จะตอบคำถามนักข่าวซีเอ็นเอ็น ปมการทรงงานราชการในเยอรมนี
ประมวล #ม็อบ26ตุลา ถาม 4 ข้อสงสัยต่อสถานทูตเยอรมันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
รัฐบาลกลางเยอรมนีประสานติดต่อกับรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอและสนับสนุนส่งเสริมให้เคารพสิทธิมนุษยชนตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมรวมถึงการปฏิบัติตามครรลองของหลักนิติรัฐ รัฐบาลกลางเยอรมนีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนยิงในบริเวณที่ชุมนุมอย่างรัดกุม
ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จมาประทับในประเทศเยอรมนีบ่อยครั้งและประทับอยู่เป็นระยะเวลานานตามที่รัฐบาลไทยแจ้งให้ทราบนั้นพระองค์เสด็จมาประทับเป็นการส่วนพระองค์ รัฐบาลกลางเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชาตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมัน กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าขณะประทับในประเทศเยอรมนีพระมหากษัตริย์ไทยทรงบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะดังกล่าว
ภาพ #ม็อบ26ตุลา 63 ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย ตั้งคำถาม 4 ข้อสงสัยต่อสถานทูตเยอรมันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
23 กระทู้ของพรรคกรีนส์และคำตอบรัฐบาลกลางเยอรมนี
สำหรับกระทู้ของพรรคกรีนส์และการตอบคำถามของรัฐบาลกลางเยอรมนี มี 23 ข้อ
ดังนี้
1. ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ การตกลงกระชับความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายไทยกับฝ่ายสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2020 มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ในการเจรจาครั้งนี้ประชาธิปไตย หลักความเป็นนิติรัฐและสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอยู่ในระดับไหน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 มีการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) และประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายตกลงกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในหลายเรื่องซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทยเรื่องปัญหากฎหมายแรงงาน ตลอดจนความร่วมมือระดับพหุภาคีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันเรื่องสถานะการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย และการรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ความมุ่งหมายให้เคารพสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพของสื่อมวลชนตลอดจนการเคารพหลักนิติรัฐถูกถ่ายทอดให้คู่เจรจารับทราบแล้วอย่างชัดเจน เอกสารที่กำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยคือผลสรุปการประชุมของสภาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562
2. ผลที่จะตามมาอย่างเป็นรูปธรรมตามถ้อยแถลงของรัฐมนตรีการต่างประเทศของรัฐบาลกลางเยอรมนี ไฮโค มาสที่ว่า "ตัวเลือกหนึ่ง" คือการระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทยอีกครั้ง เนื่องจากตำรวจใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมมีอะไรบ้างและรัฐบาลกลางเยอรมนีจะดำเนินการกดดันเรื่องนี้ในระดับสหภาพยุโรปอย่างไร
ถ้อยแถลงของนายมาส รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลกลางเยอรมนียังคงมีผลต่อไปตามเดิม นอกนั้นแล้วให้ดูจากที่อ้างอิงในข้อสังเกตเบื้องต้นจากรัฐบาลกลางเยอรมนี
3. นับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2560 มีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกิดขึ้นแล้วกี่รอบ (โปรดแยกตามสถานที่ วันที่และผู้ร่วมประชุม)
ก) มีการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหมดกี่ครั้ง (โปรดแยกสถานที่ วันที่และผู้ร่วมประชุม)
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับผู้แทนประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปนับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2560
ข) การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีรอบต่อไปจะมีขึ้นเมื่อใดและใครจะเข้าร่วมการเจรจาบ้าง
การเจรจาระหว่างคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกับผู้แทนของประเทศไทยในรอบต่อไปจะมีขึ้นเมื่อใดนั้นทางรัฐบาลกลางเยอรมนียังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้
ค) การให้สัตยาบันต่อข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ร่างข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือฉบับปี 2556 ได้รับการปรับปรุง รัฐบาลไทยและ EEAS กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาในรายละเอียดของร่างข้อตกลงนี้
ง) รัฐบาลกลางเยอรมนีดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้การลงสัตยาบันข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือและการเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีใหม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน
ตามที่ระบุในรายงานสรุปผลการประชุมของสภาสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 การจัดทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยตลอดจนส่งเสริมพหุนิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน
การดำเนินการขั้นหนึ่งคือการเพิ่มประโยคที่เรียกว่า “essential element clause” มาตราองค์ประกอบที่สำคัญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยเข้าไปในข้อตกลงและการพูดคุยหารือกันอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบต่าง ๆ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเสริมสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในหัวข้อข้างต้นอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้งมากขึ้น
จ) ผลการประชุมของคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนสหภาพยุโรป-ไทยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นอย่างไรบ้าง ในการประชุมครั้งนี้มีการพูดถึงพัฒนาการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยหรือไม่ หากมี ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร
สหภาพยุโรปและประเทศไทยต้องการพูดคุยหารือกันในหัวข้อการค้าต่างๆ ต่อไป
ฉ) ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ ควรดำเนินการรูปแบบใดเพื่อเพิ่มกลไกในการลงโทษและกลไกกำกับดูแลการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืน
ช) ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เคยมีและจะมีการใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมมาตรการใดบ้างเพื่อรับรองว่าภาคประชาสังคมของรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาทุกรัฐจะมีส่วนร่วมในการเจรจานี้
ซ) ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ ประเด็นข้อโต้แย้งสำคัญที่มีกับฝ่ายไทยคือเรื่องใดบ้าง
ขอตอบคำถาม 3 ฉ) ถึง ซ) รวมกัน เนื่องจากการเจรจาถูกระงับไประยะหนึ่งแล้ว รัฐบาลกลางเยอรมนีจึงไม่สามารถให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวได้
4. ผู้แทนของรัฐบาลกลางเยอรมนีได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐบาลไทยและเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีเรื่องพัฒนาการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยในรูปแบบใดบ้างนับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 (โปรดจำแนกตามนัดหมายการประชุมและรายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม)
พัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศไทยได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยในบริบทของการหารือระดับสูงกับตัวแทนรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รายละเอียดการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลกลางเยอรมนีและเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินตลอดจนการพูดคุยระหว่างเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยกับรัฐบาลไทยและกับตัวแทนจากภาคประชาสังคมถือเป็นความลับ โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลกลางเยอรมนีจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นความลับ
5. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ ณ ปัจจุบันมีผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ถูกจับกุมไปแล้วกี่คน มีกี่คนที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบข้อมูลใดบ้าง เรื่องช่องทางการเข้าถึงสิทธิในการพบทนายความตามที่ตนเลือก การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลทางการแพทย์และการติดต่อกับครอบครัว
ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ มีการยื่นฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้กี่คนและในข้อหาอะไรบ้าง
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ตัวเลขที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียคือราว 80 คน เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบไม่มีใครในกลุ่มนี้ยังถูกคุมขัง เท่าที่ทราบผู้ถูกจับกุมทุกคนสามารถเข้าถึงทนายความตามที่ตนเลือกได้ และได้รับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดี
ก) ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ จำเลยที่ถูกสั่งฟ้องในประเทศไทยมีช่องทางเข้าถึงสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรมได้อย่างไร
เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ ศัพท์กฎหมายหลายคำที่มีความหมายไม่ชัดเจนเปิดช่องทางให้ศาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดกับจำเลย
ข) รัฐบาลกลางเยอรมนีเห็นพ้องตามข้อเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญแห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีต่อรัฐบาลไทยเรื่องการปล่อยตัวนักโทษทุกคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไขหรือไม่ (https://news.un.org /en/story/2020 /10/1075972)
เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบไม่มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมคนใดยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
6. รัฐบาลกลางเยอรมนีจะดำเนินการกดดันรัฐบาลไทยอย่างไรเพื่อให้การตรวจสอบการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจดำเนินไปอย่างเป็นกลาง
