กำลังเป็นที่กล่าวกันมาก ถึงยุทธวิธีแยบยลของการแยกพรรค
‘ตระกูลเพื่อ’ จาก ‘เพื่อไทย’ ไป ‘เพื่อธรรม’
วนๆ จนถึง ‘เพื่อชาติ’ วกอีกนิดเจอ
‘ประชาชาติ’ นัยว่าเพื่อพลิกสมการที่ถูกเอาเปรียบไปเป็น
‘โอกาส’
ในเมื่อรัฐธรรมนูญมีชัยออกแบบมาให้พรรคใหญ่ๆ
เดี้ยง ด้วยการแจกจ่ายจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแก่ปลาซิวปลาสร้อย เพื่อที่ลิ่วล้อ
คสช. จะได้เสนอตัวหัวหน้ากลับมากำกับยุทธศาสตร์ ๒๐
ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
การแตกตัวอย่างอะมีบาของพรรคเพื่อไทยเป็นดั่งภาพเหมือนจริงบนกระจกเงากับพรรคพลังประชารัฐ
ที่สลับทิศทาง ซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย หรือขยายจากปลายหนึ่งไปครอบคลุมอีกปลายหนึ่ง แล้วยังได้ประโยชน์จากมูลค่าเพิ่ม
เป็นพรรคสำรอง หากมีการพยายามยุบพรรคใหญ่เกิดขึ้น พร้อมกันไปด้วย
ความเสี่ยงนั้นมองเห็นได้จากคำของ พล.อ.ประวิตร
วงษ์สุวรรณ ที่ว่า คสช.ไม่มีการตั้งธงที่จะยุบพรรคเพื่อไทย “ทำไมจะต้องกลัว
ถ้าไม่ทำผิด พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เห็นกลัว เพราะเขาไม่ทำผิด” นั่นเป็นเรื่องของ
กกต.ต้องติดตามดำเนินการ
โดยเลขาฯ กกต.
ขานรับว่าได้สั่งการให้สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ผิดไม่ผิดว่าตามกฎหมายพรรคการเมือง
(ที่ คสช.ประดิษฐ์ขึ้นมา) “กำหนดไว้ว่า ไม่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค
ทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระ” หากตรวจพบต้องถูกยุบพรรคทันที
ยุทธวิธีแตกหน่อพรรคตระกูลเพื่อ ตรงกับที่นายจตุพร
พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. แถลงแสดงตัวสนับสนุนพรรคเพื่อชาติเอาไว้ เขาอ้างว่า ตนเองไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้อยู่แล้ว
ในเมื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช
อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเวทีให้บรรดาหมู่มิตรที่ได้ร่วมต่อสู้กันมาเข้าไปทำหน้าที่เป็น
ส.ส. รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ออกแบบให้อีกฝั่งแยกออกเป็น ๕ พรรคได้ ก็เป็นโอกาสของคนที่ไม่มีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทยเดิม
มันสนองซึ่งกันและกันกับการที่นายณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ แกนนำสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่บอกว่า “ตนและแกนนำอีกส่วนหนึ่งที่ได้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว
ตั้งใจว่าจะร่วมงานกับพรรคต่อไป”
ส่วน นปช.นั้นเป็นขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน “ยังไม่มีแนวคิดตั้งพรรคการเมือง”
จึงน่าจะตีความในชั้นนี้ได้ก่อนว่า จตุพรยังอยู่ นปช. พร้อมด้วยธิดา ถาวรเศรษฐ์ กับเหวง
โตจิราการ และอีกหลายคน แต่ณัฐวุฒิกับอีกบางคนไปอยู่เพื่อไทย
ดูแล้วไม่ต่างกับยุทธวิธีของ สุเทพ
เทือกสุบรรณ ที่กำลังโหมหาเสียงให้กับพรรค รปช. จนเลือกตั้งเสร็จแล้วเชื่อว่าจะหันไปดัน
กปปส. เป็นฐานเสียงมวลชนให้กับระบอบ คสช. ต่อไป
แต่ในส่วนของการทำนายสถานการณ์ ว่าจะมีการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนฝ่ายรักประชาธิปไตยกับฝั่งลุ่มหลงเผด็จการหรือไม่
อาจขึ้นอยู่กับว่าจะมีการแตกดอกออกผลของการคุยเล่นกันเรื่องปรองดอง ‘ในสุสานคนเป็น’ ของนายจตุพร กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล
และนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ เพียงใด
และ/หรือ ผลการเลือกตั้งที่ว่าจะมีในวันที่
๒๔ กุมภาพันธ์ออกมารูปใด ซึ่งพอจะมองอย่างคร่าวๆ
จากการวิเคราะห์ของนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่เสนอไว้บนหน้าเฟชบุ๊ค Siripan Nogsuan Sawasdee ว่า
“เพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.
บัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า ๒๐ ที่นั่ง ไม่ใช่ ๐ ที่นั่งอย่างที่บางท่านเสนอไว้
เมื่อรวมกับ ส.ส. เขตแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะได้ ๒๐๐ ที่นั่ง (+- ๑๐)” และ “อีกเหตุผลหนึ่งในการตั้งพรรคแนวร่วม
น่าจะเป็นมาตรการรองรับที่เพื่อไทยมีความเสี่ยงถูกยุบพรรค”
ทางด้านพลังประชารัฐนั้น “ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเลือกตั้งของพลังประชารัฐ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพรรคเอง
แต่อยู่กับว่าจะดึงกลุ่มและตระกูลทางการเมืองที่มีอดีต ส.ส.
เข้าร่วมกับพรรคได้มากแค่ไหน” ซึ่งนั่นก็เป็นยุทธวิธีที่ พปชร.เร่งมือ ‘ดูด’ สั่งสมอยู่
ส่วนพรรคที่ไม่เพียงใหม่เอี่ยมทางการเมืองและการเลือกตั้ง
แต่ใหม่หมดถอดด้ามทางด้านอุดมการณ์สร้างเสริมประชาธิปไตยและลบล้างอำนาจอิทธิพลของระบอบเผด็จการรัฐประหาร
อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ชี้ว่า
“อนาคตใหม่ ไม่น่าจะมีผู้สมัครของพรรคชนะเลือกตั้งในระบบเขต
แต่ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และศักยภาพของพรรคจะเอื้อให้อนาคตใหม่ได้ ส.ส.
บัญชีรายชื่อ เป็นพรรคขนาดกลางได้” ในเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนรุ่นใหม่อายุ
๑๘-๒๕ ปี ที่ยังไม่เคยไปออกเสียงเลือกตั้งมาก่อนราวเกือบ ๗ ล้าน ๕ แสนคน
“หากออกมาเลือกตั้ง ๖๐%
จะเท่ากับ ส.ส. ประมาณ ๖๔ คน” ซึ่งก็ยังต้องรอการพิสูจน์ผลหลังจากมีเลือกตั้งแล้ว
เช่นเดียวกับที่คาดหมายว่า ส.ส.เก่าที่พรรคพลังประชารัฐดูดมาได้ “จะยังเป็นที่นิยมของประชาชนในพื้นที่หรือไม่
ภายใต้ ‘แบรนด์’ ใหม่ ที่ชูธงคงอำนาจของ
คสช.”