วันเสาร์, กันยายน 05, 2563
iLaw เล่ากระบวนการนอกกฎหมายที่แยบยลและขณะเดียวกันก็แปลกใหม่ ตร.จู่โจมแอดมินเพจวิจารณ์สถาบันยึดเพจ-ขอให้หยุด + คำแนะนำ ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดต่อขอเข้าพบ เยี่ยมบ้าน หรือโทรให้ไปพบ !!!
iLaw
13h ·
เปิดกระบวนการนอกกฎหมาย ตร.จู่โจมแอดมินเพจวิจารณ์สถาบันยึดเพจ-ขอให้หยุด
.
ตั้งแต่มีการชุมนุมของคณะเยาวชนปลดแอกจนกระทั่งขยายเป็นคณะประชาชนปลดแอกมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ 1 ใน 3 ข้อ คือ #หยุดคุกคามประชาชน
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไอลอว์ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองแล้วถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีผู้ร้องเรียนเข้ามาหลากหลายกรณี จนกระทั่งได้พบกับ ก. แอดมินเพจเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันฯ มีคนติดตามประมาณ 10,000 คน ก.เล่าถึงปฏิบัติการของตำรวจที่บุกเข้าไปพูดคุยที่มหาวิทยาลัยยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง มีการยึดและถ่ายโอนข้อมูลจากมือถือ ขอรหัสเฟซบุ๊กเข้าไปยึดเพจ ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีการอ้างอำนาจตามกฎหมายใด ทั้งยังขอให้เขาหยุดทำสิ่งที่เคยทำมาทั้งหมด
.
กระบวนการที่ตำรวจทำกับ ก. ถือว่าเป็นกระบวนการที่แยบยลและขณะเดียวกันก็แปลกใหม่ เนื่องจากเราผ่านช่วงที่มี “การปรับทัศนคติ” อย่างแพร่หลายหลังการรัฐประหาร 2557 มานานพอสมควรแล้ว ไอลอว์จึงขอนำเสนอตัวอย่างนี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปรับทัศนคติรูปแบบใหม่ที่รัฐกำลังใช้กับเยาวชนอยู่ในเวลานี้
.
+++ มหาวิทยาลัยเปิดประตูให้ตำรวจเข้ามาพูดคุย 2 ชั่วโมง +++
.
ก. ให้ข้อมูลกับทางไอลอว์ว่าทำเพจเพจหนึ่งเกี่ยวกับการวิจารณ์สถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เป็นวันที่ ก.มีสอบ ในช่วงเช้า ก.ไปที่มหาวิทยาลัยตามปกติ ช่วงเที่ยงหลังจากสอบเสร็จมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะโทรมาหา ก. และนัดให้ไปพบที่ห้องประชุมของคณะโดยไม่แจ้งว่านัดคุยในเรื่องใด บอกเพียงว่า “อยากคุยด้วยเฉยๆ” (ก. ทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ของคณะเป็นเพียงคนโทรมานัดหมาย แต่คนที่อนุญาตให้ตำรวจเข้ามาพูดคุยได้คือผู้บริหารคณะ)
เมื่อไปถึงห้องประชุมย่อยของคณะซึ่งมีขนาดห้องกว้างประมาณ 10-20 คนนั่ง ก.เปิดเข้าห้องไปพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะ 2 คนอยู่กับชายแปลกหน้าอีก 3 คน จากนั้นชายแปลกหน้าคนหนึ่งได้แสดงบัตรประจำตัวพร้อมกับแนะนำตัวว่าเป็นตำรวจสันติบาลจากส่วนกลาง มาจากกรุงเทพฯ ก.จำได้เพียงว่าในบัตรระบุยศ พันตำรวจโท
ตำรวจคนดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงอำนาจตามกฎหมายใดในการพูดคุยกับ ก.ครั้งนี้แม้แต่น้อย ไม่มีการแสดงหมายหรือเอกสารใดที่ทางราชการออกให้ เว้นแต่กองเอกสารเป็นรูปภาพการบันทึกหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กวางอยู่ที่โต๊ะจำนวนหนึ่งกับบัตรประจำตัวตำรวจที่มองดูแล้วน่าจะเป็นของจริง
จากนั้นตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือของ ก. ไว้เป็นอันดับแรกและเริ่มพูดคุยพร้อมนำกระดาษที่เป็นรูปการบันทึกการโพสต์เฟซบุ๊กของ ก. และโพสต์ของแฟนเพจเพจหนึ่งที่ ก.เป็นเจ้าของ เอกสารทั้งหมดมีประมาณ 20 แผ่น
.
ตำรวจถามว่า “เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนี้ใช่หรือไม่”
ก.ตอบรับว่า “ใช่”
ตำรวจถามว่า “ก. เป็นเจ้าของเพจ xxx ใช่หรือไม่”
ก.ยอมรับว่า “ใช่”
ตำรวจถามถึงโทรศัพท์มือถือว่า “ใช้มือถือรุ่นเดียวกันกับที่ใช้โพสต์เฟซบุ๊กที่ตำรวจตรวจสอบใช่หรือไม่”
ก.ยอมรับว่า “ใช่”
ในช่องว่างแห่งความรู้สึกตอนนั้น ก.ไม่เข้าใจแม้แต่น้อยว่ากระบวนการที่เขาพบเจออยู่คืออะไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาต่อไป
.
+++ ยึดมือถือ-โอนถ่ายข้อมูล เซ็นยินยอมภายหลัง +++
.
เมื่อตอบยืนยันคำถามทั้ง 3 ข้อ ตำรวจคนที่นำการพูดคุยได้เรียกให้ตำรวจที่เหลือเข้ามา รวมแล้วในห้องมีตำรวจทั้งหมด 10 คน ในจำนวนนั้นมีผู้หญิง 2 คน ทีมงานมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คและอุปกรณ์สำหรับการบันทึกวีดีโอ ในห้องประชุมขนาดเล็กที่มีโต๊ะประชุมตัวใหญ่อยู่กลางห้อง ตำรวจให้ ก.ขยับไปนั่งหัวโต๊ะ แล้วตำรวจนอกเครื่องแบบทั้ง 10 คนนั่งล้อมไว้ ส่วนเจ้าหน้าที่คณะ 2 คนขยับอยู่ห่างออกไปจากวงโดยอัตโนมัติ
จากนั้นตำรวจแจ้งกับ ก.ว่าจะมีการขอดูโทรศัพท์และจะต้องมีการตั้งกล้องบันทึกวิดีโอการพูดคุยกับ ก. ด้วยตลอดเวลา จากนั้นตำรวจนำโทรศัพท์มือถือของ ก.ที่ยึดไว้ตั้งแต่แรกเสียบสายเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่เตรียมมาพร้อมทั้งโอนถ่ายข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของ ก.ทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์ หลังจากโอนถ่ายข้อมูลเรียบร้อย ตำรวจอีกคนนำเอกสารเกี่ยวกับการให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือมาให้ ก.เซ็น
“ในเอกสารมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ และยินยอมให้ทำการตรวจค้นอุปกรณ์ดังกล่าว การเซ็นยินยอมเกิดขึ้นหลังจากที่ตำรวจโอนถ่ายข้อมูลในเครื่องไปแล้ว” ก.เล่า
.
จากนั้นตำรวจได้นำเอกสารบันทึกหน้าจอการโพสต์เฟซบุ๊กทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ก.และโพสต์ของเพจจำนวน 20 แผ่นมาให้ ก.เซ็นรับรองในเอกสารซึ่งระบุข้อความว่า “ขอรับรองว่าเป็นเจ้าของเพจXXXจริง”
“ในกระบวนการตั้งแต่โอนถ่ายข้อมูลโทรศัพท์จนถึงตอนให้เซ็นรับรองเอกสาร ผมไม่มีทนายความหรือคนที่ไว้วางใจอยู่ด้วยเลย ในห้องมีแต่ตำรวจและเจ้าหน้าที่คณะ 2 คนที่มาเป็นพยานนั่งอยู่ห่างออกไปตรงริมประตู” ก.กล่าว
“ตอนตำรวจโอนถ่ายข้อมูลมือถือของผมตำรวจเอาข้อมูลไปทั้งหมด ไม่ได้แยกว่าเอาเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็บอกกับตำรวจว่ามันมีข้อมูลส่วนตัวของผมด้วยนะครับ ตำรวจบอกกับผมว่าส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะลบออกให้ทีหลัง แต่ขอเอาข้อมูลทั้งหมดไปก่อน เขาได้ข้อมูลไปทั้งหมดไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง รูปถ่าย บันทึกแชทในโปรแกรมแชทต่างๆ”
กระบวนการต่อไป ตำรวจชุดดังกล่าวพยายามขออีเมล, เบอร์โทรศัพท์มือถือ และรหัสสำหรับเข้าระบบเฟซบุ๊กของ ก. ในช่วงแรก ก.ปฏิเสธให้ไปเพียงอีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น ไม่ได้ให้รหัสผ่านไป
.
+++ ตั้งกล้องวิดีโอ ‘สอบปากคำ’ โดยไม่มีทนาย +++
.
