มัวแต่ใส่ใจ ‘ซิงเกิ้ล’ เก่าเอามาโปรโมทใหม่
‘หนักแผ่นดิน’
ที่มีคนบอกว่าฟาดเข้าไปร้อยล้านแล้วขั้นทดลองจ่ายให้อำนาจ ผบ.ทบ.
ไม่นับรายได้ส่วนตัวขณะนี้ ยืนยันได้ว่าหนัก (งบประมาณ) แผ่นดิน ในระดับต้นๆ
(นอกจากเงินเดือน ผบ.ทบ. แสนสอง เงินเดือน คสช. หย่อนหน่อยแต่ก็เกือบแสนสอง
เงินเดือน สนช. อีกแสนกว่า บวกเบี้ยประชุมยุทธศาสตร์ชาติครั้งละ ๖ พัน แถมเงินตอบแทนจากกองสลากแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการเท่าไหร่ไม่รู้
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มีรายได้ปกติเหยียบๆ สี่แสน)
ผู้คนเลยอาจไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรกับรายการประเคนให้ คสช.ตามต้องการ
ที่ สนช. เร่งมือ ‘ผ่าน’ ตอนตีนปลายอยู่ขณะนี้
คือ พรบ.ข้าวที่เข้าสู่การพิจารณาในวาระ ๒ ของ สนช.วันนี้ (๒๐ กุมภา) และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงมาเกือบอาทิตย์แล้ว
โดยเฉพาะในประเด็นที่จะทำให้ชาวนาไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในปีต่อไปได้
หากไม่จดทะเบียนตามระเบียบของกรมการข้าว ไม่เช่นนั้นจะมีโทษจำคุก ๑ ปี
และปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
เรื่องนี้ถูกเปิดประเด็นตั้งแต่วันที่ ๑๐ ก.พ.โดยนักวิจัย ‘ทีดีอาร์ไอ’ ที่กล่าวถึงร่างฯ มาตรา ๒๗ และ ๓๔
ซึ่งนอกจากจะให้อำนาจรับรองการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อกระทรวงเกษตรฯ
ผ่านกรมการข้าว
“และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายใน” ซึ่ง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ชี้ว่า “การให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับ
(การทำมาหากิน) ของเจ้าหน้าที่”
เป็นเหตุให้รัฐบาล คสช. ผ่านทางรองโฆษกสำนักนายกฯ ออกมาแก้ต่างพร้อมทั้งขู่ว่า
ข้อมูลที่แชร์กันแพร่หลายไม่ถูกต้อง “ผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน
อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย”
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค ชี้แจงกรณีที่เป็นข่าว พรบ.ข้าวกำหนดความผิดชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้
“และยังเป็นกฎหมายที่เอื้อนายทุนด้วยนั้น” รองโฆษกฯ อ้างถึงบางเพจที่โวยเรื่องคุก
๕ ปี ปรับ ๕ แสน “รัฐบาลขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง”
ถึงอย่างนั้นก็ได้มีนักแสดงตลก (ป๋องแป๋ง มกจ๊ก) อัดคลิปครวญเพลงโอดเรื่องทุกข์ยากของชาวนา
ที่มาถูกซ้ำเติมด้วย พรบ.ข้าว ออกแพร่หลายเกลื่อนแล้ว
มิใยรัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์ จะออกมาย้ำข้อแก้ตัวตามแถลงของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า
กระทรวงได้ทำการปรับแก้ร่างเดิมที่ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว “กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น
และเสนอความเห็นที่ควรปรับแก้ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว
ซึ่งในร่างฉบับที่จะเสนอสนช.
