The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
Yesterday at 4:30 AM ·
วิโรจน์ หนามยอกหนามบ่ง
หนามยอกเอาหนามบ่ง
คุกคามประชาชน ใช้ ม.116
งัด ม.200 สกัด อำนาจบาตรใหญ่
เตือนตำรวจ อย่าใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ
#พรรคก้าวไกล #วิโรจน์มาแล้ว #หนามยอกเอาหนามบ่ง
https://www.facebook.com/ThePoliticsByMatichon/videos/327704231617902
ooo
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
6h ·
[ ปิยบุตร ชี้ ม.116 กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล - หน้าที่ของตำรวจไม่ใช่นายสั่งแล้วต้องทำ แต่คือการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ]
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จัดเวทีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายตวามมั่งคงของคนชุมชนเมือง โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย” มีวิทยากรร่วมเวที ได้แก่ พลโท พงศกร รอดชมภู, รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล, พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, พ.ต.อ.แบงค์ บัวนวล ดำเนินรายการโดย ดร.จำนงค์ ไชยมงคล
ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่นคงและเสรีภาพ เราต้องเริ่มจากหลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพก่อน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ไม่ต้องรอให้มีกฎหมายมากำหนดสิทธิให้ นั่นคือเสรีภาพในการคิด การแสดงออก และสิทธิในชีวิต ร่างกาย แต่เมื่อมนุษย์รวมตัวกันก่อตั้งเป็นรัฐ มนุษย์จึงยอมเสียสละเสรีภาพคนละนิดคนละหน่อยให้รัฐเอาไปสร้างประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน
เมื่อรัฐเกิดขึ้นก็มีความจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของรัฐ และกฎหมายที่มาจำกัดเสรีภาพของบุคคลหลายเรื่อง ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั่นเอง ประชาชนเป็นเจ้าของเสรีภาพ จะยอมให้รัฐมาจำกัดเสรีภาพได้ จะทำด้วยการออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ประเทศไทยมีการยึดอำนาจบ่อย การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพจึงไม่ได้มาจากผู้แทนของราษฎร
แต่เมื่อบรรดาเจ้าหน้าที่เห็นกฎหมายแล้วจะนำไปใช้ก็ต้องนำไปใช้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อาทิเช่น กฎหมายมีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ก็ต้องนำมาใช้เพื่อการนั้น ห้ามนำไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์อื่นแฝงอยู่ และเมื่อนำมาใช้แล้วก็ต้องจำกัดเสรีภาพให้ได้สัดส่วนเท่าที่จำเป็น
ปิยบุตร แบ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐไว้ 3 ประเภทใหญ่ๆ
1.กฎหมายที่กำหนดความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร เช่น มาตรา 112, 113, 116
2.กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการในสถานการณ์พิเศษ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็น 3 ฉบับที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในสถานการ์จำเป็นฉุกเฉิน การสงคราม เป็นต้น
3.กฎหมายแถมพ่วง คือเมื่อมีการกระทำความผิดต่อความมั่นคงเกิดขึ้น ก็มีกฎหมายเหล่านี้แถมเข้ามาเพื่อเพิ่มความผิดพ่วงเข้าไปอีกเช่น พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
เมื่อพูดถึงกฎหมายความมั่นคง จึงต้องมาดูนิยามกันก่อนว่า “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” คืออะไร คือการกระทำที่กระทบต่อรัฐจนรัฐดำรงอยู่ไม่ได้ ส่งผลให้ระบอบการปกครองในรัฐจะถูกเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง สร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งหมดนี้คือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ตัวอย่างง่ายๆ นักศึกษาที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลและใช้เสรีภาพในการปราศรัย มันทำให้ราชอาณาจักรไทยสูญสลายหรือไม่ เปลี่ยนระบอบการปกครองหรือไม่? แต่ทหารคณะหนึ่งอยู่ดีๆ เอารถถังออกมายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมูญทิ้งทั้งฉบับ อย่างนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ แต่ทำไมอันแรกโดนคดี อันหลังทำไมไม่โดนคดี? ดังนั้นทุกวันนี้ที่เราเห็นกันเป็นการใช้กฎหมายกันอย่างบิดเบือน
[ ม.116 มีปัญหาทั้งในทางตัวอักษรกฎหมายและการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ ]
- คนที่ถูกจับไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.116 กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล -
การเรียนกฎหมายอาญา คือ กฎหมายจำกัดเสรีภาพ มีบทลงโทษคน หรือเป็น “กฎหมายที่เอาคนไปติดคุก” ดังนั้นวิธีการใช้และตีความจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ห้ามตีความ ขยายความเพื่อเอาผิดคน หลักของกฎหมายอาญาถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดว่าผิดก็จะไม่ผิด ดังนั้นเวลาจะดูว่าอะไรผิดหรือไม่ ต้องแตกองค์ประกอบความผิด
เมื่อมาดูมาตรา 116 องค์ประกอบความผิดมีรายละเอียดว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด” องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีการแสดงออกเช่นนี้ก่อน ข้อที่สองเขาแสดงออกไปเพื่ออะไร กฎหมายระบุว่า “เพื่อเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย” ดังนั้นหมายความว่าสามารถแสดงออกให้เปลี่ยนกฎหมายหรือรัฐบาลได้ ถ้าหากไม่ได้เป็นการข่มขืนใจหรือประทุษร้ายผู้อื่น ต่อไปคือ “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ” ถ้าเป็นการปราศรัยพูดจาให้เร้าใจผู้คนแต่ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่สงบก็ไม่ผิด หรือสุดท้ายเป็นการยุแยงให้ผู้อื่นละเมิดกฎหมาย
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีองค์ประกอบข้อที่สามคือ “ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต” ตรงนี้เป็นเหตุยกเว้นไว้ว่าสามารถแสดงออกทั้งหมดเหล่านี้ได้ หากยังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและแสดงความเห็นโดยสุจริต ก็ถือว่าไม่ผิด เมื่อเราพูดถึง ม.116 หลายคนจะดูแค่ “ยุยงปลุกปั่น” แต่ถ้าเราไปเปิดกฏหมายดูเต็มๆ อ่าน ม.116 ให้ครบทุกบรรทัดจะเข้าใจว่าที่จับๆ ตั้งข้อหากันไป ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเลย กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับๆ ไปก่อน แล้วบอกว่าเดี๋ยวศาลบอกว่าไม่ผิดก็จบ แต่การดำเนินคดีแบบนี้มีต้นทุนมหาศาลโดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกดำเนินคดี
หลังการยึดอำนาจปี 2557 คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มขึ้นเยอะมากกว่า 20 คดี จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และล่าสุดนักศึกษาเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ โดน ม.116 กัน จนกลายเป็นว่าใครแสดงความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาชุดนี้ผิด ม.116 หมดเลย
คำถามต่อมาคือแล้วทำไมเจ้าหน้าที่ถึงเลือกใช้ ม.116 ก็เพราะโทษสูงถึง 7 ปีและอยู่ในหมวดความมั่นคง ในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่ต้องออกหมายเรียก สามารถออกหมายจับได้ทันที จับแล้วเอาไปส่งศาลให้ศาลควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน การขอประกันตัวยิ่งยากขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องความมั่นคง หลักทรัพย์ค้ำประกันก็สูงมาก นอกจากนี้เมื่อได้ประกันแล้วจะมีเงื่อนไข ในสมัย คสช. เลวร้ายกว่านี้อีก คือคดี ม.116 ของพลเรือนถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหาร และนำมาข่มขู่ให้ประชาชนกลัว ว่าถ้าไม่อยากโดน ม.116 ให้อยู่บ้านเฉยๆ