จากนั้นตำรวจจึงเริ่มกระบวนการพูดคุยต่อหน้ากล้องวีดีโอที่ตั้งไว้ โดยเริ่มต้นถามตั้งแต่ “ทำไมถึงทำเพจนี้” “ได้รับแนวคิดแบบนี้มาจากไหน” “ทำไม ก.กดติดตามกลุ่มบุคคลที่ล้มล้างสถาบันฯ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ.ปวิน วงไฟเย็น” “รู้จักคนพวกนี้เป็นการส่วนตัวไหม” “ไปเอาข้อมูลคนพวกนี้จากใคร” “ข้อมูลที่โพสต์ในเพจเอามาจากใคร” ทั้งนี้ รูปการกดติดตามเพจต่างๆ ของ ก.ที่ปรากฏในกระดาษของตำรวจยังมีอีกหลายคนที่ ก.ไม่รู้จัก
ก.ได้ปฏิเสธกับตำรวจไปว่า "ไม่รู้จักกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้แลย" แม้ตำรวจมีท่าทีไม่เชื่อคำพูดของ ก.แต่ไม่ได้ถามอะไรในประเด็นนั้นต่อ เปลี่ยนประเด็นคำถามไปสู่การถามถึงเรื่องส่วนตัวของ ก. โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวของเขา
ตำรวจถามว่า “คุณพ่อ-คุณแม่ ทำงานอะไร” มีการนำข้อมูลจากทะเบียนบ้านของ ก. มาถามด้วยว่า “ก. ยังอยู่บ้านหลังนี้อยู่หรือไม่” “คุณพ่อ-คุณแม่ยังอยู่บ้านหลังนี้อยู่หรือไม่”
.
+++ ข่มขู่ว่าผิดกฎหมาย ขอให้ยุติการกระทำ +++
.
นอกจากนั้นตำรวจชุดดังกล่าวยังพูดคุยถึงเรื่องที่ ก.โพสต์ข้อมูลลงเพจด้วย โดยตำรวจพยายามเปิดกระดาษที่บันทึกภาพหน้าจอเฟซบุ๊กแล้วอ้างว่า รู้หรือไม่ว่าบางโพสต์ที่ ก.โพสต์ลงเพจนั้นมีเรื่องที่ไม่จริงด้วยซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น คลิปของวงไฟเย็นเป็นคลิปที่มีการตัดต่อ จึงมีความผิดในเรื่องเผยแพร่ข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ตำรวจพูดต่อว่า “แต่ถ้าหลังจากนี้ ก.ปฏิบัติตัวดีก็จะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ”
ก. เล่าถึงบรรยากาศการพูดคุยว่า ในช่วงที่คุยหน้ากล้องนั้น ตำรวจที่นำพูดคุยไม่ใช่คนที่แสดงตัวในตอนแรก แต่เป็นตำรวจที่เข้ามาทีหลัง มีอายุมากแล้ว 2 คนสลับกันพูด ทั้งการข่มขู่ โต้เถียง และมีตำรวจผู้หญิงอีกหนึ่งคนคอยเป็นคนพูดปรับสถานการณ์ให้เย็นลง คอยตะล่อมให้ ก.ฟังที่ตำรวจชายสองคนพูด
เวลาการพูดคุยทั้งหมดกว่า 2 ชั่วโมง ยังมีเรื่องการถกเถียงกันถึงแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย โดยตำรวจพยายามจะอธิบายถึงความเหมาะสมและความถูกต้องของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย
“ท้ายสุดตำรวจพยายามจะให้ผมพูดกับกล้องวิดีโอว่าจะไม่ทำอีก”
“ในการบังคับให้ผมไม่ทำอีก ไม่ได้มีการให้เอกสารใดๆ ที่บอกว่าจะไม่กระทำการซ้ำอีก แต่ในระหว่างพูดคุย นอกจากกล้องวิดีโอแล้ว ยังมีคนที่คอยพิมพ์บันทึกคำพูดของผมอยู่ด้วยอีกคน ไม่ได้บันทึกการพูดคุยทั้งหมด บันทึกแค่เรื่องสำคัญ เช่น ได้รับความคิดมาจากไหน เริ่มทำเพจตั้งแต่วันไหน แล้วสุดท้ายเขาก็เอาเอกสารที่บันทึกนั้นมาให้เซ็นรับรอง”
ตำรวจบางคนที่อยู่ในห้องพูดกับ ก.ในทำนองที่ว่าในอนาคตห้ามพูดเรื่องแบบนี้อีก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดี และมีคนดูอยู่ตลอด บางคนก็เข้ามาเตือนว่า "อย่าให้เสียดายอนาคตเลย ตั้งใจเรียนดีกว่า"
ในส่วนของการแจ้งเรื่องดังกล่าวกับครอบครัวนั้น ก. ให้ข้อมูลว่า ตำรวจไม่ได้ขู่ว่าจะแจ้งเรื่องทั้งหมดให้พ่อแม่ของ ก.ทราบ
“ตำรวจบอกกับผมว่า ห้ามแจ้งเรื่องนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเด็ดขาด ถ้าจะแจ้งหรือจะโทรหาคุณพ่อคุณแม่ให้โทรหาต่อหน้าตอนที่ตำรวจอยู่ด้วย แล้วตำรวจจะร่วมคุยด้วย สุดท้ายผมจึงยังไม่ได้แจ้งเรื่องให้คุณพ่อ-คุณแม่ทราบ”
.
+++ ตะล่อมขอรหัสเฟซบุ๊กเพื่อยึดเพจ +++
.
ในช่วงท้ายของการพูดคุยตำรวจพยายามขอรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊กของ ก. อีกครั้ง โดยอ้างว่า ต้องเข้าระบบเฟซบุ๊กเพื่อยึดเพจ XXX ของ ก.ไปเป็นของตำรวจ แล้วจะคืนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ จากนั้น ก.ค่อยเปลี่ยนรหัส ทั้งหมดนี้ต้องการเพียงแต่ยึดเพจไปเท่านั้น ไม่ได้จะเอาเฟซบุ๊กไปทำอย่างอื่น
ก.ตัดสินใจยินยอมทำตามที่ตำรวจอ้าง โดยให้รหัสเฟซบุ๊กกับตำรวจไปเพื่อให้ตำรวจยึดเพจ โดยตำรวจได้ทำการเปลี่ยนตัวผู้ดูแลเพจโอนไปให้บัญชีผู้ใช้ของตำรวจแล้วปลด ก.ออกจากผู้ดูแลเพจ จากนั้นคืนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวให้กับ ก. และให้เปลี่ยนรหัส
ถึงวันที่พูดคุยกับไอลอว์คือ 1 กันยายน 2563 เพจดังกล่าวยังเปิดอยู่ แต่ ก.ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจแล้ว และไม่เห็นว่าเพจดังกล่าวมีความเคลื่อนไหวใดๆ ตั้งแต่วันที่ถูกยึดไป
เมื่อถามเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ยินยอมให้รหัสผ่านเฟซบุ๊กกับตำรวจ เป็นเพราะความกลัวใช่หรือไม่?
“เป็นเพราะการพูดของตำรวจที่ไม่ชัดเจนมากกว่า ตำรวจพยายามข่มขู่ก่อนว่าที่โพสต์เนี่ยมันผิดนะ แต่ก็ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าจะดำเนินคดีกับผม ในช่วงแรกตำรวจขอรหัสเฟซบุ๊กบอกว่า ต้องให้นะ! ผมยืนยันว่าผมไม่ให้ เขาขอรหัสอีเมลบอกว่า ต้องให้นะ! ผมก็บอกว่าผมไม่ให้ แต่ในช่วงสุดท้ายเขาพยายามเน้นและพูดซ้ำๆ ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นผิด พอผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำอาจจะผิดตามที่เขาพูด เขาก็เริ่มกลับมาขอพวกรหัสผ่านใหม่ และในที่สุดผมก็ตัดสินใจให้ไป”
.
+++เสร็จกระบวนการ ชวนไปกินข้าว+++
“หลังจากพวกเขาให้ผมเซ็นเอกสารทั้งหมด และคืนมือถือให้กับผมก็เสร็จสิ้นกระบวนการ ตำรวจชวนผมไปกินข้าวต่อด้วย ผมก็ตกลงไปกินข้าวกับเขา” ก.เล่า
เมื่อถามว่าไปกินข้าวกับตำรวจมีเพื่อนไปด้วยหรือไม่?
