เหตุการณ์ที่ผ่านมาสองวัน แต่ยังไม่ผ่านไป จัดได้ว่าเป็น ‘Shock and Awe’ ทางการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร
แม้น ‘เจ้าตัว’ จะออกมายืนยันแล้วว่า
“คนเราเกิดมาเลือกสถานที่เกิด
เลือกครอบครัว เลือกพ่อแม่-ญาติพี่น้องไม่ได้
แต่เลือกเส้นทางเดินของชีวิตของตนเองต่อไปภายหน้าได้”
ทว่าผลร้ายกำลังไปลงที่พรรคไทยรักษาชาติถ่ายเดียว
จากที่มีการโวยวายบางสายทางให้ กกต.ยุบพรรค หรือให้ถอนตัวจากการแข่งขัน “ก่อนที่ (อาจจะ)
โดนยุบพรรคอย่างเป็นทางการ หรืออาจจะไม่โดนยุบพรรคก็ได้”
มิฉะนั้น “พวกท่าน...จะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่สง่างามในสายตาของประชาชน
คนทั้งประเทศครับ” ม.จ.จุลเจิม Yugala เขียนไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขา
อีกราย นักพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ศรีสุวรรณ จรรยา “นำความพร้อมหลักฐานไปเป็นต้นเรื่องแจ้งต่อ
กกต. เพื่อให้วินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ...ขัดต่อกฎหมาย
และระเบียบการหาเสียงของ กกต. ข้อ ๑๗”
ทั้งนี้ศรีสุวรรณอ้างเหตุจากพระบรมราชโองการฯ
ที่ให้เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดอยู่เหนือการเมือง จึงถือการเสนอชื่อโดยพรรค ทษช. “เป็นการเสนอผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือ
มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๓ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๔(๒)
ของ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง”
ศรีสุวรรณจะยื่นคำร้องในวันจันทร์นี้ (๑๑ ก.พ.) ให้ กกต. “นำกรณีดังกล่าวเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อไป”
จะว่า ‘ทูลกระหม่อมหญิง’ มิได้สะทกสะเทือนอย่างใด
ก็ไม่เชิง ในเมื่อกระบวนคนเกลียด ‘ทักษิณ’ และ/หรือ พวกต่อต้านระบอบทักษิณสุดลิ่มทิ่มประตู อย่างแก้วสรร อติโพธิ
และเสริมสุข
กษิติประดิษฐ์ หาญกล้าไปไกลยิ่งกว่า
ต่างโพสต์และแชร์ข้อความทางเฟชบุ๊คเจาะจง ‘ทูลกระหม่อมหญิง’ กันว่า “ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนักโทษหนีคดี ทักษิณ ชินวัตร
ให้การสนับสนุนพรรค ท.ษ.ช. จะมีการทบทวนบทบาทการทำงานในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรหรือไม่
รวมถึงการใช้เงินหลวงในโครงการ To be number one การทำหน้าที่เป็นตัวแทนราชวงศ์ และการใช้งบประมาณแผ่นดิน” เสริมสุขนั้นดูจะรู้ลึกเรื่องพระบรมราชโองการก่อนที่จะออกมา
จึงได้เขียนข้อความถึง ‘ทูลกระหม่อมหญิง’ เช่นกันว่า
“เลือกเส้นทางเดินเยี่ยงนี้เอง
จะต้องยอมรับผลกรรมจากการกระทำของตัวเอง ที่จะเกิดตามมาอย่างแน่นอนในระยะเวลาอันใกล้
รอฟังประกาศจากสำนักพระราชวัง”
ผู้ชำนัญ นักวิจารณ์ นักวิเคราะห์ เสนอข้อคิดชี้แนะ คาดคะเน
กันไว้หลายรายว่าจะต่อไปอย่างไร ลองมาดูกันสักสองท่าน
เริ่มที่ Atukkit
Sawangsuk ซึ่ง ‘critical’ วิจารณ์หนักมาก
เขาประเมินความเสียหายว่ากระแสจะพลิกจาก ‘ไม่เอาตู่’ กลายเป็น ‘ไม่เอาแม้ว’
“ไม่ได้บอกว่ากระแสต้านตู่จะพังนะครับ
แต่มันจะกระจายไปอยู่ในพลังสังคมฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่เพื่อไทยเป็นแกนนำอีกแล้ว” เขาเอ่ยถึงพรรคอนาคตใหม่ว่าจะเป็นที่พักพิงได้ไม่มากนัก
เพราะส่งผู้สมัครน้อย (แต่เขาไม่ได้แตะถึงกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประกาศว่าจะไม่โหวตให้ผู้เข้าชิงนายกฯ ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.)
