“ผมว่าเราไม่แพ้ครับ” อานนท์ นำภา
ประกาศกล้าทางเฟชบุ๊คเมื่อวาน (๒๓ ก.พ.) “กระแสนิยมคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตใหม่กำลังมา
ในขณะที่ต่างจังหวัดเสื้อแดงยังเหนียวแน่น” ทนายน้อยมั่นใจในเหตุผลที่ว่า
“ทุกรายการดีเบทกำลังรุมกระทืบเผด็จการทหารผ่านฟรีทีวี
ไม่เว้นแม้แต่ ปชป. ยังเอาด้วย” เขาคงหมายถึงการดีเบททางทีวีช่อง ๗ เมื่อ ๒๑ ก.พ.
ที่มี วีระ ธีรภัทร และ อรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประมาณใกล้จะถึงนาฑีที่ ๙ วีระถาม
กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐว่า พปชร.มีต้นทุน สว. ๒๕๐ คนไว้โหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรีแล้วใช่ไหม
กอบศักดิ์ไม่ตอบตรงๆ แต่เลี่ยงไปว่า
“ผมบอกเลยครับว่า
ที่เขาชอบพูดกันในหนังสือพิมพ์หรือการ์ตูน มี ๑๒๖ คนบวก ๒๕๐ คน เลือกนายกฯ ได้ ถ้ารัฐบาลมี ส.ส. แค่ ๑๒๖ คน แค่เสนอนโยบายก็ไม่ผ่านแล้ว”
ซึ่งวีระย้ำอีกว่าคำถามคือ มีสำรอง ๒๕๐ อยุ่ในสต็อคแล้วน่ะจริงไหม
คำตอบต่อไปของกอบศักดิ์กลายเป็นมุขตลกทำให้ผู้ร่วมดีเบทอีกสามคนต่างกลั้นยิ้มและหัวเราะกันไว้ไม่อยู่
“ผมไม่คิดว่าตรงนั้นมีประเด็นสำคัญ” กลายเป็นการ ‘ถามไม่ตรงคำตอบ’ ไปเสียฉิบ
ท่ามกลางเทร็นด์การเมือง ‘ออนไลน์’ วันนี้ ที่เหเข้าหาเรื่องโภชนาการ มีการแท็ก การแชร์ สโลแกน “ไมโลไม่กิน
โอวัลตินไม่แดก” กันชักจะเกร่อ ตามมาด้วยภาพ “ราดน้ำข้าวหมูแดงที่วงเวียนใหญ่” ก็ถูกเอามาประโคมด้วยเหมือนกัน
จะบอกว่าความเอือมระอาต่อการเอาเปรียบต่อการดึงดันอย่างด้านๆ
ของ คสช.และลิ่วล้อ
เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผงซักฟอกขาวทางการเมืองให้แก่การครองอำนาจต่อไปของ
คสช. ได้แผ่สร้านไปแล้วเกือบทุกหัวระแหง
ดูอย่าง ไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำอีสาน ‘กู้ชาติ’
กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ
ที่เมื่อไม่นานมานี้เองเคยวิจารณ์การบังเกิดของพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็น “พวก NGOs หัวสี่เหลี่ยม” (ดู https://www.thaipost.net/main/detail/22513)
อุตส่าห์พยายามไล่ทวี้ตสิบกว่าครั้ง
เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการที่พลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
นั้นผิดทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ
ด้วยข้อหาประยุทธ์เป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับการเป็นแคนดิเดท
เหตุผลหลักของเขาก็คือ
ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน
มีฐานะเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ตาม พรบ.ศาลปกครอง มาตรา ๓(๒) และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๔๓ ที่ รธน.ห้ามไว้ในมาตรา ๑๖๐(๖) โดยลักษณะต้องห้ามดังกล่าวระบุอยู่ใน ม.๙๘
ไทกรบอกว่า “กกต. อย่ามาถามหาหลักฐาน
หรือแถลงว่าไม่ปรากฏหลักฐานในเรื่องการเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ”
ของประยุทธ์ “เพราะหลักฐานปรากฎอยู่อย่างทนโท่
นอกจากพวกท่านจงใจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จึงไม่ยอมวินิจฉัยเรื่องนี้โดยเร็ว”
นั่นก็เป็นข้อกล่าวหาน่าคิดอย่างยิ่งต่อ กกต. หากการร้องเรียนต่างๆ
ไปจุดติดเอาตอนเลือกตั้งเสร็จแล้ว พรรคพลังประชารัฐและพวกได้จำนวน
ส.ส.รวมกันไม่ถึงร้อย จะกลายเป็นเหตุแผ่นดินไหวกระดานโคลงเคลง
จนต้องมีการตั้งรัฐบาลสไตล์ ‘ราบ ๑๑’ อีก
ดังที่ พงษ์เทพ เทพกาญจนา
เหน็บไว้ในการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เกาะหลัก ประจวบคีรีขันธุ์ ว่า “มีพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคเป็นพรรค
‘อีแอบ’ ต้องการหนุนการสืบทอดอำนาจ
ไม่กล้าหาเสียงบอกว่าจะหนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะกลัวประชาชนไม่เลือก
ทั้งที่วางแผนเพื่อต้องการจะไปเข้าร่วมรัฐบาล”
(ดูรายละเอียดคำปราศรัยที่ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_172993)
ทางด้าน กกต.นั้นเองเล่า ก็ออกอาการอย่างว่าเสียด้วย
ยื้อเวลาที่จะให้ประยุทธ์ยังเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของพลังประชารัฐต่อไป
ขณะที่ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. สร้างค่าให้กับตนเองรอไว้รองรับเมื่อการสถาปนาสืบเนื่องอำนาจมาถึง
นายแสวง บุญมี รองเลขาฯ กกต. เลี่ยงที่จะตอบข้อซักถามเกี่ยวกับคดียุบพรรคการเมืองว่าไม่เห็นเอกสารคำร้อง
แต่เรื่องคำร้องคัดค้านการเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของประยุทธ์นั้น แค่ยังอยู่ในขั้นพิจารณาของ
กกต. ไม่แจ้งความคืบหน้าอย่างใด
อีกทั้งข้อกล่าวหา “ทหารนั่นละตัวดีที่โกง” กับ “คสช.ไม่แยแสภาคประชาชน”
มีตัวอย่างผุดออกมาไม่เว้นแต่ละวัน ขนาดข่าว ‘สปริงนิวส์’ ยังกล้าแฉว่า พลเอก (อารียะ อุโฆษกิจ)
“อดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ รุกป่าเพชรบูรณ์”
ขณะที่วันเดียวกัน พลิกปมข่าว ThaiPBS รายงานว่า “สนช. #ผ่านฉลุย ร่่าง พ.ร.บ. โรงงาน เมินเสียงคัดค้านภาคประชาชน...ที่ให้คำนึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะตามมาจนเกินเยียวยา”
โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า ‘โรงงาน’ ใน พรบ.ฉบับใหม่
“ซึ่งจะทำให้อาคาร สถานที่
หรือพาหนะที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า ๕๐ แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า ๕๐
คนลงไป #ไม่เข้าข่าย การควบคุมของ พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่”
อันเป็นทางให้เกิดการลักลอบทิ้งของเสีย
และสร้างอาคารโรงงานที่ลุกล้ำและก่อความเสียหายแก่ชุมชน