การบังคับใช้ ม.116 กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการ “กำจัด-จำกัดเสรีภาพ” ของคนที่แสดงออกตรงข้ามกับรัฐบาลอยู่เสมอ แต่ไม่เคยได้ใช้กับคนที่มายึดอำนาจหรือคนที่คอยยุแยงตะแครงรั่วให้มีการรัฐประหาร
-หน้าที่ของตำรวจไม่ใช่นายสั่งแล้วต้องทำ แต่คือการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม -
วิธีการของเจ้าหน้าที่คือเปิดลิ้นชักดูว่ามีกฎหมายอะไรในมือบ้างที่จะทำให้ประชาชนไม่ต้องแสดงออก จึงเกิดการใช้ข้อหาตั้งแต่ความสะอาด ใช้เครื่องขยายเสียงเกิน กีดขวางการจราจร ติดโปสเตอร์ผิดที่ แต่คดีเหล่านี้โทษหยุมหยิม เมื่อต้องการหาข้อหาที่โทษหนักๆ หวยจึงมาออกที่ ม.116
ที่จริงแล้วพนักงานสอบสวนเป็นด่านที่หนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เรื่องไหนที่ไม่เข้าองค์ประกอบก็ควรเตะออกไปเลย ถ้าพนักงานสอบสวนตัดออกไปได้ก็จะไม่มีเรื่องรกศาลเยอะแบบนี้ เพราะคดีแต่ละคดีมีต้นทุนต่อประชาชนสูงมาก
“ผมขอเรียกร้องให้พี่น้องตำรวจและพนักงานสอบสวน หากย้อนเวลาไปเมื่อท่านศึกษาวิชาในคณะนิติศาสตร์ ท่านเรียนเรื่องนี้มาอย่างไร ถ้าเรื่องนี้เป็นข้อสอบให้ท่านตอบว่าที่ นักศึกษา ทนายอานนท์ ไมค์ ปราศรัยนั้น ผิดตามความผิด ม.116 หรือไม่ ถ้าท่านตอบใช่ รับรองสอบตกแน่นอน ทำไมท่านไม่เอาวิญญาณความเป็นนักกฎหมายมาใช้ ทำไมเลือกรับใช้นาย นายบอกให้ทำก็ต้องทำ หน้าที่ของพนักงานสอบสวนคือใช้กฎหมายใช้ดุลพินิจโดยชอบ มิใช่ทำตามที่นายสั่ง หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐคือใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เพราะทุกบางทุกสตางค์ที่ท่านได้รับเงินเดือนอยู่คือภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของเจ้านายท่าน” ปิยบุตร กล่าว
- ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีตำรวจทหารมาจับใครเข้าคุก สุดท้ายมติมหาชนจะตัดสินเอง -
กฎหมายที่ประเทศไทยเขียน หลายอย่างก็ไปลอกจากต่างประเทศมา ข้อหายุยงปลุกปั่นเช่นนี้ในประเทศอื่นแก้ไขกันไปหมดแล้ว แต่ประเทศไทยยังใช้อยู่ เมื่อคลื่นลมแห่งประชาธิปไตยเบ่งบานไปทั่วโลก รัฐเคารพเสรีภาพในการแสดงออก บางประเทศยอมแม้กระทั่งให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองโดยไม่มีการเอาผิด เพราะเขาเชื่อว่าหากเสรีภาพเกิดขึ้น พูดไปหากคนส่วนมากไม่เห็นด้วยพูดอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ ปล่อยให้ทุกคนแสดงออกได้ อดทนอดกลั้น ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีตำรวจทหารมาจับใครเข้าคุก สุดท้ายมติมหาชนจะตัดสินเองว่าอะไรเป็นอะไร
สำหรับแนวทางการแก้ไข ม.116 ที่เสนอกันเพื่อให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่ยอมรับว่าคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็มีข้อเสนอให้ปรับถ้อยคำให้รัดกุมมากขึ้น ให้ลดโทษลงเพราะโทษ 7 ปีสูงเกินไป นอกจากนี้ถ้าไปดูตัวอย่างหลายประเทศเขากำหนดว่าความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกไม่มีความผิดทางอาญาอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่ได้กระทบต่อคุณธรรมทางกฎหมายเหมือนการฆาตกรรมหรือขโมยของ แต่ยังมีโทษทางแพ่งอยู่ จึงมึอีกข้อเสนอหนึ่งให้ลดโทษทางอาญาหรือยกเลิกโทษอาญาออกไปเลย
ชมคลิปการอภิปรายของ ปิยบุตร ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=EcX2nO3SWRw