วันพฤหัสบดี, กันยายน 03, 2563

ใครควรจะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “พรรคการเมืองในรัฐสภา” หรือ “ภาคประชาชน” อ.ธิดา เล่าประสบการณ์และบทเรียนของภาคประชาชน



ธิดา โตจิราการ
18h ·

Facebook Live อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
วันอังคารที่ 1 กันยายน 2563
เล่าข่าวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ประเด็น : รัฐสภาหรือภาคประชาชน จะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
อ.ธิดากล่าวว่า ในส่วนของเรือนจำนั้น ดิฉันอยากจะเรียนว่าบรรดาแกนนำนปช.และประชาชนจำนวนมากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็จะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว บางส่วนก็จะได้รับการลดโทษและพักโทษ ดังนั้นญาติพี่น้องและผู้ที่รอคอยคนที่อยู่ในเรือนจำก็จะได้รับข่าวดีเป็นระยะ ๆ ตอนนี้ก็ทราบว่าอยู่ในช่วงเวลาของการจำแนก การคัดตัว การอบรม ก็หวังว่าจะได้ทยอยกันออกมาเป็นลำดับ อันนี้ก็เป็นข่าวดี!
.
ทีนี้หันกลับมาในเรื่องนอกเรือนจำ ในวันนี้ที่ดิฉันจะคุยก็ตั้งชื่อประเด็นว่า

ใครควรจะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “พรรคการเมืองในรัฐสภา” หรือ “ภาคประชาชน”
.
ดิฉันขอเริ่มด้วยว่าบทเรียนของภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีต เอานปช.โดยตรงเลย
.
นปช.และนปก. ได้พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้ยื่นมาแล้วอย่างน้อย 2 ฉบับ ฉบับแรกก็คือหลังรัฐประหารปี 2549 การขับเคลื่อนของเราก็คือหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ขณะนั้นซีกประชาธิปไตยก็มีรัฐบาลของพลังประชาชน (ไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว) เราได้มีการลงชื่อกว่าห้าหมื่นชื่อเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วในขณะนั้นต้องยอมรับว่าแม้จะมีการลงชื่อจริง แต่พรรคการเมืองอยู่ในฐานะนำ อย่างไรก็ตามเราลงชื่อมาหมดแล้ว ปรากฏว่าในสภา ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่ได้ขึ้นมาสักที อยู่ในอันดับสองตลอดเลย นั่นก็คือครั้งแรก
.
ต่อมาครั้งหลังซึ่งขณะนั้นดิฉันเป็นประธานนปช. เนื่องจากนโยบายนปช.ใน 6 ข้อ มีข้อหนึ่งชัดเจนเลยว่า เราจะยกเลิกไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนมากกว่านี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อเปรียบกับ 40 มันคนละเรื่องกันเลย แต่ว่ายังไม่รุนแรงเท่ากับ 60
.
ยกตัวอย่างเช่นวุฒิสมาชิก 50 นั้นคือวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง นั่นก็คือมีการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง มีการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง แต่มาตอนนี้แต่งตั้ง 100% เลย
.
ขณะนั้นดิฉันเป็นประธานนปช.และได้ประชุมที่ปรึกษาคือมีการขอความเห็นนักวิชาการจำนวนมาก แต่มีที่ปรึกษาหลายท่านยกตัวอย่างเช่น อาจารย์คณิน บุญสุวรรณ (เสียชีวิตแล้ว), อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์, ท่านอดีตผู้พิพากษา อุดม มั่งมีดี เป็นต้น เราร่างในการที่จะต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มี สสร. แล้ว สสร. ของเรา 100 คน มาจากการเลือกตั้ง 100% ให้ตามสัดส่วนจังหวัด จังหวัดไหนที่ประชาชนมากก็มี สสร. จำนวนมาก ไม่ใช่ สสร. จังหวัดละ 1 คน
.
เพราะฉะนั้นของเราก็คล้าย ๆ กับเจตจำนงที่ภาคประชาชนนำเสนอ เราไม่ได้ล็อคว่าหมวดไหนแก้ไขได้หรือไม่ได้ ก็คือให้เลือก สสร. 100 คน เลือกตั้งทั้งหมด แล้ว สสร. จะมาตั้งกรรมาธิการหรือตั้งอนุกรรมาธิการอะไรก็ทีหลัง แต่ปรากฎว่านี่เป็นครั้งที่เราไปได้ผู้คนมาภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน เราได้ชื่อมา 7 หมื่นกว่าชื่อซึ่งเป็นทั้งคนในกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดด้วย ดังนั้นก็ใช้เวลาในการตรวจสอบตัวตนและที่อยู่ จำนวนคนที่ลงชื่อและผ่านการตรวจสอบไม่เป็นปัญหาของภาคประชาชน
.
แต่ว่าในอดีตนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ด่านแรกคือรัฐสภา ของเรานี่เจอด่านแรกเลย ยังไม่ต้องไปด่านไหนเลย ครั้งแรกเขาไม่เอาเสนอในรัฐสภา ครั้งที่สองสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าร่างของเรา (เหมือนที่ iLaw พยายามจะทำขณะนี้) มันไม่ตรงกับร่างของพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น) ก็มีการร่างอีกแบบหนึ่ง สสร. เหมือนกัน แต่ว่ามีคณะกรรมการต่างหาก ที่คล้าย ๆ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ แต่ของเขา สสร. 200 คน มี ส.ส.เลือกมา 20 คน มีอธิการบดีเลือกมา 20 อะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นชุดใหม่
.
แต่ความหมายดิฉันจะบอกว่าร่างของภาคประชาชนจะไม่เหมือนกับร่างของพรรคการเมือง ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าฝ่ายค้านก็ส่วนหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลก็ส่วนหนึ่ง แล้วก็ยังมีบางพรรคก็ไม่เหมือนกัน นี่คือด่านแรกที่จะเจอ
.
แล้วในครั้งนั้นปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยเขาก็ต้องโหวตให้ร่างของเขา เขาไม่เอาร่างของนปช. ดิฉันไม่อยากจะพูดลำเลิกนะว่า ถ้าวันนั้นเห็นด้วยกับร่างของนปช. เราอาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าพรรคการเมือง ในทัศนะของอาจารย์นะ จะบอกว่าเราคุยโตโอ้อวดหรือเปล่าไม่รู้? แต่เราเข้าใจการเมืองไทย เข้าใจประชาชนไทย มากกว่าพรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรคเพื่อไทยตอนนั้นแหละ เรารู้อยู่แล้วว่ามีความขัดแย้ง ถ้าคุณพยายามจะเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบที่คุณต้องการมากที่สุด คนอื่นเขาก็ไม่ยอม เอาแฟร์ที่สุดเลย เลือกให้หมดเลย 100%
