ถอดรหัสการแจ้งความผิด ม. 112
มกราคม 13, 2021
The Isaan Record
“กล่าวหาว่า เราจะล้มเจ้า ล้มสถาบัน เราจะไปล้มได้อย่างไร มีวิธีเดียว คือ เจ้าเล่นป๊อกเด้ง ใช่ไหมพี่น้อง”
เป็นบันทึกข้อกล่าวหาที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ระบุว่า พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ บอย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิก “แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย” ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 และอีกหลายข้อหา จากการปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (SCB) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2653
ในอีสานยังมีนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน อย่าง จตุพร แซ่อึง จากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ถูกดำเนินคดี ด้วย ม.112 พร้อมกับเยาวชนอายุ 16 ปี ภาคีนักศึกษาศาลายา หลังใส่ชุดไทยเข้าร่วม #ม็อบแฟชั่นถนนสีลม เมื่อ 29 ตุลาคม 2563
บันทึกข้อกล่าวหาสรุปว่า การแต่งตัวดังกล่าวเป็นการล้อเลียนพระราชินีทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชังพระราชินี
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที นักกิจกรรมทางการเมืองชาว จ.ขอนแก่น
“ครูใหญ่” ขอนแก่นพอกันที
ส่วนอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังปราศรัยบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมนีเพื่อขอให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์ไทยในอาณาเขตของประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563
นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกฟ้องในลักษณะคล้ายกัน
คดี “ทราย เจริญปุระ” และคนอื่นๆ
“ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ” “กล้ามาก เลย นะเธอ” “ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว” เป็นข้อความจากทวิตเตอร์ของ อินทิรา หรือ ทราย เจริญปุระ นักแสดงที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563
ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า เกิดจากการกระทำใน #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563
คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน” , ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี ทั้ง 7 คน เป็นผู้ปราศรัย มีเพียงอินทิราเท่านั้นที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนน้ำ อาหาร และห้องน้ำเท่านั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในส่วนของอินทิรา ในบันทึกคำให้การระบุว่า คําว่า “กล้ามาก” เป็นพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสไว้กับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งการนําถ้อยคําดังกล่าวมาพูดซ้ำในเชิงล้อเลียน เสียดสีจึงเป็นการทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ
นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เธอสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และรถห้องน้ำให้กับการชุมนุมรวมถึงการโพสต์เชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมที่ราบ 11 โดยมีข้อความว่า “เพราะทุกคนคือแกนนำ”
หมายเรียก อินทรา หรือ ทราย เจริญปุระ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน เครดิตจาก เฟซบุ๊ก Inthira Charoenpura
หรือแม้แต่การโพสต์แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับห้องน้ำและรถตู้ให้บริการประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และการโพสต์ว่า “ทีมที่ห่วงที่สุดคือทีมการ์ด”
โดย พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร สอบสวน สน.บางเขน ได้บรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า
จากการบรรยายข้างต้น อินทราจึงต้องทราบว่า วัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เป็นการชุมนุมที่เรียกร้องเพื่อพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ต้องสามารถเล็งเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ว่า อานนท์กับพวกจะต้องปราศรัยและกล่าวถ้อยคําที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายเหมือนกันทุกเวทีการปราศรัยที่ผ่านมา
บันทึกคำให้การของนักกิจกรรมในคดี 112
ส่วน 7 คนที่ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงเคลื่อนที่ บันทึกคำให้การระบุ ดังนี้
1.อานนท์ปราศรัยตั้งคำถามถึงการโอนกองกำลังทหารให้ไปอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์และย้ำข้อเรียกร้องขอให้สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
2.พริษฐ์ปราศรัยว่าสถาบันไม่มีความจำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนตัวและไม่ควรแทรกแซงอำนาจของประชาชน ทั้งสถาบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนร่วมในการอุ้มหายประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
3.ชินวัตรปราศรัยว่า การวิจารณ์เรื่องการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่ได้หมายความว่าต้องการล้มล้างสถาบัน แต่เพราะเป็นห่วงสถาบันจึงขอให้โอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ที่ส่วนกลาง
4.สมยศปราศรัยถึงประวัติที่มาของกองพลทหารราบที่ 11 ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีทหารเพื่อประชาชนและเรียกร้องถึงการตรวจสอบสถาบันได้อย่างโปร่งใส
5.พรหมศรปราศรัยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมีทหารส่วนพระองค์และเหตุใดจึงต้องมีผู้แทนพระองค์แทนสำนักงานทรัพย์สิน และต้องการให้สถาบันสามารถตรวจสอบได้
6.พิมพ์สิริปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันในการทำรัฐประหารของไทย พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและควรยกเลิก
7.ณัฎฐธิดาปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการกล่าวล่วงเกินต่อการทำงานของรัฐบาลที่ใช้มาตรา 112 แต่ก็มีเจตนาให้ยกเลิกเพื่อจะดำเนินการอื่นใดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ ซึ่งไม่เหมาะสม
จากเนื้อหาคำปราศรัยข้างต้น พนักงานสอบสวนระบุว่า มีบริบทที่ทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเชื่อตามคําปราศรัยของผู้ต้องหา เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ไม่ได้เป็นคำที่ดูหมิ่นหรือลดค่าความเป็นมนุษย์ลง”ภาวินี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครดิตภาพ iLaw
ทนายฯ ชี้วิจารณ์โดยสุจริตไม่เข้าข่าย 112
ด้านภาวินี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 กล่าวว่า มาตรา 112 มีปัญหามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่อยมา เช่น การเคลื่อนไหวของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ “ครก.112” เนื่องจากมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน
ภาวินี ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาหลักๆ ของมาตราดังกล่าว คือ ทุกคนสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลใดก็ได้
“ปัญหาของมาตรา 112 ถูกตีความไปอย่างกว้างขวาง อย่างกรณีโพสต์ของ อินทิรา ที่มีข้อความว่า “กล้ามาก” แม้จะเป็นคำพูดของ ร.10 แต่ก็ไม่เข้าข่ายข้อผิดกฎหมายดังกล่าว ต้องดูบริบทของสังคม ไม่ใช่ดูแค่การโค้ดคำๆ เดียว”
เธอยังบอกอีกว่า คำว่า “ล้อเลียน” ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาก็ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมายมาตรา 112 เพราะในมาตรานี้กำหนดว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตรมาดร้ายพระมาหากษัตริย์ ดังนั้นคำว่า ล้อเลียนจึงไม่เข้าข่ายความผิดในข้อหาดังกล่าว
ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ภาวินี ให้ความเห็นอีกว่า ส่วนคำว่า “ดูหมิ่น” ก็มีคำนิยามเฉพาะ ไม่ใช่การล้อเลียน คือ การดูหมิ่นทั้งหมด เช่น คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ก็ไม่ได้เป็นคำที่ดูหมิ่นหรือลดค่าความเป็นมนุษย์ลง หรือแม้แต่กฎหมายหมิ่นประมาทยังมีข้อยกเว้นว่า ถ้ากรณีที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะย่อมสามารถทำได้
ในกรณีที่มีการปราศรัยเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการปราศรัยเกี่ยวกับการโยกย้ายกองกำลังทหารหรืองบประมาณสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เห็นถึงปัญหาเพื่อให้เกิดการปรับปรุง เพราะสถาบันใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน
“กษัตริย์ถือว่า เป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้นประชาชนต้องสามารถวิพากวิจารณ์และต้องตรวจสอบได้ เพราะทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ”ทนายความฯ กล่าวอธิบาย