วันอังคาร, ธันวาคม 11, 2561

ธีรยุทธ์มาช้า แต่ว่า 'ไม่สาย' บอกการเมืองไทยปกติแล้ว ไม่ต้องเรียกร้อง 'ปรองดอง'


ธีรยุทธ์ บุญมี เป็นอีกคนในฝ่าย เกลียดทักษิณที่ชักจะกล้าๆ ออกมาวิพากษ์รัฐบาล คสช. เหมือนกับ อาทิตย์ อุไรรัตน์ สมชัย ศรีสุทธิยากร หรือหงา คาราวาน เป็นอาทิ คนเหล่านี้เริ่มรู้สึกตัวว่าถูกทหารหลอก หรือมิฉะนั้นก็เพราะความผิดพลาดของตนเอง

เมื่อก่อนนั้นโมหะบังหน้าทำให้พากันกวักมือเรียกทหารเข้ามายึดอำนาจ โดยวาดหวังว่าจะทำให้คนที่ตนเกลียดมลายหายไป แต่ทหารที่ยึดอำนาจกลุ่มนี้มิได้เป็น ชายชาติ เหมือนฝัน ซ้ำยังปลิ้นปล้อนเต็มไปด้วยเหลี่ยมกลให้ตนเองลอยตัว แล้วคืบคลานเข้าไปกุมวัฏจักรทางปกครอง พร้อมกับผูกมัดกลุ่มทุนใหญ่ที่กำอำนาจทางเศรษฐกิจไว้

ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไปจะ ๕ ปี คนเหล่านี้รู้ตัวว่าเกือบจะสายเสียแล้ว เมื่อแน่นอนว่าทหารได้วางหมากและกับดักทุกอย่างให้พวกตนได้ครองอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ๒๐ ปีนั่นแหละ บางคนจึงเริ่มขยับ ดังบทบาทในระยะหลังๆ ของสมชัย (อย่าไขว้เขวกับคนที่นามสกุล กตัญญุตานนท์ เข้าล่ะ ขานี้ยี่ห้อ ชัย ราชวัตร กปปส. ตัวพี่ ยากที่จะมองเห็นสัจจธรรมเหมือนคนอื่นๆ)
 
อดีต กกต. ผู้นี้พอเผยตนเป็น ปชป. เต็มเปี่ยมแล้ว ก็พยายามต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบในการเลือกตั้งของพลพรรค คสช. โดยเฉพาะในกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนเอิกเกริก โต๊ะละ ๓ ล้าน ๒๐๐ โต๊ะ ย่านเมืองทองธานี ในพื้นที่ จ.นนทบุรี


สำหรับธีรยุทธ์ถึงแม้จะมาช้า ก็ยังไม่ถึงขั้นถูกตราหน้าว่า มาสาย เกินไป หลังจากที่เขา เฉย ไปพักใหญ่ อาจจะเพราะวาทกรรมเป็นประจำของเขาชักเฝือและถูกปฏิเสธจากฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเกลียดทักษิณอย่างแทบจะสิ้นเชิง

มาคราวนี้ดูเหมือนเขาจะเตรียมตัวมาดีพอควรเพื่อการ ไม่เอียงครั้นเมื่อแตะถึง การปรองดองว่าเป็นวาทกรรมที่ใช้เฉพาะภาวะบ้านเมืองร้อนเร่าเกิดปัญหา ถ้าใช้มากไปจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้กุมอำนาจ (ตรงนี้ไม่รู้หมายถึงใคร ในเมื่อ คสช. ก็ไม่เห็นเรียกร้องปรองดอง แถมชอบยกตนข่มท่าน)

แต่ตอนนี้ “การเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization)” ธีรยุทธ์ว่า “ความขัดแย้งเหลือง-แดง กปปส. ในปัจจุบันถือเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์...กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่จะช่วยสร้างภาวะความแตกต่างอย่างปกตินี้

