เหตุการณ์ที่ ‘วัดสิงห์’ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยยุคนี้
เราได้เห็นกันมาแล้วบ่อยๆ กับการถืออำนาจบาตรใหญ่ พฤติกรรมนักเลง
ในช่วงที่คณะรัฐประหารครองเมืองนี่แหละ
ครั้งนี้น่าจะเบากว่าด้วยซ้ำที่ไม่มีการคอขาดบาดตายเกิดขึ้น
จึงเป็นการยืนยันได้ว่าที่ฝ่ายสนับสนุน คสช.บอก กวักมือเรียกทหารมาแล้วทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
นั้นไม่จริง สงบก็แต่ที่ไม่มีการชุมนุมต่อต้านคณะทหารผู้ปกครองเท่านั้น
เสียงก่นด่ากันยังคงมีอยู่ทั้งต่อ คสช. และ/หรือต่อ ‘ระบอบทักษิณ’
หากแต่ว่ากับฝ่ายหลังนี่จำกัดอยู่ในแวดวงที่แคบลงไปกว่าเมื่อก่อนรัฐประหาร
เพิ่งมาฮือฮากันอีกก็ต่อเมื่อมีทางสายที่สามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทำท่าจะขึ้นมาแทนที่
ในฐานะที่ไม่เอาแนวทาง คสช. อย่างแข็งขันยิ่งกว่า และดูน่าจะไปกันได้กับระบอบก่อนรัฐประหาร
ด้วยการมีศรัทธาในแฮ้สแท็ก #ประชาธิปไตย เหมือนกัน
ใครที่ถามย้อนว่าในเมื่อเป็นยุคของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้วไฉนยังมีนักเลงหัวไม้ออกฤทธิ์กันบ่อยๆ
ถ้าเป็นสมัยก่อนคงตอบได้ว่าก็เพราะนักเลงเหล่านั้นทหารเลี้ยง ตำรวจขุน แต่ในยุค
คสช.นี่ พวกหัวไม้ที่ทหาร-ตำรวจคุม ค่อนข้างจะอยู่ในแถว
พวกที่แตกแถวอย่าง #แก๊งบางบอน
ซึ่งก่อเหตุชั่วช้าไล่ทำร้ายต่อยตีครู นักเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสิงห์ เขตบางขุนเทียน
เพียงเพราะถูกเตือนให้เบาเสียงอึกทึกแห่แหนในงานบวชของพวกตน ขณะนักเรียนกำลังสอบ ‘จีเอที/พีเอที’ กันอยู่
กลุ่มนักเลง ขาโจ๋ เหล่านั้น (ราว ๒๐ คน) ถูกก่นด่าสาปแช่งในสังคมอย่างหนักในขณะนี้
ไม่เพียงเพราะพวกเขามี ‘สันดาน’ อันกักขฬะต่ำช้า
ปราศจากความละอายอย่างสิ้นเชิงต่อการกระทำที่สังคมประณาม เห็นได้จากการแสดงอาการ ‘ยิ่งกร่าง’ (ผ่านทางโซเชียลมีเดีย) หลังจากเกิดเหตุ
จากภาพที่พวกเขาบางคนโพสต์บนเฟชบุ๊คชูนิ้วกลาง
พร้อมข้อความกำกับ “ก็มาดิคับ งานบวชพี่ชาย” หรืออีกข้อความโต้แย้งหลังจากที่มีการตำหนิการกระทำที่วัดสิงห์
อ้างว่าพวกตนทำตามประเพณี “อ.เสือกปากหมา มึงจะต้องใช้สมาธิขนาดนั้นเลยเหรอ”
มิใยตำรวจซึ่งไปตรวจที่เกิดเหตุเบื้องต้นได้ปล่อยตัวคนร้าย
ไล่กลับบ้าน อ้างว่า “เพราะไม่ใช่เหตุซึ่งหน้า” ทั้งที่สภาพห้องเรียนเห็นได้ชัดว่าถูกบุกรุก
ทีวีหล่นลงพื้น ชุดน้ำตกจำลองพัง โต๊ะเก้าอี้ล้มระเนระนาด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ
๑๕ ราย เป็นชาย ๑๓ หญิง ๒
ผู้บาดเจ็บมีผู้อำนวยการ ครูพละ ยาม และนักเรียน เหตุที่เกิดชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการ
“บุกรุกสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย” ตามข้อหา จะปฏิเสธอย่างไรไม่พ้นได้ง่ายในเมื่อพยานหลักฐานมากมาย
ดังคำให้การของนักเรียนหญิงที่อยู่ในเหตุการณ์สองคน
คนหนึ่งเล่าว่า เพื่อนนักเรียนชายถูกทำร้ายต่อหน้านอนกองอยู่กับพื้น
เธอพยายามจะเข้าไปช่วยก็ถูกคนร้ายที่ห้อมล้อมอยู่หนึ่งในสี่ห้าคนผลักไปติดข้างฝาแล้ว