.
แล้วแน่นอน ไม่ใช่ the winner takes all คุณเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ดิฉันพูดถึง พปชร. ปัจจุบันนี้ด้วย คุณอาจจะมีส.ส.มาก คุณอาจจะมีเสียงมาก คุณอาจจะผ่าน...แล้วไง? มันแก้ปัญหาได้มั้ย ถ้าคุณพยายามจะดึงดันเขียนรัฐธรรมนูญตามแบบของคุณโดยตั้งคณะที่คุณเชื่อมั่นว่าเขาจะฟังคำสั่งคุณ เขียนตามที่คุณต้องการ
.
ในอดีตดิฉันไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไร แต่ว่าไม่ตรงกับนปช. และเขาก็ทิ้ง!
.
ถ้าวันนั้นเราเข้าใจตรงกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น มันไม่มีวันนี้สำหรับพรรคเพื่อไทยแน่นอน ในทัศนะของดิฉัน ก็คือ แฟร์ ๆ ไปเลย แข่งกันเลย มันไม่มีข้อแก้ตัวให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการทำลายล้าง ก็คุณลงมาโหวตซิ คุณลงมาสมัครซิ แล้วก็ไม่ได้ล็อคเอาไว้ล่วงหน้า ไม่มีการล็อคตำแหน่ง ไม่มีการล็อคโจทย์เอาไว้ล่วงหน้า แฟร์ ๆ เลย เอาแบบนั้นเลย แต่มันผ่านไปแล้ว...
.
ที่ดิฉันต้องพูดเพื่อเป็นบทเรียนกับน้อง ๆ ลูกหลานรุ่นหลังว่า ปัญหาคนเซ็นไม่ใช่ปัญหา กระทั่งเข้าไปในรัฐสภาก็เข้าได้ แต่เมื่อเวทีรัฐสภาเป็นผู้นำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็คว่ำร่างของคุณ เขาก็เอาร่างของเขา อันนี้เป็นสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นแล้ว ขนาดเป็นพันธมิตรเดียวกัน เพราะพรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่เอานะของนปช. ยังไม่พอ...ยังทำร่างประชาชนมากมาย ในการที่จะทำให้ประชาชนสับสนหรือเปล่า? แล้วก็ตัดกำลังนปช.ในการหาคนมาเซ็นชื่อ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา จะตัดยังไง นปช.ก็หาคนได้
.
ก่อนหน้านี้ตอนคุณวีระให้เอาคนมาถวายฎีกา 5 ล้านกว่าที่คนมาลงชื่อ
.
ตอนที่แก้รัฐธรรมนูญในยุคที่อาจารย์เป็นประธาน 7 หมื่นกว่าก็ใช้เวลาไม่นาน
.
เพราะฉะนั้นคนไม่ถึง 5 หมื่นหรือเกิน 5 หมื่น ไม่ใช่ปัญหา
.
แต่ปัญหาด่านอันแรกเลยก็คือรัฐสภา!
.
ครั้งที่แล้วเมื่อพรรคการเมืองนำ เขาผ่านด่านรัฐสภาได้เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ อันนี้ พปชร. ฟังไว้นะ เสร็จแล้วเป็นไง? ไปไม่ถึงฝัน วาระ 3 ไม่กล้าลง เจอศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือด่านที่ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะต้องเผชิญ คุณชนะในรัฐสภา แต่คุณไม่สามารถฝ่าด่านขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญได้ ไม่กล้าโหวตวาระ 3
.
ตอนนั้นนปช.บอกโอเค คุณไม่เอาร่างของเราก็ได้ ไล่โหวตไปเลยวาระ 3 ไม่เอา!!! ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้โหวตแก้เฉพาะบางมาตรา เรียบร้อยเลยค่ะ ขอแก้ ส.ว. จบเห่เลย!!!
.
ดังนั้นบทเรียนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าในส่วนของภาคประชาชนนั้น ถ้านำด้วยรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาฝ่ายไหน มันก็จบเห่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นพวกเดียวกับเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือคุณจะเป็นคนละพวก หรือคุณจะมีเฉพาะบางประเด็นที่ต่างกัน ต่อให้คุณผ่านด่านรัฐสภาไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คุณก็ไม่ผ่านด่านองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี อันนี้หมายความว่าเป็นการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญแท้ ๆ
.
บทเรียนอันนี้เราก็ขอฝากลูกหลานและน้อง ๆ เอาไว้ว่า ถ้าถามอาจารย์ธิดาว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ แน่นอน...ถ้าทำตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องมีบทบาทด้านหลัก แต่ดังที่ดิฉันได้บอก ต่อให้คุณมีเสียงข้างมากในรัฐสภา คุณก็ไม่พ้นด่านศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ยังไม่มีข่าว คุณไม่พ้นองค์กรอิสระ คือคุณอาจจะเจอตั้งแต่ยุบพรรคก่อนยุบพรรคทีหลัง คุณเจอแน่ อันนี้เป็นการแก้ไขตามกติกาตามรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐสภา
.
ดังนั้นมาถึงเที่ยวนี้ รัฐธรรมนูญ 60 มันยิ่งแย่กว่า 50 หลายเท่า เขียนแบบไม่ให้แก้ ล็อคหมดเลย ล็อคซ้าย ล็อคขวา ล็อคหน้า ล็อคหลัง รัฐธรรมนูญ 50 ยังดูเหมือนแก้ง่ายกว่า เขาก็ยังลดเลี้ยวเคี้ยวคดเอาจนกระทั่งแก้ไม่ได้
.
ในทัศนะของดิฉันก็คือ ถ้าคุณจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลง การใช้ให้พรรคการเมืองและรัฐสภานำ อาจารย์มองไม่เห็นการบรรลุเลย เพราะว่าต่อให้คุณผ่านเสียงข้างมาก คุณก็จะต้องไปเจอด่านอื่น หรือมิฉะนั้นถ้าคุณจะไม่เจอด่านอื่นขององค์กรอิสระ คุณก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญตามใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม คำถามคือประชาชนจะยอมไหม? ประชาชนไม่ยอม!!!
.
เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 60 เป็นผลิตผลที่สุดยอดที่สุดแล้วของฝ่ายอำนาจนิยมกับอนุรักษ์นิยม ถ้ามันเป็นปฏิมากรรมนะ หรือเป็นงานปั้นอะไร มันก็ต้องสุดยอดฝีมือของฝ่ายจารีตนิยมและอำนาจนิยมในการประดิษฐ์รัฐธรรมนูญ 60
.
ขณะนี้ฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมยังมีอำนาจสูงเด่น พร้อมกับมีฐานในฐานะพรรคการเมืองซึ่งพยายามแย่งชิงมวลชนโดยใช้วิธีการลดแลกแจกแถม ใช้วิธีการประชารัฐ ประชานิยม ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ 60 มันจึงยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ 60 อาจจะกลายเป็นยุทธวิธีของฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมที่ใช้รับมือกับการออกมาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเยาวชน มันอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ดังที่เราเข้าใจว่ามันอาจจะใช้เวลาถึง 2 ปี
.
กล่าวได้ว่า มีอย่างเดียวก็คือภาคประชาชนต้องแข็งแกร่ง คุณต้องสามารถนำทั้งเนื้อหา นำทั้งวิธีการ ให้ได้ ถ้าปล่อยให้รัฐสภาและกลไกของจารีตนิยมดำเนินไป อย่าหวังเลยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้าขึ้นและเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าของประชาชนได้ รัฐธรรมนูญ 17, รัฐธรรมนูญ 40 กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2489 ยังไม่ใช่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนะ เพียงแต่ว่ามันดีหลังจากมีการต่อสู้ของประชาชน
.
บทเรียนแรกก็คือ ความล้มเหลวในการใช้รัฐสภาและกลไกรัฐในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีต
.
บทเรียนที่สองก็คือ เราพบว่ารัฐธรรมนูญที่ดีมันจะเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของประชาชนอย่างหนักหน่วง 89 เป็นผลพวงของ 2475 โดย อาจารย์ปรีดี
.
17 ดีขึ้นเหมือนกัน เป็นผลพวกจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชน 14 ตุลา 16
.
40 เป็นผลพวงจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนปี 2535
.
คำถามว่ารัฐธรรมนูญ 60 แล้วคุณจะแก้ไข ถ้าไม่มีการนำการต่อสู้ของประชาชนที่โดดเด่น ที่แข็งแรง ที่ยิ่งใหญ่ อย่าหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ดี ที่ก้าวหน้า มันจะเกิดขึ้นได้ เพราะขนาดปี 17 ยังอยู่ไม่ทน ปี 40 ก็ยังอยู่ไม่ทน ยังถูกรัฐประหาร
.
ถ้าคุณจะแก้โดยประชาชนนำและแข็งแรงเท่านั้น จึงจะสามารถได้รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า ที่อำนาจมาเป็นของประชาชนได้ แม้กระนั้นก็ยังไม่แน่ว่าจะอยู่ยืนยาวแบบในอดีต เพราะฉะนั้นบทเรียนในอดีตโดยสรุปก็คือ มันสอนว่ามีแต่ความเข้มแข็งและการนำของภาคประชาชนเท่านั้น จึงจะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่แท้จริง
.
ก็ขอให้การต่อสู้ของประชาชนในรอบนี้เข้มแข็ง นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีให้ได้ เป็นกำลังใจค่ะ.

ooo

 
 .....

...
Thanapol Eawsakul
8h ·

ถ้าคุณอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
ต้องภาวนาให้ชนชั้นนำไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น
......
ไม่ฟังเสียงประชาชน
ไม่แก้รัฐธรรมนูญ
ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจ
ไม่ปรับตัวเข้ากับคนรุ่นใหม่ (ที่เขาไม่เคยชินกับการใช้อำนาจแบบเก่า)
เคยทำอย่างไรก็ทำเช่นเดิม หรือทำหนักกว่าเดิม
........
เมื่อถึงเวลานั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เร็วและแรง