ภาพแพร่หลายในอินเทอร์เน็ท
...
เสียงสะท้อน เพลงหนักแผ่นดิน…ได้เวลาต้องคิดเรื่อง”ปฏิรูปกองทัพ”อย่างจริงจังแล้ว!!
18 กุมภาพันธ์ 2562
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
มติชนออนไลน์
ดูเหมือนยิ่งใกล้การเลือกตั้งมากเท่าใด ความไม่แน่นอนในการเมืองไทยก็มีมากขึ้นเท่านั้น จนเหลือระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนก็จะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม แต่ไปที่ไหนกลับมีคำถามที่ค้างคาใจผู้คนทั้งหลายว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่
ต้องยอมรับว่าบรรยากาศของความไม่แน่นอนและไม่แน่ใจเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะอย่างน้อยย้อนกลับสู่หลังรัฐประหารครั้งก่อนๆ เมื่อมีกำหนดการเลือกตั้งด้วยการออกกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวแล้ว แทบจะไม่มีคำถามเลยว่า การเลือกตั้งจะมีจริงหรือไม่ และจะมีรัฐประหารก่อนเลือกตั้งหรือไม่!
แต่คำถามนี้กลับลอยอยู่ในใจของผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมไทย…
ในอีกด้านหนึ่งเมื่อใกล้เวลาเลือกตั้ง ก็คงเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองต่างๆจะเปิดการรณรงค์หาเสียงด้วยการเสนอนโยบายให้แก่สังคม การหาเสียงจึงเป็นดังการ”ขายตรง”ระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายกับประชาชนในฐานะผู้ออกเสียง และแน่นอนว่า การหาเสียงที่มีลักษณะของการแข่งขันทางการเมืองย่อมจะมีความเข้มข้นในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแต่ละพรรคย่อมต้องสร้างจุดเด่นเพื่อให้สินค้า(ในความหมายของตัวนโยบาย)ให้ถูกใจ…โดนใจผู้ซื้อที่เป็นประชาชน
การแข่งขันเช่นนี้ต้องถือเป็นด้านบวกของการเมืองไทย เพราะจะทำให้”ตลาดการเมือง”ของไทย ขายสินค้าที่เป็นนโยบายมากกว่าการนำเสนอตัวบุคคล หรืออาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันในมิติดังกล่าวจะเป็นการยกระดับด้วยการทำให้การต่อสู้ของพรรคการเมืองไทยเป็นเรื่องเชิงนโยบายมากขึ้น
แต่นโยบายชุดหนึ่งที่เสนอขายแล้ว อาจจะถูกใจผู้ซื้อที่เป็นประชาชน แต่ดูจะไม่ถูกใจ”เจ้าของเรื่อง” คือ นโยบายการปฏิรูปกองทัพ ที่วันนี้หลายพรรคเริ่มออกมานำเสนอนโยบายดังกล่าวให้สังคมได้เห็นทิศทางของพรรคตน และคงต้องยอมรับว่าการนำเสนอเรื่องนี้ออกจะถูกใจผู้คนในตลาดการเมืองไทยอย่างมาก เช่น ปัญหางบประมาณทหารที่ควรจะต้องลด ปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ควรจะต้องหยุด หรือปัญหาการเกณฑ์ทหารที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยน เป็นต้น
ในขณะที่”เสียงตอบรับ”กับการเสนอขายนโยบายปฏิรูปกองทัพที่มีมากขึ้นในสังคมนั้น กลับเห็นชัดเจนว่า”เสียงตอบปฏิเสธ”จากผู้นำกองทัพสายอนุรักษนิยมบางส่วน จนถึงขนาดทนไม่ได้กับเนื้อหาของนโยบาย ด้วยการไล่ผู้สมัครของพรรคการเมือง”ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน” ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวเด่นของวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ และกลายเป็น”ประเด็นร้อน”ในการเมืองไทยทันที
การกล่าวถึง”เพลงหนักแผ่นดิน”เช่นนี้ ตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการส่งสัญญาณถึงการ”ข่มขู่”ทางการเมือง เพราะเพลงนี้ผู้นำทหารจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพลงนี้คือสัญลักษณ์ของการสังหารหมู่ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519… หรือว่าการเอาเพลงนี้ขึ้นมาคือการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง
แต่เสียงไล่ตะเพิดเช่นนี้กำลังสะท้อนเรื่องใหญ่ในการเมืองไทยที่จะต้องคิดทบทวนอย่างจริงจังใน 5 ประเด็น ดังนี้