ให้ดูจากที่อ้างอิงในข้อสังเกตเบื้องต้นจากรัฐบาลกลางเยอรมนี
7. ในบริบทของการเมืองปัจจุบันรัฐบาลกลางเยอรมนีจะดำเนินการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอย่างไรและในรูปแบบใดเพื่อให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการชุมนุม
รัฐบาลกลางเยอรมนีเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในวิถีทางที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและในทุกระดับเพื่อขอให้เคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการชุมนุม สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ก็ดำเนินการผลักดันข้อเรียกร้องนี้ผ่านกิจกรรมที่ตัวเองจัดขึ้น
8. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบรายละเอียดใดบ้างเกี่ยวกับความพยายามสานเสวนาระหว่างคู่ขัดแย้งและหากมีการร้องขอ รัฐบาลกลางเยอรมนียินดีผลักดันกระบวนการสานเสวนาอย่างแข็งขันหรือไม่
รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบดีว่ามีความคิดริเริ่มเกิดขึ้นโดยประธานรัฐสภาไทยซึ่งพยายามจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มภาคประชาชนที่สำคัญทุกกลุ่ม และหากมีการร้องขอ รัฐบาลกลางเยอรมนียินดีผลักดันกระบวนการสานเสวนาอย่างแข็งขันและกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเจรจาทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา
9. รัฐบาลกลางเยอรมนีได้แสดงความเห็นต่อรัฐบาลไทยอย่างไรและในโอกาสใดในกรณีการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลซึ่งเป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ เช่น กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นกรณีล่าสุด รัฐบาลกลางเยอรมนีได้ดำเนินการผลักดันเพื่อให้มีการติดตามหาตัวผู้สูญหายจำนวนหลายคนนี้อย่างไรบ้าง (https://www.bbc.com/news/world-asia-53212932 https://www.hrw.org/world report/2020/ country-chapters/thailand#899ef4)
กรณีการหายสาบสูญไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในการประชุมเจรจาระหว่างกันหลายครั้งที่ผ่านมารัฐบาลกลางเยอรมนีได้แจ้งเตือนให้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยเร่งชี้แจงรายละเอียดโดยปราศจากช่องโหว่นอกจากนี้รัฐบาลกลางเยอรมนียังได้สอบถามรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในกรณีอื่นตามความหมายในคำถามนี้ด้วย โดยรัฐบาลกลางเยอรมนีเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและให้ติดตามหาตัวผู้สูญหายเหล่านั้น
10. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะเป็นพิเศษ ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมนีด้วยพระราชสถานะทางกฎหมายใดและทรงมีสถานะพำนักใด
ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐได้
11. รัฐบาลกลางเยอรมนีมีความคิดที่จะเพิกถอนหรือพิจารณาไม่ต่อหนังสืออนุญาตพำนักของพระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่ถ้าหากว่าพระองค์ทรงกระทำการอันละเมิดเงื่อนไขข้อกำหนดในหนังสืออนุญาตพำนัก
ให้ดูจากที่อ้างอิงในข้อสังเกตเบื้องต้นจากรัฐบาลกลางเยอรมนีและคำตอบของคำถามข้อ 10
12. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบรายละเอียดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วบนดินแดนเยอรมนีหรือจะเกิดขึ้นต่อไปอันจำเป็นจะต้องถูกดำเนินการคัดค้านตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไฮโค มาส ได้รับปากไว้ในชั่วโมงการตอบกระทู้ถามสดในรัฐสภาเยอรมนีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ว่าจะมีการดำเนินการหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิบัติพระราชภารกิจทางการเมืองขณะประทับในประเทศเยอรมนีตามความหมายในคำถามนี้ นอกเหนือจากนี้แล้วให้ดูคำตอบของรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อกระทู้ถามที่ยื่นเป็นหนังสือจากสมาชิกรัฐสภากลางเยอรมนีนางเบาเซ่ เลขที่ 10-430
13. รัฐบาลกลางเยอรมนีได้อธิบายให้รัฐบาลไทยทราบอย่างชัดเจนหรือไม่ว่า “การดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทย” จากดินแดนเยอรมนีโดยตัวแทนรัฐไทยจะต้องไม่เกิดขึ้น หากใช่ เมื่อไรและเนื่องด้วยเหตุผลอะไร
รัฐบาลกลางเยอรมนีได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเนื้อหาการเจรจาต้องปกปิดเป็นความลับจึงไม่สามารถนำข้อมูลมาเปิดเผยได้ ให้ดูคำตอบในคำถามข้อ 4
14. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบเรื่องที่มีสมาชิกรัฐสภาไทยเดินทางมาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ไทยขณะประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมนีหรือไม่ (หากทราบโปรดแจ้งโดยจำแนกตามชื่อ วันที่และระยะเวลาพำนัก)
ก) รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบเรื่องที่นายธนากร บัวรัษฏ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติเดินทางมาประเทศเยอรมนีเพื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่ (หากทราบโปรดแจ้งวันที่และระยะเวลาพำนัก)
ข) รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่า นายธนากร บัวรัษฏ์กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเยอรมันขณะอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่?