“หอมแก้ม” และ “จับมือ” แถม “เค้าก็บอกหนูว่าไปเป็นเมียเขาไหม
นี่เดี๋ยวเรื่องจบเลย...ไปถามคนแถวบางบอนได้เลยว่ารู้จักเขาไหม”
ครั้นเมื่อคนเหล่านั้นไปรายงานตัวต่อตำรวจตอนบ่ายวันที่ ๒๔
ก.พ. รายงานข่าวแจ้งว่า “แก๊งงานบวชยังระรื่น ให้การตำรวจไม่สลด
ยืนยันไม่ได้ทำร้ายใคร ลั่นครูล้มเจ็บเอง” บ้างอ้างว่า “เมียผมเลี้ยงลูกคนเดียว
ถ้าติดคุกใครจะดูลูกผม” อีกคนขอนักข่าว “อย่าถ่ายหน้าผมได้มั้ย
พรุ่งนี้ผมต้องไปทำงาน”
สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มนักเลงเพื่อนนาคอาละวาดขนาดนั้น
ไม่ใช่เพราะ “สับสนว่าทำไมวันอาทิตย์โรงเรียนยังมีการสอบเพราะน่าจะเป็นวันหยุด
พร้อมถามสอบ GAT/PAT คืออะไร” ดังอ้างแน่ๆ ในเมื่อมีทั้งคลิปและคำบอกเล่าผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า
ตัวหัวโจกพูดว่า “ถ้าเพื่อนกูไม่ได้บวชพวกมึงก็ไม่ต้องสอบ”
หรือตามรายงานของ ไทยรัฐ ชี้ “เกิดจากกลุ่มเพื่อนของนาคไม่พอใจ เนื่องจากจ้างวงดนตรีมาแพง
(สองหมื่นบาท) ประกอบกับอยู่ในอาการมึนเมา”
(http://www.thairath.co.th/content/1503945, https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2245544, https://www.springnews.co.th/news/449622
และ https://twitter.com/MyMinyoongiSuga/status/1099680161962778624)
เหตุที่พฤติกรรมเลวร้ายในสังคมไทยผุดขึ้นมาบ่อยๆ ในยุค คสช.
จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากกฏบัตรกฎหมายเสื่อมคุณค่า การที่ คสช. และตุลาการ
(ที่ดูเหมือนส่วนใหญ่จะเป็นพวกเกลียดระบอบทักษิณ)
บังคับใช้กฎหมายอย่างลำเอียงมาตลอดเวลาเกือบจะ ๕ ปี
คดีเสือดำ นาฬิกาหรู หมู่บ้านป่าแหว่ง พนักงาน คตส. ฯลฯ
ที่ประชาชนทั่วไปไม่จำกัดเหลืองหรือแดง ได้เห็นการตัดสินคดีความอย่างลำเอียง
หรือเลี่ยงบาลีหลักนิติธรรม ทำให้พวกนักเลงหัวไม้ได้ใจ โดยเฉพาะพวกที่มีปลอกคอ
จะแสดงกิริยาไม่ยี่หระ หัวร่อรื่นเริงในการไปฟังข้อกล่าวหา
มันสะท้อนไปถึงระดับมหภาค ที่มีการอ้างกฎหมายฉบับเดียวกันบังคับต่อผู้ต้องหาไม่เหมือนกัน
ดังคำอธิบายปรากฏการณ์ของ ‘ระบอบแห่งการรัฐประหาร’ โดยอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในการเสวนา ‘๔๐
ปีนิติปรัชญา เหลียวหลังแลหน้านิติศาสตร์ไทย’ เมื่อ ๒๔ ก.พ. ถึงสภาพการณ์อันมีบางสิ่งบางอย่างอยู่เหนือระบอบดังกล่าว
“ตอนนี้โดยระบบของเรา
มันกำลังมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่มีผลเสมือนเป็นกฎหมาย
หรือยิ่งกว่ากฎหมาย ที่เกิดขึ้นมาคู่ขนานกันในแง่การใช้กฎหมายในทางเป็นจริง”
ทั้งนี้เนื่องมาจาก “การตีความเรื่องประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้ใช้จากเกณฑ์ในแง่ความเป็นกฎหมาย”
ปัญหาอยู่ที่การนำเอาประเพณี ขนบธรรมเนียม
และวัฒนธรรมของชาติมาใช้ตีความกฎหมาย โดยไม่ได้ปรับให้เป็นตัวบทกฎหมายโดยกรรมวิธีทางนิติรัฐและนิติธรรมเสียก่อน
แต่ยอมรับและบังคับใช้เยี่ยงกฎหมาย
เช่นนี้นี่เองที่มีการวินิจฉัยและบังคับใช้กฎหมายกรณีแบบเดียวกันเป็นคุณหรือโทษต่างกัน
ขึ้นอยู่กับผู้ต้องหา