วันศุกร์, ตุลาคม 05, 2561

ประสบการณ์จากอังกฤษในการรับมือกับเสียงระฆังจากศาสนสถาน ท่ามกลางชุมชนสมัยใหม่





อังกฤษป้องโบสถ์ลั่นระฆังไม่ผิด


โดย กองบรรณาธิการ M2F
04 ตุลาคม 2561


ประสบการณ์จากอังกฤษในการรับมือกับเสียงระฆังจากศาสนสถาน ท่ามกลางชุมชนสมัยใหม่

จากกรณีผู้อยู่อาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งร้องเรียนกับสำนักงานเขตว่า เสียงระฆังจากวัดใกล้เคียงรบกวนการนอน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่คนที่มาทีหลังกลับไปสั่งให้วัดลดเสียงตีระฆังที่ปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว กรณีความขัดแย้งกันระหว่างวัดกับชุมชนรอบวัดไม่ได้มีเฉพาะบ้านเราเท่านั้น โบสถ์หลายแห่งในอังกฤษก็เจอปัญหานี้เช่นกัน

เมื่อปลายปีที่แล้ว โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในเมืองแซนด์วิช มณฑลเคนท์ของอังกฤษ ที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ถูกชาวบ้านใกล้เคียงรายหนึ่งร้องเรียนกับทางการว่า เสียงระฆังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะตอนกลางคืน จนนำมาสู่การออกคำสั่งให้โบสถ์แห่งนี้หยุดตีระฆังตั้งแต่เวลา 23.00-07.00 น.ของทุกวัน จากปกติจะตีทุกๆ 15 นาที และยึดถือปฏิบัติมา 239 ปีแล้ว

คำสั่งดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่ที่เห็นว่าเสียงระฆังจากโบสถ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไร จนมีการลงชื่อคัดค้านคำสั่งกว่า 4,000 ชื่อ นอกจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นคนในชุมชนใกล้โบสถ์จากสมาคมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองแซนด์วิช ยังพบว่าคนในชุมชน 85% อยากให้ทางโบสถ์ตีระฆังตามเดิม ส่วนอีก 15% ต้องการให้หยุดตีช่วงกลางคืน

หรือในกรณีของโบสถ์เซนต์แมรี่ลีห์ในมณฑลเกรเทอร์แมนเชสเตอร์ ที่นอกจากจะได้รับคำสั่งจากทางการให้ลดการลั่นระฆังเหลือเพียงสัปดาห์ละ 1 ชม.แล้ว ยังต้องสร้างหอระฆังเก็บเสียงด้วย เพื่อไม่ให้เสียงเล็ดลอดออกไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้อพาร์ทเม้นท์ใกล้เคียงที่ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังทางการ ชาวบ้านรายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งถึงกับเอ่ยว่า ตอนที่ย้ายมาอยู่ใกล้โบสถ์คุณคิดว่าจะได้ยินเสียงอะไรเหรอ?





ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่การออกกฎหมายปกป้องการลั่นระฆังของโบสถ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซายิด จาวิด เลขาธิการรัฐบาลท้องถิ่น เผยว่า ทางการมีแผนออกกฎใหม่เพื่อให้โบสถ์ทั่วเมืองปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาตามปกติ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านหรือเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ที่มาทีหลังจำกัดสิทธิ์ของโบสถ์โดยไม่มีเหตุผล

นอกจากนี้ ทางการยังจะปรับปรุงการวางผังเมืองในอนาคต โดยก่อนจะสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ต้องพิจารณาด้วยว่าบริเวณนั้นๆ มีอะไรตั้งอยู่ก่อนแล้วบ้าง เช่น โบสถ์ โรงแรม ผับ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสถานที่ที่ก่อตั้งมาก่อน และกำหนดให้เจ้าของโครงการก่อสร้างต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเสียงรบกวนเอง

ภาพ St Peter's Church, Sandwich โดย China Crisis

...


ปัญหาเสียงระฆังกับสิทธิเสรีภาพ

1.เสียงตีระฆังมีค่ามากกว่าการบอกเวลา แต่มันคือสื่อของสังคม เพราะมันไม่ใช่ดังแค่ในวัด แต่มันดังไปทั่วชุมชน ที่ใครๆเสนอให้ใช้นาฬิกาแทนนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดฝาผิดตัว แค่เรื่องเวลาสมัยพุทธกาลใช้ดูเดือนตะวันก็พอ เสียงระฆังจึงไม่ใช่แค่เรื่องบอกเวลาเท่านั้น 

2.การตีระฆังเป็นวัฒนธรรม และวัฒนธรรมต้องปรับตัวถึงจะอยู่รอด แต่การปรับตัวนั้นต้องไม่ทิ้งหลักการ หลายคนเสนอให้วัดเคารพสิทธิเสรีภาพของคนที่หนวกหู แต่กรณีนี้หากมองกลับกัน แล้วสิทธิเสรีภาพของชุมชนหรือของวัดล่ะ? และถ้าชาวบ้านบอกว่าเสียงระฆังคือส่วนหนึ่งของความเชื่อหรือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาที่เขานับถือ การเลิกตีระฆังไม่หมายถึงการละเมิดสิทธิของวัดหรือชาวบ้านหรือ? การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่ให้วัดหยุดตีระฆังแค่นั้น ทางออกคือการปรับตัวทั้ง 2 ฝ่ายต่างหาก ผมยังสนับสนุนการตีระฆัง แต่ตีอย่างไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง การอ้างสิทธิเสรีภาพของคนที่หนวกหูแต่ฝ่ายเดียวจึงรับไม่ได้ 

3. เรื่องนี้สะท้อนอะไร? ปัญหาผังเมือง? วัดกับบ้านแยกกัน? จะเห็นว่าไม่มีชาวบ้านออกมาสนับสนุนวัดเลย หรือ? ? ควรนำเรื่องนี้พูดคุยกันในวงกว้างเพื่อหาทางป้องกันหรือแก้ไขที่เหมาะสม 

4. เสียงที่หนวกหูในวัดคือเสียงโฆษกที่ประกาศชวนทำบุญ โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ นี่ต่างหากที่รกหู ควรนำออกไปจากวัดโดยเร็ว
ครับ


Somrit Luechai

...