ค) รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบเรื่องที่เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติของไทยได้พยายามใช้อำนาจหรือกระทำการข่มขู่ภาคประชาสังคมชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือไม่
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลรายละเอียดตามความหมายของคำถามข้อ 14 และ 14 ก) ถึง ค)
15. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยหรือทหารองครักษ์ส่วนพระองค์ได้กระทำการอันละเมิดกฎหมายเยอรมันหรือไม่
รัฐบาลกลางเยอรมันไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในความหมายของคำถามที่ถามมา
16. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยหรือทหารองครักษ์ส่วนพระองค์ฝ่าฝืนข้อจำกัดการเดินทางและมาตรการยับยั้งการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ เช่น ในการเดินทางเข้า-ออกหรือในแง่การจำกัดการติดต่อสัมผัส
17. รัฐบาลกลางเยอรมนีได้ตรวจสอบหนังสืออนุมัติเป็นกรณีพิเศษของสำนักเขตท้องถิ่นเรื่องการเสด็จเข้าประทับของพระมหากษัตริย์ไทย ณ โรงแรมหรูในบาวาเรียในช่วงที่มีการห้ามเข้าพักค้างคืนหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างไร
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในความหมายของคำถามข้อ 16 และ 17 การกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบังคับป้องกันการติดเชื้อโรคในพื้นที่เป็นหน้าที่ของรัฐอิสระบาวาเรีย
18. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบอะไรบ้างเรื่องที่มีบุคคลซึ่งถูกทหารองครักษ์ส่วนพระองค์คุกคามหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่ได้ดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมนี
ให้ดูคำตอบในคำถามข้อ 15
19. รัฐบาลกลางเยอรมนีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอะไรบ้างเรื่องการประทับและระยะเวลาการประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี
ก) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กันยายน 2563)
ข) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมคืนฐานันดรศักดิ์แก่พระสนมเอก (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 สิงหาคม 2563)
ค) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมถอดยศและเรียกคืนเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์นายตำรวจ 10 นาย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 24 สิงหาคม 2563)
ง) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 สิงหาคม 2563)
จ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมถอดยศนายทหาร 2 นายฐานกระทำผิดวินัยร้ายแรง (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 13 กรกฎาคม 2563)
ฉ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์แก่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 มิถุนายน 2563)
ช) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศตำรวจแก่นายตำรวจประจำหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์จำนวน 6 นาย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 มีนาคม 2563)
ซ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พันเอก ปริทัศน์ บุนนาค เป็นนายทหารราชองครักษ์ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 กันยายน 2562)
ฌ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 28 สิงหาคม 2562)
ญ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเรื่องทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ มหิดลลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562)
ฎ) ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 เมษายน 2562)
คำถามข้อ 19 ก) ถึง ฎ) ขอตอบรวมกัน รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบโดยทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จมาประทับทางตอนใต้ของเยอรมนีบ่อยและประทับอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จมาพำนักแต่ละครั้งในความหมายของคำถามที่ถามมา
20. รัฐบาลกลางเยอรมนีนับว่าการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญไทยพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย การปฏิบัติพระราชภารกิจของพระองค์จึงไม่ถือเป็นการกระทำทางรัฐบาล
21. ในความเห็นของรัฐบาลกลางเยอรมนีมีทางเป็นไปได้ไหมว่ารัฐบาลกลางเยอรมนีจะสามารถทักท้วงหรือแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเต็มที่และชัดเจนให้สถานทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีรับทราบท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกนานหลายปี
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่สามารถประเมินได้
22. ถ้าหากรัฐบาลกลางเยอรมนีมีความเห็นว่าการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ รัฐบาลกลางเยอรมนีได้หาวิธีการพูดคุยในรูปแบบอื่น ๆ จนถึงขั้นการเปิดเจรจาโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ไทยแล้วหรือไม่
ขอให้ดูคำตอบในคำถามข้อ 21
