แม้เจ้าหน้าที่คอนโดฯ และตำรวจจะไม่อนุญาตให้เธอเข้าไปในห้องพักของวันเฉลิม แต่สิตานันก็ได้ข้อมูลไม่น้อยจากอดีต "รูมเมท" ของวันเฉลิม
แม้จะต้องฝ่าฟันขั้นตอนต่าง ๆ มากมายกว่าจะได้เดินทางมา ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท รวมถึงเสี่ยงอันตรายและถูกติดตามในบางวัน สิตานันสรุปว่าการเดินทางไปกรุงพนมเปญครั้งนี้ "ได้ผลที่น่าพอใจ" และทำให้รู้ว่าจะสู้ต่อไปอย่างไรในปี 2564
2564
ระหว่างอยู่พนมเปญ สิตานันและทีมทนายได้รับการติดต่อจากผู้ลี้ภัยการเมืองคนไทยซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและต้องการความช่วยเหลือ
"พอรู้ว่าพวกเราไป ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในกัมพูชาก็อยากจะมาคุย มาขอความช่วยเหลือ แต่เขากลัว บางคนนัดแล้วไม่มา บางคนมาถึงแล้วไม่กล้าออกมาพบ ซึ่งเราก็เข้าใจเขานะ..."
สิตานันเปิดเผยว่าในวันสุดท้ายก่อนกลับ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งตัดสินใจมาพบเธอ
"เขาน่าสงสารเขามาก" สิตานันเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ โดยขอไม่เปิดเผยชื่อผู้ลี้ภัยที่เธอได้พบ
"เขาออกไปไหนก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ คนใกล้ชิดของเขาในไทยขอให้เราหาทางช่วยให้เขาออกมา (จากกัมพูชา) เพราะกลัวว่าเขาจะตาย กลัวจะโดนเหมือนต้าร์... มันก็เลยเหมือนว่ามีงานอีกงานหนึ่งที่เราต้องทำต่อ ที่จะต้องช่วยน้อง ๆ ผู้ลี้ภัยหลาย ๆ คน" สิตานันบอก
นับจากนี้ไป การเคลื่อนไหวของเธอไม่ได้เป็นไปเพื่อวันเฉลิมคนเดียวอีกแล้ว แต่ยังเป็นไปเพื่อผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ทั้งที่สูญหาย เสียชีวิตและที่ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง
"หลังจากนี้จะนัดคุยกับคนที่ทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยเต็มตัวในปี 2564" เธอบอก
ไม่กี่วันหลังจากที่สิตานันให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้นำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตลอดปี 2563 โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ว่า
"ปีหน้า (2564) จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ตั้งเป้าไว้ เราจะพาเพื่อนผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับบ้าน มาฉลองปีใหม่ 2565 ด้วยกันที่ราชดำเนิน"
ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือไม่ เป้าหมายการทำงานที่สิตานันและอานนท์เปิดเผยออกมานั้น ส่งสัญญาณชัดว่าปี 2564 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เรื่อง "ผู้ลี้ภัยทางการเมือง" จะเป็นประเด็นสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
อ่านบทความเต็มที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-55473720