กระนั้นอธึกกิตยอมรับว่า “ไม่คิดว่าอารมณ์สังคมที่ต่อต้านจะร้อนแรงกว้างขวางเพียงนี้
อันนี้ไม่ได้พูดถึงสลิ่ม หรือฝั่งประชาธิปไตยเอง แต่คนตรงกลางๆ ที่ไม่เห็นด้วย
เห็นว่าไม่เหมาะสม ก็มีจำนวนมาก”
ด้าน Thanapol Eawsakul กลับเห็นต่าง “คนจะเลือกพรรคเพื่อไทยลดลงหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ ดีเสียอีก
การที่อุบลรัตน์ไม่อยู่จะโปรโมทชัชชาติได้มากขึ้นถ้าอยากชนะถล่มทลาย
หรือสุดารัตน์ก็ยังขายได้” แม้แต่ ทษช. เขาก็ไม่คิดว่าจะเสียงตก
ปัญหามีแต่ภายในสองพรรคระบอบทักษิณ “อยู่ที่ทักษิณจะจัดการกับความรู้สึกคนในพรรคอย่างไร
เพราะทักษิณมองพวกเขาเป็นเพียงแค่เบี้ยทางการเมืองเท่านั้น” ถ้างั้น “จะทำให้เสียงโหวต
สวิงกับมาหนุน คณะรัฐประหาร หรือพรรคอย่างประชาธิปัตย์”
ธนาพลบอก “ไม่น่าจะจริง” เขาให้ดูจากเลือกตั้งปี ๕๔
ทั้งที่มี ‘ภูมิพลคอนเซนซัส’ คุ้มหัวอยู่ “พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ชนะพรรคเพื่อไทยเลย”
และพรรคอนาคตใหม่ก็เช่นกัน “อาจจะมีบ้างแต่ยังไม่ถึงกับถล่มทลาย”
ยิ่งประชารัฐยิ่งไม่มีหวัง เพราะพวกเกลียดทักษิณจะไปหา
ปชป.มากกว่า แต่ ปชป.เองก็บ้อท่าเสียแล้ว นายชวน หลีกภัย
หาเสียงภาคใต้ว่าทักษิณเคยกีดกันงบประมาณลงพื้นที่ แต่ตลอดยุค คสช. ราคายางตกเอาๆ
ปชป.ไม่มีปัญญาช่วย คนใต้ไม่เอา ปชป.เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ฉะนั้น ทษช.อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
ถ้าไม่โดนยุบพรรคเสียก่อน ประเด็นอยู่ที่ กกต.จะตัดสินอย่างไร ในเมื่อ มาตรา ๑๓
ของ #กฎหมายเลือกตั้ง
บอกว่าเมื่อเสนอชื่อผู้ใดเป็นว่าที่นายกฯ แล้ว พรรคการเมืองจะถอนไม่ได้
บุคคลนั้นก็จะถอนตัวเองก็ไม่ได้ เว้นแต่ขาดคุณสมบัติ และต้องถอนก่อนปิดรับสมัคร” (วันที่
๘ ก.พ.)
หากจะน้อมรับตามพระบรมราชโองการ
ว่ามีข้อห้ามจากสำนักพระราชวัง แต่ข้อห้ามเกิดที่หลังการกระทำ (ยื่นชื่อ)
จะตีความตามธงได้อย่างไร ยิ่งประเด็นที่ร้องให้ยุบพรรค ทษช. ยิ่งน่าคิดว่าจะใช้หลักอะไรเอาผิด
ในเมื่อคำร้องยื่นผู้เสนอตัวเขียนด้วยลายมือเจ้าตัวเอง แสดงเจตจำนงชัดแจ้ง
แต่ก็นั่นแหละ ‘กะลาแลนด์’ สี่ห้าปีที่ผ่านมาความยุติธรรมมักลำเอียง
เขียนกฎหมายให้คนสั่งได้เปรียบ ในเมื่อรู้ตัวว่ามีแต่คนก่นด่า ถ้าไม่ตัดกำลังคู่แข่งด้วยการหาเรื่องยุบพรรค
แล้วจะเอาชนะในการเลือกตั้งได้อย่างไร