พิจารณาในวันที่ ๒๐
ก.พ. นี้
ได้มีการแก้ไขตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอขอแก้เป็นส่วนใหญ่แล้วค่ะ” แก้อย่างไร
รมช. ชุติมา
บุณยประภัศร ไม่ได้ลงรายละเอียด จึงต้องหันไปหานักวิชาการเศรษฐศาสตร์
ม.เกษตรฯ
อจ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย “ขอเคลียร์เรื่อง
ร่าง พ.ร.บ. ข้าว จากร่างที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มาตราที่ห้ามมิให้คนที่ไม่มีใบรับรองพันธุ์ข้าวขายเมล็ดพันธุ์ข้าวคือ
มาตรา ๒๖ (ตอนนี้ขยับเป็นมาตรา ๒๗ แล้ว)
มาตรานี้มีโทษจำคุก (ไม่เกินสองปี) และโทษปรับจริงตามที่เป็นข่าว
(ระบุไว้ในมาตรา ๓๔) อย่างไรก็ดี มาตรานี้มีข้อยกเว้นไว้สำหรับ
“ชาวนาที่ขายและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากที่นาที่เป็นของตนเอง”
แปลว่า ชาวนาถ้าปลูกข้าวในที่ดินของตนเอง ขายได้
และแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ แต่หากเป็นชาวนาที่ไม่ได้ทำกินบนที่ดินของตนเอง (เช่น
เช่านา) จะไม่ได้รับการยกเว้น แต่การให้ข่าวของหน่วยราชการบอกว่า
“ชาวนาทั่วไปทำได้ไม่ผิด”
ตีความได้ว่า
ร่างกฎหมายยกเว้นให้เฉพาะผู้ที่นำเมล็ดพันธุ์จากที่นาของตนเองไปขายหรือแลกเปลี่ยนเท่านั้น
ถ้าเรานำข้าวที่ไม่ได้ปลูกในที่นาของตนเอง (เช่น แลกมาจากเพื่อน หรือเพื่อนให้มา
หรือปลูกในนาเช่า) ไปขายหรือไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นอีกทอดหนึ่ง เราจะผิดทันทีครับ
(ถ้าเอามาปลูกไม่ผิดนะครับ)”
อจ.เดชรัตน์อธิบายเพิ่มเติมในโพสต์ของเขาภายหลัง (๑๙ ก.พ.)
ว่าข้อเสียของ พรบ.ข้าวฉบับนี้อยู่ที่ทางการพยายามแก้ปัญหาจากมุมมองของข้าราชการ
ที่ต้องการเข้าไปกำกับควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จึงได้มีบทลงโทษปรากฏอยู่
“แต่บทบาทของเครือข่ายชาวนาในการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าว
กลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายจากผู้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้” และจากการพูดคุยกับชาวนาและค้นคว้าวิจัยพบว่า
มี ‘หนามตำใจ’ พี่น้องชาวนากลุ่มนี้อยู่มากปัญหา
นับแก่การที่เจ้าของที่นาไม่เกื้อหนุนจุนเจือผู้เช่าที่ทำนาตามกฎหมาย
การที่รัฐบาล คสช. ยกเว้นข้อบังคับผังเมืองเอื้อเจ้าสัวนายทุนเข้าไปตั้งโรงงานในพื้นที่ศักยภาพการผลิตข้าวชั้นดี
มาตรการชดเชยต่อความเสี่ยงเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมอ่อนมาก
บวกกับความล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
และความล้าหลังในการสนับสนุนระบบโลจิสติคส์กระจายสินค้า เหล่านั้นทำให้ชาวนากลายเป็นเบี้ยรองบ่อนของนายทุนใหญ่ๆ
มาตลอด
ซ้ำร้ายในยุค คสช.ตลอดจะ ๕ ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวรายใหญ่ๆ ไม่เพียงได้เป็นหุ้นส่วนประชารัฐของคณะรัฐประหารอย่างแนบแน่น
ไม่ว่าเจ้าสัวเหล่านั้นจะเคยเป็นผู้ค้าอาหารสัตว์ โรงต้มเหล้า หรือค้าปลีกมาก่อน
เดี๋ยวนี้ทุกรายไม่เพียงมีเอี่ยวในโครงการเมกกะโปรเจ็คยักษ์ๆ
ของ คสช. ไม่ว่าโทรคมนาคม ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมไอที ฯลฯ เท่านั้น ต่างคนต่างยื่นมือควานลงไปในอ่างอุตสาหกรรมการเกษตรกันถ้วนหน้าด้วย
เจ้าสัวเหล่านี้มีนายทหารของ คสช.เข้าไปเป็นที่ปรึกษา
กรรมการ ประดับบารมีกันสลอน จนทำให้นายทหารใหญ่บางคนบางรายเหลิงระเริงมากล้น เที่ยวชี้หน้าคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า
‘อย่าล้ำเส้น’ บ้าง ‘หนักแผ่นดิน’ บ้าง