23. รัฐบาลกลางเยอรมนียึดแนวปฏิบัติยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกมาเป็นหลักในการดำเนินนโยบายเพื่อสนองผลประโยชน์พิเศษทางการเมืองเรื่องความเป็นนิติรัฐและการเคารพสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างไรบ้างและมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่รัฐบาลกลางเยอรมนีจะนำมาใช้ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเป็นนิติรัฐในประเทศไทยดังที่ระบุไว้ในแนวปฏิบัติยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกคือมาตรการใดบ้าง
บทบาทในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเป็นนิติรัฐถูกระบุเอาไว้ในแนวปฏิบัติยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของรัฐบาลกลางเยอรมนีในฐานะพันธกิจหนึ่งของรัฐบาล รัฐบาลกลางเยอรมนีหาทางพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอและส่งเสริมสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตามหลักความเป็นนิติรัฐ นอกจากนี้ตัวแทนของสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ยังติดต่อประสานงานกับตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมต่างรับทราบเนื้อหาการพูดคุยของผู้แทนรัฐบาลเยอรมันอย่างชัดเจน
21 กระทู้ของพรรคฝ่ายซ้ายและคำตอบจากรัฐบาลกลางเยอรมนี
สำหรับกระทู้ของพรรคฝ่ายซ้ายและการตอบคำถามของรัฐบาลกลางเยอรมนี มี 21 ข้อ
ดังนี้
1. มีความเป็นไปได้ประการใดบ้างที่รัฐบาลกลางเยอรมนีจะพูดคุยกับฝ่ายไทยเพื่อสอบถามว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรกันแน่ขณะประทับในประเทศเยอรมนี (https://www.auswaertigesamt.de/de/newsroom/regierungspressekonferenz/2409892# content_1) เนื่องจากการใช้มาตรการเชิงบังคับต่อผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ (เช่น การดักฟังโทรศัพท์ การกักกันตัว การเรียกปรับ เป็นต้น) ซึ่งเป็นประมุขของรัฐต่างแดนที่พำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (https://www.uni-trier.de/fileadmin/fb5/prof/OEF008/Vertiefung_Voelkerrecht/Immunitaet_von_ Staatsoberhaeuptern.pdf)?
2. รัฐบาลกลางเยอรมนีเคยใช้ช่องทางอื่นนอกจากการพูดคุยหารือกันระหว่างรัฐบาลกลางเยอรมนีกับฝ่ายไทยหรือไม่ เพื่อตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรกันแน่ขณะประทับในประเทศเยอรมนีและเพื่อทราบข้อเท็จจริงว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินจากประเทศเยอรมนีหรือไม่
คำถามข้อ 1 และ 2 ขอตอบรวมกัน เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จมาประทับในประเทศเยอรมนีเป็นการส่วนพระองค์ นอกจากนี้ขอให้ดูคำตอบของรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อคำถามข้อ 12 และ 20 ในกระทู้ถามเลขที่ 19-25129 ของพรรค Bündnis 90/Die Grünen และข้อสังเกตเบื้องต้นจากรัฐบาลกลางเยอรมนี
รัฐบาลกลางเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชาตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมัน กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล
3. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบข้อมูลประการใดบ้าง (รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ)ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลักพาตัวบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและข้าราชบริพารผู้ถวายงานพระองค์หรือไม่ (https://www.spiegel.de/politik/ausland/thailaendischer-koenig-in-germany-maha-vajiralikorn-become-a-political-forum-for-berlin-ad109b088-3bb2-4dd2-85e0-6336a15be7a8)
4. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบข้อมูลใดบ้าง (รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ) เกี่ยวกับอุบัติเหตุแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับอดีตคนสนิทของพระมหากษัตริย์ไทย (ถูกวางยาพิษ ถูกรถยนต์พุ่งชน ตกลงมาจากหลังคา) (https://www.tagesschau.de/ausland/thailandkoenig-geburtstag-101.html)
สำหรับคำถามข้อ 3 และ 4 รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลนอกเหนือไปจากข่าวที่ปรากฏในสื่อ
5. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่พระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินไทยไม่ต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐบาลอีกต่อไป (NZZ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 182 ลงวันที่ 6 เมษายน 2560 บัญญัติว่าบทกฎหมายทุกฉบับพระบรมราชโองการและพระราชกำหนดเกี่ยวกับราชการแผ่นดินทุกฉบับจะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น นอกจากนี้แล้วขอให้ดูคำตอบของรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อคำถามข้อ 20 ในกระทู้ถามเลขที่ 19-25129 ของพรรค Bündnis 90/Die Grünen
6. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยทหารส่วนราชการในพระองค์ 2 หน่วย (NZZ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563 หน้า 6) หากทราบ คือหน่วยงานอะไรและรัฐบาลกลางเยอรมนีทราบข้อมูล (รวมข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ) เกี่ยวกับจำนวนกำลังพลและกำลังยุทโธปกรณ์มากน้อยประการใด
