รายงานความมั่งคั่งทั่วโลกประจำปี ๒๕๖๑ ที่คุณบรรยง พงษ์พานิช
นำมาเขียนถึงไว้เมื่อ ๕ ธันวาคม และตีพิมพ์เต็มบนเว็บ ‘ไทยพับลิก้า’ แม้จะเป็นประเด็นไม่ใหญ่มากก็ควรแก่การใส่ใจ ในเมื่อเกิดเสียงกล่าวหา
ว่า “มันกลายเป็นการสร้างความสับสนและให้ข้อมูลผิดๆ แก่สังคม
โดยใช้เครดิตความเป็นนักวิชาการที่สังคมเชื่อถือมาพูด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักวิชาการ
สร้างกระแสข่าวโดยใช้ข้อมูลเก่ามาทำให้มันดูใหม่”
รายงานของ Credit Suisse ดังกล่าวได้รับการอ้างถึงในวงไซเบอร์ไทยหลายแหล่ง
รวมทั้งบัญชีทวิตเตอร์ของ ‘prajak kong @bkksnow’ นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายการ ‘ข่าวใหญ่ไทยแลนด์ GMM25 (FC)’ หนังสือพิมพ์ข่าวสด
และแม้แต่เว็บข่าวหวือหวาอย่าง ‘อีจัน’
ส่วนหน้าเฟชบุ๊คที่แสดงอาการคัดง้างด้วยถ้อยวิพากษ์หนักหน่วงว่า
“อาจคิดว่านักวิชาการไทย (บางส่วน)
ยังมีคุณภาพต่ำได้นะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกทีด้วย
ว่านักวิชาการบางประเภท มีไว้ทำไม แค่ Data references ยังไม่ตรวจสอบ”
เป็นเพจที่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาหรือภูมิหลังองค์กรเอาไว้
หากตั้งชื่อว่า ‘Thailand Development Report’ ชวนให้นึกว่าเป็นส่วนวิชาการหรือสำนักวิจัยอะไรสักอย่าง
โดยนำเสนอเรื่องราวและข่าวคราวธุรกิจ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ‘พลัง’ ของโครงการประชารัฐและเจ้าสัวอยู่บ่อย
ข้อโต้แย้งของเพจ ‘TDR’ (ขออนุญาตใช้ชื่อย่อที่ถือวิสาสะจัดให้เองเพื่อสะดวกในการเขียน)
บอกว่าข้อมูลที่รายงานเอามาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ หรือ พ.ศ.๒๕๔๙
(หมายถึงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)
อีกข้อกล่าวหาอ้างว่า “ข้อมูลไม่ถูกต้อง” เนื่องจาก “ในรายงานฉบับนี้ เค้าก็ออกมายอมรับโดยเขียนอยู่โต้งๆตรงๆ นั้นว่า ข้อมูลของประเทศไทยมันไม่สมบูรณ์
เพราะนำฐานข้อมูลปี ๒๐๐๖ มาเชื่อมโยงกับปี ๒๐๑๘บางส่วน”
น้ำเสียงชัดว่าเป็นการพยายาม discredit
นักวิชาการและสื่อไทยที่นำรายงานนั้นมาเสนอซ้ำ ว่า “ผลที่ออกมาก็คลาดเคลื่อนหมดสิ” ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด ถ้ามีการคลาดเคลื่อนละก็นี่ผ่านมาเดือนกว่า
ทาง ‘เครดิตซูอีสส์’ คงต้องปรับแก้หรือถอนรายงานออกไปแล้ว
ก็เลยทำให้รายงานฉบับนี้เป็นที่สนใจหนักเข้าไปอีก
ต้องลงรายละเอียดหาคำตอบต่อคำถามที่โฆษกรายการ ‘จีเอ็มเอ็ม
๒๕’ ทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุดอันดับ
๑ ของโลก
รัฐบาลทำนโยบายช่วยคนจนเป็นหมื่นล้าน
แต่ทำไมยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่” จึงต้องไปดูว่ารายงานเขาว่าอย่างไรบ้าง
เอาที่อ่านง่าย อจ.ประจักษ์ มธ. เขียนสรุป ๑๔๐ อักษรบนทวิตเตอร์ ๓ ตอนก่อนว่า
“ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก...แซงรัสเซีย
อินเดีย เมื่อสองปีก่อนเรายังติดอันดับ ๓ โดยคนไทยร่ำรวยสุด ๑% แรก (๖ แสนคน)
มีทรัพย์สินรวมเพิ่มเป็น ๖๖.๙% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ (จากเดิม ๕๘.๐% ปี ๒๕๕๙)
นอกจากไทย รัสเซีย อินเดีย และตุรกีแล้ว
ไม่มีประเทศใดในโลกที่คนร่ำรวยสุด ๑% มีทรัพยสินเกินครึ่งของประเทศ
โดยประเทศพัฒนาแล้วที่มีการเฉลี่ยความมั่งคั่งได้ดี คนรวย ๑%
ครองทรัพย์สินเฉลี่ยเพียง ๒๐-๒๕%”
ข้อมูลอย่างนี้สะท้อนสะเทือนถึงการเอาเปรียบของ ‘เจ้าสัว’ หนักยิ่งกว่าความไร้น้ำยาในการบริหารเศรษฐกิจของ คสช. เสียอีก อจ.
ประจักษ์ยังต่อด้วยว่า สถิติที่น่าตกใจกว่านั้นคือ คนไทยที่ยากจนที่สุด ๑๐%
(ฐานล่างสุดของปิรามิด) มีทรัพย์สินเป็นศูนย์
และแม้แต่จำนวน ๕๐% ของคนในประเทศครองทรัพย์สินแค่ ๑.๗% ถ้าขยับไปที่เกณฑ์จำนวนคน
“๗๐% (ล่างและกลางของปิรามิด) ก็พบว่าครองทรัพย์สินเพียง ๕% ของทั้งประเทศ =
สะท้อนภาวะการกระจุกตัวของ ค.มั่งคั่งที่เลวร้ายที่สุดในโลก”
ดังเช่นนี้ข้อโต้แย้งที่ปรากฏบนเว็บ ‘พันทิป’
ว่า “ตารางที่ สนข.และคุณบรรยง
นำมาอ้างอิงไม่ใช่ทั้งโลกเป็นเพียงกลุ่มประเทศ ๔๐ ประเทศ”
ซึ่งข้อเขียนของบรรยงเอ่ยถึงไว้แล้ว “หลายคนคงจะยังสงสัย ว่าวิธีการเก็บข้อมูล
วิธีการสำรวจ วิธีการประเมินของ Credit Suisse น่าเชื่อถือและถูกต้องแค่ไหน...
นี่มันวัดละเอียดกันแค่ ๔๐ ประเทศ ประเทศจนๆ ในซับซาฮารา
หรือพวกประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชโดยเฉพาะที่พวกชีคเป็นเจ้าของทุกอย่าง
น่าจะแย่กว่าเรานะ อย่างรายงานบอกว่าความมั่งคั่งรวมของคนไทยมีแค่ ๕๐๕
พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ๑๖.๕ ล้านล้านบาท
ผมก็คิดว่ายังตกหล่นไปเยอะ
เพราะเฉพาะทรัพย์สินทางการเงินรวมในตลาดก็มีขนาด ๔๐ ล้านล้านบาทแล้ว ไม่รวมอสังหาฯ
และทรัพย์สินอื่นๆ ก็หวังว่าที่ตกหล่นน่ะส่วนใหญ่เป็นของคนจนนะครับ
(กลัวจะตรงกันข้ามซะละมากกว่า)”
ยิ่งถ้าไปดูตัวเลขค่า GINI ซึ่งเพจ ‘TDR’ เอามาอ้างจากตารางของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ที่ อจ.บรรยงเรียกว่า ‘ค่าสัมประสิทธิ์’ ด้านความมั่งคั่ง
อันเป็นมาตรวัดการกระจาย โดยค่าสูงสุดที่ ๑๐๐ หมายถึงคนเดียวเอาไปหมด
และถ้าอยู่ที่ ๐ แปลว่าทุกคนเท่ากันหมด นั้น
“ตามตาราง ๖.๖ ก็ยืนยันว่าประเทศไทยนั้นเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
เพราะ GINI เราสูงถึง ๙๐.๒ ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นสถิติโลกที่คงหาคนทำลายได้ยาก”