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะไม่มีใครใช้วาทกรรมหรือนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง (ถ้าทำเช่นนั้นพรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายโกยคะแนนเสียง) ต้องหาแง่มุมในการวิจารณ์ผลงานของพลเอกประยุทธ์หรือ คสช. และสิ่งใหม่ที่จะให้กับสังคมและประชาชน

จะเห็นว่าสำนวนอักขระภิวัฒน์ของเขายังคงอยู่ การวางน้ำหนักของเนื้อหาจัดว่า ‘well balanced’ สมดุลพอประมาณ เว้นแต่หลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง หันไปเน้นที่ กลไกเศรษฐกิจ สังคมว่าเป็นปัญหามหึมา “ใหญ่กว่าวิกฤติทางการเมือง

เขาว่าถึงการผูกขาดทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่ “คล้ายมีสถานะเกินรัฐบาลและกฎหมาย” ขยายตัวโดยไม่มีใครทักท้วง ชนิด “ชีวิตประจำวันของผู้คนก็ถูกควบคุมมากขึ้น ตื่นเช้า กลางวัน เย็น รับประทานอาหารจากร้านสะดวกซื้อ เพราะร้านแผงลอยเริ่มหายไป เรียกว่า คนไทยซีพี

เขาวิจารณ์โครงการประเทศไทย ๔.๐ ของ คสช. สำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรม อย่างดีได้แค่ ๒.๐ เพราะ “ทักษะของคนไทยเองยังไม่พร้อม” แม้แต่โครงการ อีอีซีที่ดูใหญ่โต แท้จริง “กำลังทำนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขายต่างชาติ

ธีรยุทธ์ยอมรับในสัจจธรรมประเทศไทยว่ามี คนรวยล้นฟ้า ๑ เปอร์เซ็นต์ ที่ครองทรัพย์สิน ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศจริง ซึ่ง “ทุนอิทธิพลเหล่านี้ ทำให้ไม่เกิดกฎหมายเข้าไปคุม จนเกิดเสรีนิยมแบบสุดขั้ว” ชนิดที่นักวิชาการชี้ว่ามันคือ Neoliberalism

และคราวนี้เขาปล่อยทีเด็ดทาง vocabulary ศัพท์แสงใหม่ออกมา ว่าไม่พียง รวยกระจุก จนกระจาย เท่านั้น ไตแลนเดียมี “กลางกระจ้อน” ด้วย เขาอ้างว่าเกิดโรคระบาดทางคุณธรรม ชนชั้นกลางพยายามปกป้องตนเอง

ในขณะที่ชนชั้นล่าง “ติดประชานิยม...เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ นำสู่การคอร์รัปชั่นแบบคอนเนคชั่น” ที่อาจจะเป็นปัญหาการเมืองใหญ่สุดของประเทศ เนื่องจาก “คนจนไทยจนอัตลักษณ์...

จนทั้งด้านความหวัง สังคม พื้นที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม” แล้วอย่างนี้จะให้พวกเขารักประเทศไทยได้อย่างไร ธีรยุทธ์ แนะว่า “รัฐบาลประยุทธ์หรือรัฐบาลหน้า ต้องปฎิรูปแบกะดิบ้าง และทำให้ครบทุกภาค

ถึงอย่างนั้นเขายอมรับว่า “คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว และพลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะระบบถูกออกแบบมาแบบนี้” แต่ว่า “ถ้าชนะการเลือกตั้งจะเจอปัญหารุมเร้า ความชอบธรรมจะต่ำ


ข้อควรสังเกตุ ธีรยุทธ์ไม่ได้พูดถึงการเอาเปรียบโดย ทุนใหญ่ มากนัก แต่ก็ใช้ อัตลักษณ์ มาอธิบายอย่างเนียนๆ ว่าคนจนเอาแต่แบมือขอ ถึงต้องให้ประยุทธ์ปฏิรูป แบกะดินส่วนเรื่องชนชั้นกลางเห็นแก่ตัวนั้นก็เป็นทฤษฎีเดิมที่ Frederico Ferrara เขียนไว้นานแล้ว