ตามอำนาจแห่งมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ 6 เมษายน 2560 พระมหากษัตริย์ไทยทรงดำรงตำแหน่งองค์จอมทัพไทย การเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีและผลประโยชน์ทางการต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ ดังนั้นข้อมูลเรื่องนี้จึงถือเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิด-สำหรับใช้ทางราชการเท่านั้นและต้องเก็บรักษาแยกต่างหากตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ย่อหน้า 2 ข้อ 4 ของระเบียบบริหารทั่วไปว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยเชิงกายภาพ ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 (คำแนะนำการเก็บข้อมูลลับ)
7. ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่วิลล่าที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเมืองทุทซิงเคยได้รับการประกาศให้เป็นหรือยังเป็นที่พำนักทางการทูต (https://www.zdf.de/ politik/berlin-direkt/berlin-direkt-clip-4-416.html)? ถ้าจริง ตั้งแต่เมื่อใด?
ไม่มีอาคารที่ทำการกงสุลหรือที่ทำการทางการทูตของไทยตั้งอยู่ในเมืองทุทซิง
8. ตามข้อมูลที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีที่พำนักหลักในประเทศเยอรมนีแต่ไม่เคยทรงเสียภาษีมรดกให้แก่รัฐอิสระบาวาเรียถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ววิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงจะเคยถูกใช้หรือถูกใช้สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์เท่านั้น และพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันก็ไม่เคยเสด็จมาเยือนบาวาเรียตอนต้นเพื่อทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านการทูตเลย (https://www.merkur.de/lokales/starnberg/tutzing-ort29607/thailand-koenigbayern-tutzing-starnberg-steuern-trick-milliarden-hinterzie hung -thai-kini-rama-x-13801305. html)
9. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่ารัฐอิสระบาวาเรียยังไม่ได้รับการชำระเงินภาษีมรดกในส่วนนี้ที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมด - ประมาณ 3 พันล้านยูโร (https://www.merkur.de/lokales/starnberg/tutzing-ort29607/thailand-koenig-bayerntutzing-starnberg-steuern-trick-milliarden-hinterziehung-thai-kini-rama-x-13801305.html)
10. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงปลดภาระหน้าที่ในการเสียภาษีมรดกของพระองค์โดยใช้วิธีเสด็จออกจากวิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงแล้วแปรพระราชฐานไปประทับในโรงแรมเช่าแห่งหนึ่งในเมืองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์ เช่น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นซึ่งวิธีการนี้ทำให้พระองค์มิได้ทรงมีสถานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิแต่คือแขกอย่างเป็นทางการของโรงแรมในรัฐบาวาเรีย พระองค์จึงไม่มีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆ ทั้งสิ้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 2 ย่อหน้า 1 ข้อ 3 ของกฎหมายภาษีมรดก (https://www.merkur.de/lokales/starnberg/tutzing-ort29607 /thailandkoenig-bayern-tutzing-starnberg-steuern-trick-milliarden-hinterziehung-thai-kini-rama-x-13801305.html)
คำถามข้อ 8 ถึง 10 ขอตอบรวมกัน การจัดการและเรียกเก็บภาษีมรดกและภาษีจากของขวัญเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐ
11. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบประการใดบ้างว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ไทยจะทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้นั้น ที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มต้นการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ประเทศเยอรมนีในปี 2561 อันเป็นการเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศโดยไม่ใช่เพื่อการเยือนประเทศอื่นอย่างเป็นทางการแต่ด้วยพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์นั้น พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ (Wissenschaftliche Dienste des Deutschen Bundes-tages, WD 2 – 3000 – 095/20, หน้า 5)
เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ พระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างเวลานั้น
12. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าที่อนุญาตให้ประทับในเยอรมนีเป็นการส่วนตัวโดยต้องมีคุณสมบัติความเหมาะสมตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายการพำนัก โดยการพิจารณาออกวีซ่าให้เป็นผลมาจากการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจของหน่วยราชการ (Wissenschaftliche Dienste des Deutschen Bundes-tages, WD 2 – 3000 – 095/20, หน้า 14)
13. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบมากน้อยประการใดบ้างว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินมาประเทศเยอรมนีด้วย
ก) วีซ่าเชงเกนสำหรับการพำนักไม่เกิน 90 วัน (ขยายเวลาพำนักได้)
ข) วีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวสำหรับการพำนักเกินกว่า 90 วัน
ค) วีซ่าถาวรสำหรับการเดินทางเข้าออกได้ตลอดเวลา
หรือไม่ และหากใช่ มีจำนวนกี่ครั้ง
14. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือวีซ่าประเภทใด
ก) วีซ่าที่เรียกว่าวีซ่าเชงเกน
ข) วีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาว
ค) “วีซ่าถาวร”
15. ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือวีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาว รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าวีซ่าของพระองค์จะหมดอายุลงเมื่อใด
คำถามข้อ 12 ถึง 15 ขอตอบรวมกัน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กฎหมายการพำนักและข้อบังคับการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้กับพระองค์ แต่ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐ
16. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าคณะข้าราชบริพารผู้ติดตามถวายงานระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในเยอรมนีช่วงปี 2562-2563 มีจำนวนทั้งหมดกี่คน
รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
17. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยตลอดจนข้าราชบริพารในพระองค์ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากสำนักงานเขตปกครองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เช่นให้เข้าพำนักในโรงแรม 4 ดาว “แกรนด์ โฮเตล ซอนเน่นบิเชล” เมืองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เช่น ทั้งที่ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั้นโรงแรมต่าง ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดรับแขกเข้าพัก เหตุผลในการออกหนังสืออนุญาตคือแขกกลุ่มนี้เป็นแขกเพียงกลุ่มเดียวที่เป็น"กลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกัน" ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (dpa, 30 มีนาคม 2563) หากเป็นเรื่องจริง รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าได้มีการออกหนังสืออนุญาตเป็นกรณีพิเศษในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ให้แก่กลุ่มอื่นอีกหรือไม่
18. ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่าสำนักงานเขตปกครองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เช่นสามารถออกหนังสืออนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้แก่โรงแรมได้โดยมีเงื่อนไขว่าการเปิดให้พำนักจะต้องไม่ได้เป็นไปด้วยเหตุผลเชิงการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด แต่เพื่อให้บริการแก่ผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจและผู้เดินทางด้วยเหตุผลส่วนตัวโดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว (dpa, 21 พฤษภาคม 2563)
19. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบแน่ชัดประการใดบ้างว่าพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงแรม “แกรนด์ โฮเตล ซอนเน่นบิเชล” โดยไม่ได้ทรงมีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวและซึ่งก็หมายความว่าพระองค์ทรงกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมและการห้ามดำเนินกิจการธุรกิจและต่อมาภายหลังคือการฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อแห่งรัฐบาวาเรีย ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 หรือทราบประการใดบ้างว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเสด็จมาประทับ ณ โรงแรม “แกรนด์ โฮเตล ซอนเน่นบิเชล” ในฐานะผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจและทรงงานราชการแผ่นดินจากรัฐบาวาเรียหรือไม่ (dpa, 21 พฤษภาคม 2563)
คำถามข้อ 17 ถึง 19 ขอตอบรวมกัน การกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการในรัฐบาวาเรีย
20. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบประการใดบ้างเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ตั้งกระทู้ถามได้ข้อมูลมาว่า พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 23 ข ประกาศเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ นางสาวสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้าคุณพระ สินินาฏพิลาสกัลยาณีและได้รับพระราชทานตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและยศทหารและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราสืบเนื่องตลอดมา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงยังคงประทับอยู่ในประเทศเยอรมนี
21. รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าในระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีช่วงปี 2563 ทรงมีพระบรมราชโองการเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากนี้หรือไม่
คำถามข้อ 20 และ 21 ขอตอบรวมกัน รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลตามความหมายของคำถามที่ถามมาในข้อนี้