1) ปัญหารัฐซ้อนรัฐ: กองทัพไทยเป็นองค์กรที่มีอำนาจอิสระในการเมืองไทย หรือมีสถานะเป็น”รัฐซ้อนรัฐ” การแสดงออกของผู้นำกองทัพเช่นที่เกิดขึ้นคือการบ่งชี้ว่า กองทัพคือองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการเมืองไทย และอำนาจทางการเมืองของกองทัพปรากฏชัดอยู่ในทุกบริบทของกระบวนการเมือง ไม่ใช่เพียงแต่ในทางการเมืองเท่านั้น
2) ปัญหาวินัยทหารในทางการเมือง: คำถามสำคัญประการหนึ่งของวินัยทหารในประเด็นนี้ได้แก่ ผู้นำกองทัพควรแสดงออกทางการเมืองได้เพียงใด มิใยต้องกล่าวเปรียบเทียบว่า การแสดงออกเช่นที่เกิดในสังคมไทยเป็นสิ่งไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในอดีตของการเมืองโลกมีแต่เพียงกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น ที่ผู้นำทหารสามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่มีขีดจำกัด และการแสดงออกเช่นนี้ไม่ถือเป็นความผิดในวินัยทหาร
3) ปัญหาสภาวะการไร้ความเป็นวิชาชีพทางทหาร: การมีบทบาทอย่างยาวนานในการเมืองไทยส่งผลให้นายทหารรุ่นหลังเติบโตขึ้นมาด้วยจินตนาการที่เชื่อว่า ทหารไทยเป็น”ทหารการเมือง”ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะการเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร ประเทศชาติจึงจะปลอดภัย ความรู้สึกในแบบของกองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการสร้าง”ทหารอาชีพ” จึงมักจะถูกโต้แย้งว่าสิ่งนั้นเป็นบริบทของกองทัพตะวันตกไม่ใช่กองทัพไทย และกองทัพไม่จำเป็นต้องเดินไปบนเส้นทางดังกล่าว
4) ปัญหาความอ่อนแอทางการเมืองของพลเรือน: ความอ่อนแอเช่นนี้ทำให้การเมืองภาคพลเรือนหรือภาคประชาสังคมไม่มีแรงพอที่จะต้านทานการขยายบทบาทของกองทัพได้ และความอ่อนแอเช่นนี้จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง”ทหารการเมือง” หรือทำให้ภารกิจของทหารกลายเป็นภารกิจทางการเมือง และที่สำคัญคือทำให้กองทัพไทยกลายเป็นองค์กรการเมืองในตัวเอง จนผู้นำกองทัพขาดความตระหนักรู้ถึงภารกิจที่แท้จริงของความเป็นกองทัพ
5) ปัญหาการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม: กลุ่มปีกขวาในการเมืองไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการยึดอำนาจของผู้นำทหาร ผู้คนในสังกัดชุดความคิดนี้มักจะมีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตย โดยนัยคือต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านพรรคการเมือง ต่อต้านนักการเมือง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กลุ่มเหล่านี้จะให้การสนับสนุนผู้นำกองทัพในการมีบทบาททางการเมือง และจะแสดงออกด้วยความพึงพอใจเสมอต่อการต่อต้านประชาธิปไตยของผู้นำทหาร หรืออาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า กลุ่มอนุรักษนิยมไทยไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้ในสนามเลือกตั้งเช่นกลุ่มปีกขวาในโลกตะวันตกปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องอาศัยรัฐประหารเป็นเครื่องมือ
แน่นอนว่าปัญหา 5 ประการเช่นนี้ไม่สามารถทำลายลงได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญประการหนึ่ง(ย้ำว่าประการหนึ่ง) ในการสร้างกองทัพไทยให้เป็นกองทัพในมาตรฐานสากล(ในแบบที่ควรจะเป็น) มิใช่กองทัพที่ดำรงบทบาทเป็นจักรกลของการรัฐประหาร และเครื่องมือของการทำลายล้างทางการเมือง
แม้วันนี้การเดินหน้าสู่การเลือกตั้งยังคงเป็นความอึมครึม และไม่มีความชัดเจนอันเป็นผลจากการแสดงออกของผู้นำทหารก็ตาม แต่การแสดงออกเช่นนี้กำลังตอกย้ำอย่างมีนัยสำคัญว่า ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพไทยอย่างจริงจัง และก็น่าจะได้เวลาที่จะต้องคิดเรื่องการสร้างทหารอาชีพของกองทัพไทยอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่จะต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่มีกองทัพเป็น”ทหารประชาธิปไตย”คู่ขนานด้วย
การแสดงออกของผู้นำกองทัพบกในครั้งนี้ คือสัญญาณที่ดียิ่งสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยที่จะต้องทำให้การปฏิรูปกองทัพเป็น”วาระแห่งชาติ”ในการเมืองไทยในอนาคต!