“ผมไปคนเดียว นอกนั้นเป็นตำรวจทีมเขาหมดเลยทั้งโต๊ะ การไปกินข้าวกับเขาก็ทำให้ผมได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตำรวจทีมนี้เขามากันมากกว่า 10 คน เขาจองโต๊ะที่กินข้าวไว้จำนวนมากกว่านั้น พอขึ้นรถบนรถผมก็ได้ถามตำรวจว่ามากันจากที่ไหน แล้วมากันอย่างไร ตำรวจก็ตอบตามตรงว่า ทีมนี้มากันจากกรุงเทพฯ ขับรถตรงมาเลย 10 ชั่วโมงเพื่อมาคุยกับน้องแค่นี้เลย พูดคุยกับน้องเสร็จก็จะขับรถกลับกันเลย”
“ส่วนรถที่เขาขับมากันนั้น ผมนั่งรถคันหนึ่งของเขาไปร้านข้าวเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลธรรมดานี่แหละครับ ไม่มีสัญลักษณ์อะไรเกี่ยวกับตำรวจเลย ผมก็นั่งทานข้าวร่วมกับเขาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ขอตัวกลับก่อน หัวหน้าทีมเขาก็ให้ลูกน้องไปส่งผมที่หอพัก ลูกน้องเขาก็เดินตามมาส่งผมถึงหอพักเลย” ก.เล่า
.
อ่าน "เปิดกระบวนการนอกกฎหมาย ตร.จู่โจมแอดมินเพจวิจารณ์สถาบันยึดเพจ-ขอให้หยุด" ทางเว็ปไซต์ได้ที่: https://freedom.ilaw.or.th/node/850
###############
.
+++ คำแนะนำ ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดต่อขอเข้าพบ เยี่ยมบ้าน หรือโทรให้ไปพบ !!!
๐ กรณีตำรวจโทรขอให้ไปพบนอกสถานที่
.
1. สอบถามชื่อ ตำแหน่ง สังกัด ของผู้ที่โทรมา
2. สอบถามตำรวจถึงหมายที่ทางราชการออกให้ว่ามีหรือไม่ เช่น หมายเรียก หมายจับ
>>> 2.1 หากไม่มีหมาย ไม่ต้องออกไปพบกับผู้ที่โทรมา เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการนัดเจอไว้
>>> 2.2 หากมีหมายให้สอบถามสถานที่นัดหมายว่าเป็นที่สถานีตำรวจหรือไม่ หากไม่ใช่สถานีตำรวจสามารถปฏิเสธได้
3. ทำการบันทึกข้อมูลการคุกคามไว้ด้วยการจดบันทึกให้ละเอียดที่สุด แล้วแจ้งต่อองค์กรที่รับแจ้งเรื่องการคุกคาม
.
๐ กรณีตำรวจเข้าไปเยี่ยมบ้าน หรือบุกมาเจอในสถานศึกษา
1. สอบถามตำรวจถึงหมายที่ทางราชการออกให้ว่ามีหรือไม่ เช่น หมายเรียก หมายจับ หมายค้น
>>> 1.1 หากไม่มีตำรวจไม่สามารถเข้ามาในบ้านได้ และไม่สามารถพูดคุยเพื่อทำการสอบสวนในสถานศึกษาได้
>>> 1.2 หากตำรวจมีหมายค้น หมายเรียก หรือหมายจับ ให้ตำรวจดำเนินการตามหมายได้ หากเป็นหมายค้น แล้วขอเข้าบ้านต้องให้ค้นในเวลากลางวันเท่านั้น และต้องมีตำรวจในเครื่องแบบยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีเข้าควบคุมการค้นด้วย
2. หากตำรวจยืนยันว่าจะทำการพูดคุย หรือสอบสวน โดยไม่มีหมายที่ทางราชการออกให้ อย่างน้อยต้องให้เราสามารถแจ้งทนายความ หรือผู้ไว้วางใจที่เราติดต่อเองเช่น ผู้ปกครอง หรืออาจารย์ที่ไว้ใจ แล้วรอให้คนที่เราติดต่อไปเข้ามาร่วมกระบวนการพูดคุยด้วย ห้ามพูดคุยกับตำรวจโดยลำพังเด็ดขาด
3. ทำการบันทึกข้อมูลการคุกคามไว้ด้วยการจดบันทึกให้ละเอียดที่สุด แล้วแจ้งต่อองค์กรที่รับแจ้งเรื่องการคุกคาม
.
อ่านข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่ใช้ยันกับตำรวจที่มาคุกคามได้ที่ "ถ้าตำรวจมาเยี่ยมบ้าน ต้องทำยังไง?": https://www.ilaw.or.th/node/5725
.
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่ทราบข้อมูลการคุกคามประชาชนที่แสดงออกในประเด็นสาธารณะต่างๆ ด้วยรูปแบบใดก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นผู้ประสบเหตุคุกคามด้วยตัวเอง สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับไอลอว์ได้ทั้งทางโทรศัพท์หมายเลข 02 002 7878 email ilaw@ilaw.or.th หรือทาง facebook messenger ของเพจ ilaw หรือทาง Direct message ทาง twitter iLawFX
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164343322205551