วันพุธ, กุมภาพันธ์ 27, 2562

พรบ.ไซเบอร์ จะเป็นอาวุธ คสช. ครองเมืองต่อไปหลังเลือกตั้ง


บ้างว่า สนช.มีแผนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงดจิทัลอย่างรัวๆ ๑๐+๓ ฉบับ ตั้งแต่ต้นปี ๕๘ มาแล้ว ถึงตอนนี้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีสองฉบับสำคัญที่ต้องเร่งอนุมัติให้ทันก่อนหมดอายุขัย ก็คือกฎหมายเกี่ยวกับโรงงาน กับ กม.ความมั่นคงไซเบอร์

ส่วนกฎหมายพันธุ์ข้าวพับไปเมื่อวานนี้ ตามข้ออ้างของ สนช.คนดังรายหนึ่ง กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่ว่า  “ตนได้หารือกับทีมงานแล้ว เห็นว่าเมื่อสังคมยังไม่สบายใจ ไม่เข้าใจในตัวร่าง พ.ร.บ.ข้าว อาจเกิดเหตุเข้าใจผิด จึงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างไม่มีกำหนด”

กับที่ยกข้ออ้างว่า “ผ่านก็มีปัญหาไม่ผ่านก็มีปัญหา...เมื่อยังไม่เข้าใจก็ขอยุติดีกว่า” น่าจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง เพราะในบรรดาคนที่ค้านส่วนหนึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐ จากการพูดหาเสียงของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์เมื่อสองสามวันก่อน ย่อมแสดงว่า คสช. ถอดใจ

พอมาถึง พรบ.โรงงาน ผ่านฉลุย ๑๔๒ เสียงรูด โดยหัวหน้า คสช. ไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อ สนช.ที่โหวตให้ร่างฯ นี้ ประยุทธ์ถึงกับเอามาบ่นอกสื่อว่าขืนเปิด อันตรายไม่รู้ว่าอันตรายอย่างไร จะเหมือนกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววณ ไม่ยอมเปิดเผยชื่อกรรมการสรรหา สว. ไหมนี่
 
กระนั้นก็ดี รายชื่อกรรมการสรรหาร่วมคณะเฮียป้อมหลุดออกมาแล้ว ๖ นาย เต็มไปด้วยนายพลจากขุมกำลังรัฐประหาร เช่น พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพ้ฒนาศัย พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

อีกสองคนพลเรือนแต่เป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจทางกฎหมาย ชนิดที่ยึดยาวอย่างน้อยๆ ๒๕ ปี ได้แก่ วิษณุ เครืองาม และ มีชัย ฤชุพันธุ์ รายหลังนี่หมู่นี้ทำออดอ้อนตอนใกล้จะเปลี่ยนผ่านจากการเลือกตั้ง ไปพูดในงานเสวนาที่บางกรวยว่า

“ตนเป็นคนที่เคราะห์ร้ายที่สุด เพราะเข้ามาทำหน้าที่ออกแบบให้กับกติกาบ้านเมืองในระยะเวลาที่ความคิดเห็นแตกต่าง ยากที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ” เขาเปรยว่าที่เขียนรัฐธรรมนูญให้มีปฏิรูประบบราชการ “แต่ไม่ได้พูดถึงเราจะต้องปฏิรูปทัศนคติของข้าราชการ”


กฎหมายอีกฉบับที่ สนช.เร่งเสกออกมาให้ประยุทธ์เก็บไปใช้ตอนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คือ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ภาคประชาชนรวมตัวกันต้านอย่างหนักหน่วง ดังที่ ‘thapanee ietsrichai @thapanee3miti’ รายงานไว้

งานรวมพลเครือข่ายภาคประชาชน นักศึกษา ชาวนา กรรมกรพร้อมกัน #หน้าวัดเบญจมบพิตร (เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อ ๒๗ กุมภา) เพื่อเรียกร้องให้ สนช. ยุติกระบวนการปั๊มกฎหมาย ปล่อยให้รัฐบาลหน้าทำบ้างได้แล้ว ก็เจอกับกำลังตำรวจสองกองร้อยจัดแถวยืนเผชิญหน้า
 
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่วิพากษ์ต่อเนื่องกันมานมนานแล้วว่าริดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ดังสรุปของนักรบไซเบอร์ผู้หนึ่งว่าไว้จังๆ “#พรบไซเบอร์ ถูกเขียนโดยคนไม่กี่คนและถามความเห็นจากคนไม่กี่คนในสภา แล้วอ้างว่าที่ทำไปเพื่อความมั่นคงของชาติ

“ซึ่งจริงๆ แล้วทำไปเพราะระแวง กลัวการวิจารณ์และการเห็นต่างของประชาชน และพยายามจะปิดหูปิดตาประชาชนให้อยู่แต่ในกะลา” นั่นต่างหาก ซึ่งย้อนไปเมื่อต้นปี ๕๘ ประยุทธ์เคยออกอาการ ฉุนเมื่อถูกสื่อถามถึงเหตุผล

ตอนนั้นประยุทธ์พูดย้อนร้อนแรงว่า “จะผ่าน แล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกฯไปทำไม” ตอนนี้ไม่พูดแรงเท่าตอนนั้น แต่หนักกว่าในลักษณะของการวางอำนาจ และอ้างอาญาสิทธิ์อย่างน้ำขุ่นๆ ต่อกรณีการแต่งตั้ง สว. ๒๐๐ คน บวกกับที่เลือกจากรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการคัดสรรอีก ๕๐ คน

ดังที่มีเสียงตำหนิว่า “คสช.เลือก สว.เพื่อกลับมาเลือก คสช. เป็นนายกฯ” นั้นประยุทธ์อ้างประชาชน ๑๖ ล้านโหวตเห็นชอบรัฐธรรมนูญมา ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วละ


แต่ระหว่างกระบวนการโหวตประชามติ คสช. จำกัดสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบท ชมไม่เป็นไร ถ้าติโดนจับไปปรับทัศนคติ เช่นนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรกัน